กระดานสุขภาพ

กินยาคุม กับ ยา phendiridine, Norfloxacin มีผลกระทบไหมคะ
Flow*****9

11 พฤษภาคม 2559 06:49:38 #1

สอบถามเกี่ยวกับการกินยา

กินยาคุม กับ ยา phendiridine, Norfloxacin ที่รักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ

สามารถทานร่วมกันได้ไหมคะ

แล้วเมื่อคืน มีกิจกรรมกับคุณแฟน ทานยาคุมตามปกติ ห่างกับยารักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ แค่ 20 นาที จะมีผลกระทบอะไรไหมคะ หากเป็นแบบนี้ควรทำอย่างไรดี

อายุ: 26 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 71 กก. ส่วนสูง: 168ซม. ดัชนีมวลกาย : 25.16 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

23 พฤษภาคม 2559 03:12:25 #2

ขออภัยที่ตอบกลับล่าช้านะครับ ก่อนตอบคำถามของคุณ หากมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรโรงพยาบาลหรือร้านยาใกล้บ้านได้ทันที ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจช้าไม่ทันการ อาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ หรือเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ขอตอบคำถามของคุณแยกเป็น 2 ประเด็นนะครับ คือ

1. การรับประทานยาคุมกำเนิดร่วมกับยาอื่น ต้องมีข้อควรคำนึงหลายประการ เช่น

  • ยานั้นมีผลลดการดูดซึมตัวยาคุมกำเนิด เช่น ยาแก้ท้องเสีย Kaopectal ยาเม็ดถ่าน หรือ ยาลดกรดเคลือบกระเพาะ เป็นต้น
  • ยาที่ลดการดูดซึมกลับจากทางเดินอาหาร เช่น ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างฆ่าเชื้อในลำไส้ได้ เช่น เพนิซิลลิน ซัลฟา เตตร้าซัยคลิน เป็นต้น
  • ยาที่เร่งการกำจัดตัวยาออกจากร่างกาย เช่น ยาต้านชัก ฟีโนบาร์บิตัล เฟนิโตอิน หรือยาปฏิชีวนะ ไรแฟมพิซิน เป็นต้น

ดังนั้น จากตัวยาที่คุณได้รับ phendiridine เมื่อผ่านไปถึงทางเดินปัสสาวะ จะเปลี่ยนเป็นยาบรรเทาอากาการปวด จึงไม่ส่งผลต่อยาคุมกำเนิด

ส่วนยา norfloxacin ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะ ที่ช่วยกำจัดเชื้อในลำไส้ได้ด้วย อาจส่งผลลดระดับยาคุมกำเนิดในเลือดได้ ทั้งนี้ขึ้นกับว่า

- คุณรับประทานยาทั้งหมดกี่วัน (5 วัน, 7 วัน) ยิ่งรับประทานยานาน โอกาสในการลดระดับยาคุมกำเนิดในเลือดก็ยิ่งมีผลมาก แต่หากเป็นเม็ดยาคุมกำเนิดเลย 14 วันแรกไปแล้ว โอกาสเสี่ยงในการตั้งครรภ์ก็จะน้อยลง เนื่องจากเลยช่วงเวลาที่มีไข่ตกแล้ว

2. ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหรือระบบสืบพันธุ์ เนื่องจากอาจทำให้มีการติดเชื้อกลับไปมากับแฟนของคุณ
ทำให้โรคติดเชื้อหายขาดได้ยาก หรืออาจยิ่งทำให้มีการอักเสบเพิ่มมากขึ้นต่ออวัยวะเพศ ดังนั้นหากมีความจำเป็นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย เพื่อปัองกันการติดเชื้อกลับไปมา และลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์เนื่องจากยาคุมกำเนิดลดระดับลงจากการรับประทานยาอื่นร่วมด้วย

ข้อแนะนำในช่วงนี้ คือรับประทานยาคุมกำเนิดต่อเนื่องจนหมดแผง และรอจนกว่าประจำเดือนจะมาตามปกติ หากเกินกำหนด 7 วันแล้วประจำเดือนยังไม่มา แนะนำให้ซื้ออุปกรณ์ตรวจการตั้งครรภ์มาเพื่อตรวจเบื้องต้น ก่อนไปปรึกษาแพทย์ต่อไป

"ก่อน" เริ่มต้นการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน "ยาตีกัน" จนเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ หรือยาที่ใช้รักษาอาจไม่ได้ผล หรืออาจเกิดอันตรายรุนแรงจนเสี่ยงต่อการพิการหรือเสียชีวิตได้

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

ฟีนาโซไพริดีน (Phenazopyridine) หรือ ไพริเดียม (Pyridium)
ยานอร์ฟลอกซาซิน (Norfloxacin)
เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร

ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
สูตินรีแพทย์

ยาลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด (Common medications that reduce efficacy of birth control medications)
ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม