กระดานสุขภาพ
ปัญหาเรื่องสิว | |
---|---|
30 ธันวาคม 2560 05:07:28 #1 มีสิวบนใบหน้าค่ะ ตอนแรกมีไม่เยอะพักหลังๆขึ้นเยอะค่ะ บริเวณทีโซน แล้วลามมาที่คอ หลังใบหูค่ะ ไม่ทราบเหมือนกันค่ะว่าแพ้อะไร ใช้สบู่ ใช้โฟมล้างหน้าก็แล้ว ยังไม่หายเลยค่ะ เครียดมาก และเป็นจุดด่างดำเต็มเลยค่ะ ควรแก้ปัญหายังงัยดีค่ะ |
|
อายุ: 21 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 50 กก. ส่วนสูง: 164ซม. ดัชนีมวลกาย : 18.59 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9) | |
นพ.อนุพงศ์ ชิตวรากรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคผิวหนัง |
31 ธันวาคม 2560 14:14:15 #2 สิวเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยชนิดหนึ่งในวัยหนุ่มสาว ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้น สิวจะค่อยๆ ลดน้อยลงเรื่อยๆ จนหายไปในที่สุด แต่ผู้ป่วยบางรายยังคงมีอาการสิวเป็นๆ หายๆ หลังพ้นจากวัยรุ่นไปแล้ว สิวเกิดจากการอักเสบของต่อมไขมัน (sebaceous) จึงพบสิวในบริเวณที่มีต่อมไขมันมากเช่น ใบหน้า หน้าอก หลังส่วนบน คอ ไหล่ หรือต้นแขน โดยจะพบได้หลายระยะทั้งสิวอุดตัน เช่นสิวหัวเปิดสีดำ หรือสิวหัวปิดซึ่งจะเห็นเป็นหัวขาวๆ อยู่ใต้ผิวหนัง ต่อมาอาจจะกลายเป็นสิวอักเสบเห็นเป็นตุ่มแดงได้ ถ้าการอักเสบเป็นมากอาจพบเป็นตุ่มหนอง หรือเป็นสิวอักเสบขนาดใหญ่ที่อยู่ลึกลงไปใต้ผิวหนังที่เรียกว่าสิวหัวช้าง การรักษาสิวคือการป้องกันการเกิดสิวใหม่ และลดการอักเสบของรอยโรคเดิมลง ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษา ปัจจุบันการรักษาสิวมีทั้งยาทาเฉพาะที่และยารับประทาน โดยการเลือกใช้วิธีรักษาแบบใด ขึ้นกับความรุนแรงของสิวในขณะนั้น 1. ยาทาเฉพาะที่ เช่นยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว แต่เนื่องจากถ้าใช้แต่เพียงตัวเดียว อาจทำให้เกิดการดื้อยาได้ จึงควรใช้ร่วมกับยาทาในกลุ่มอื่นๆ เช่นยากลุ่ม benzoyl peroxide โดยทาทิ้งไว้ 5-10 นาที จะช่วยลดสิวอุดตันและลดการอักเสบของสิวได้ และยาในกลุ่มวิตามินเอซึ่งจะช่วยลดการเกิดสิวอุดตันและช่วยทำให้สิวอุดตันที่เกิดขึ้นแล้วหลุดลอกออกไปได้โดยง่าย ยาทาเฉพาะที่ส่วนใหญ่จะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง อาจทำให้เกิดรอยแดง แห้งหรือลอกได้ ดังนั้นจึงควรทาบางๆ และเริ่มใช้ในปริมาณน้อยๆ ก่อน ถ้ามีอาการระคายเคืองให้หยุดยาดังกล่าว แต่ถ้าไม่มีอาการแสบหรือแดงก็สามารถทายาปริมาณมากขึ้น หรือทายาแล้วทิ้งเอาไว้นานขึ้นก่อนจะล้างออกได้ 2. ในกรณีที่สิวอักเสบเป็นรุนแรง การใช้ยาทาแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องใช้ยารับประทานร่วมด้วย ซึ่งมีทั้งยาปฏิชีวนะแบบกิน และยาในกลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ ซึ่งยาในกลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอนี้มักจะได้ผลดีในการรักษาสิวแต่ราคาค่อนข้างสูงและมีผลข้างเคียงที่คือทำให้ริมฝีปากแห้ง ผิวแห้ง ตาแห้ง ซึ่งต้องระมัดระวังในผู้ที่ใส่คอนแทค เลนส์ เพราะอาจทำให้มีการระคายเคือง ผลข้างเคียงอื่นที่พบคืออาจทำให้ระดับไขมันในร่างกายหรือการทำงานของตับผิดปกติ นอกจากนี้ยังห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์เนื่องจากจะทำให้ทารกในครรภ์พิการ จึงควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวังและอยู่ในการดูแลของแพทย์ นอกจากยาข้างต้นแล้ว การใช้ฮอร์โมนในรูปของยาคุมกำเนิดบางชนิด อาจทำให้สิวอักเสบในผู้ป่วยบางรายดีขึ้นได้โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีสิวสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน 3. การรักษาด้วยการกดสิวโดยแพทย์ผู้รักษาเพื่อขจัดสิวอุดตัน แต่ผู้ป่วยไม่ควรบีบหรือแกะสิวเอง เนื่องจากอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำลงไปบริเวณนั้น และทำให้เกิดรอยดำหรือแผลเป็นตามมาได้ 4. ในกรณีที่สิวอักเสบเป็นมาก แพทย์อาจพิจารณาฉีดยากลุ่มคอร์ติโคสตีรอยด์เข้าไปในตำแหน่งที่เกิดสิวอักเสบนั้น ก็จะช่วยให้สิวยุบลงได้ คำแนะนำเบื้อต้น หลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดสิว ไม่ว่าจะเป็นการล้างและถูหน้าแรง ๆ หรือนวดหน้า รวมถึงการบีบและแกะสิว ภาวะความเครียดและการนอนดึก เป็นต้น และสำหรับการรักษา แนะนำหาหมอผิวหนังครัย |
Anonymous