กระดานสุขภาพ

เจาะเลือดก่อนบริจาค บอกได้มั้ยว่าเลือดน้อย
Anonymous

2 สิงหาคม 2560 14:06:10 #1

คือจะไปบริจาคเลือดอะคะ แต่ก่อนหน้านั้นเลือดน้อย แต่กินยาบำรุงมาแล้วนะคะ เลยอยากรู้ว่าที่เจาะเลือดก่อนบริจาคตรวจปริมาณเลือดในร่างกายว่ามีพอบริจาคได้มั้ย ขอบคุณสำหรับคำตอบนะคะ
อายุ: 17 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 52 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.10 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์และโลหิตวิทยา)

4 สิงหาคม 2560 08:57:17 #2


หมอต้องขอขอบคุณหนูที่มีความตั้งใจดีมากในการที่จะบริจาคโลหิตนะคะ การบริจาคโลหิตเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ค่ะ มีผู้ป่วยจำนวนมากต้องการเลือดเพื่อรักษาอาการซีดหรือเลือดออกและหลายกรณีการให้เลือดเป็นการต่ออายุต่อชีวิต

 

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยได้จัดทำคู่มือสำหรับการบริจาคโลหิต เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนปลอดภัย

 

ดังนั้นเลือดที่ได้รับจะปลอดภัยสำหรับผู้รับเลือด ผู้บริจาคและบุคลากรที่เจาะและดำเนินการเก็บรักษาเลือดก็ปลอดภัย

 

คำถามของหนูมีจุดที่หมออยากจะพูดถึง 3 ประเด็นค่ะ

 

ผู้บริจาคเลือดต้องไม่ซีด ธนาคารเลือดจะตรวจวัดความเข้มข้นของเลือด คือวัดระดับฮีโมโกลบิน (หรือเจาะดู complete blood count หรือ CBC )ในผู้หญิงค่าฮีโมโกลบินที่กำหนดของธนาคารเลือด ให้อยู่ในระดับ12.5-16.5 กรัมต่อเดซิลิตร (ค่าฮีมาโดตริต 37-49%) ผู้ชาย13-18 กรัมต่อเดซิลิตร (ค่าฮีมาโดตริต 39-55%) หรือ บางแห่งอาจใช้วิธีการหยดเลือดลงในสารละลาย คอปเปอร์ซัลเฟตและดูค่าความถ่วงจำเพาะซึ่งกำหนดค่าปกติที่ 1.052 และ 1.053 ในผู้หญิง และผู้ชายตามลำดับ ถ้าผู้บริจาคเลือดมีภาวะซีด การให้เลือดอาจเกิดผลเสียต่อผู้บริจาคเลือดเหมือนการเสียเลือด

 

เรื่องความสมบูรณ์แข็งแรงของผู้บริจาค ผู้บริจาคควรปลอดจากโรคที่จะนำผลเสียต่อผู้รับเลือด ได้แก่การติดเชื้อต่างๆซึ่งจะมีแบบสอบถามเพื่อคัดกรองความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเลือดที่จะส่งต่อไปยังผู้รับเลือด ทางธนาคารเลือดจะมีการตรวจเลือดของผู้บริจาค ทั้งหาเชื้อโรคที่ต้องตรวจตามเกณฑ์ เช่นมาลาเรีย ซิฟิลิส เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบีและซี นอกเหนือไปจากการหาหมู่เลือด เพื่อจัดเลือดให้เข้ากับผู้รับได้มากที่สุด ผู้บริจาคเลือดอย่าใช้แนวทางการบริจาคเลือดเป็นการตรวจหาการติดเชื้อ เพราะบางคนมีการติดเชื้อแต่อยู่ในช่วงที่ตรวจไม่พบเชื้อ แม้ว่าธนาคารเลือดได้พัฒนาการตรวจได้ดีกว่าก่อนมากก็ตาม เพราะการพลาดอาจทำให้การบริจาคก่อให้เกิดความทุกข์ต่อผู้รับเลือดไปตลอด

 

อายุผู้บริจาคอายุ 17-70 ปี โดยอายุ มากกว่า 60 ปี ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ แต่หากอายุน้อยกว่า 18 ปีต้องมีหนังสือยินยอมจากบิดามารดา นั่นคือหนูอายุไม่ถึง 18 ปีต้องขอหนังสือยินยอมจากผู้ปกครองก่อนค่ะ

 

ตามที่หนูบอกว่าเคยซีดและรับประทานยาบำรุงเลือดมาระยะหนึ่ง ไม่ทราบว่าหนูได้หาสาเหตุของภาวะซีดหรือไม่ การรับประทานยาบำรุงเลือดไปแล้ว ภาวะซีดดีขึ้นหรือไม่คะ เนื่องจากบ้านเราพาหะธาลัสซีเมียหรือโรคคธาลัสซีเมียมีไม่น้อย ภาวะซีดอาจไม่ตอบสนองต่อยาบำรุงเลือด

 

ขอให้โชคดี มีสุขภาพแข็งแรงค่ะ

ศาสตราจารย์แพทย์หญิงอรุณี เจตศรีสุภาพ

Kamo*****w

4 สิงหาคม 2560 10:41:21 #3

หลังจากกินยาบำรุงเลือดไปก็ดีขึ้นคะ ดูมีเลือดขึ้นมา อยากจะถามอะไรอีกอย่างอะคะ ถ้ากินเฮโมวิตต่อเนื่องจะมีผลเสียอะไรมั้ยคะ
ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ

(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์และโลหิตวิทยา)

10 สิงหาคม 2560 02:09:42 #4

ยาเฮโมวิตมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ ธาตุเหล็ก บี1 บี6 บี12 โดยมีธาตุเหล็กชนิดเฟอรัส ซัลเฟส 135 มก. ต่อเม็ด (ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต)

เนื่องจากยาที่ชื่อเฮโมวิต มีชื่อต่อท้ายอีก 1-2 ชนิด อาจมีส่วนประกอบแตกต่างกันไป

ถามว่าหากกินยานี้ต่อไปนานๆจะมีผลเสียไหม ลองพิจารณาจากข้อมูลต่อไปนี้นะคะ

ธาตุเหล็กเป็นสารสำคัญต่อร่างกายในหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง คือเป็นส่วนประกอบในฮีโมโกลบินหรือสารสีแดงในเม็ดเลือดแดง ซึ่งทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย มีความสำคัญในระบบประสาทและความจำ อีกทั้งมีความสำคัญในการทำงานของเอนไซม์หลายอย่าง

ปกติร่างกายได้รับธาตุเหล็กจากการรับประทานอาหาร ที่มีธาตุเหล็ก ได้แก่ เนื้อสัตว์ ตับ เลือดสัตว์ ผักใบเขียว แล้วธาตุเหล็กในอาหารจะถูกดูดซึมที่ลำไส้ และถูกนำเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะที่ต้องการนำไปใช้ต่อ เช่นไปสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดแดงปกติมีอายุประมาณ 120 วัน เมื่อเม็ดเลือดแดงสิ้นอายุขัย สลายตัวโดยมีม้ามทำหน้าที่สำคัญ ในการนี้ ธาตุเหล็กในเม็ดเลือดแดงที่สลายตัวแล้วจะถูกนำมารีไซเคิล ใช้สร้างฮีโมโกลบินได้ใหม่

ในแต่ละวันร่างกายจะรับธาตุเหล็ก 1-2 มิลลิกรัมจากอาหาร โดยจะต้องรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กประมาณ 10-20 มิลลิกรัม เนื่องจากลำไส้ส่วนต้นจะดูดซึมธาตุเหล็กประมาณ ร้อยละ 10 ในผู้ใหญ่จะมีธาตุเหล็กสะสมทั้งหมดประมาณ 5 กรัม ร่างกาย ไม่มีกระบวนการขับธาตุเหล็กออกเช่นสารอื่นๆ ดังนั้นธาตุเหล็กจะออกจากร่างกายโดยการหลุดลอกของเซลล์ที่ผิวหนังหรือลำไส้ หรือเสียไปกับเลือดประจำเดือน วันละ 1-2 มก.เช่นกัน

ผู้ที่ขาดธาตุเหล็ก ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุทั้งการขาดธาตุเหล็กจากอาหาร การดูดซึมธาตุเหล็กที่ลำไส้เสีย เช่นคนที่มีท้องเสียประจำหรือบางคนเสียเลือดออกจากร่างกายไปทางหนึ่งทางใด

เมื่อขาดธาตุเหล็ก อาการซีดจะเป็นอาการแสดงหลังสุด ธาตุเหล็กที่สะสมอยู่ในอวัยวะต่างๆจะถูกนำออกไปใช้ก่อน
ในช่วงแรก การรักษาภาวะขาดธาตุเหล็กก็จะสวนทางกันคือภาวะซีดจะกลับมาปกติก่อนหลังจากให้ยาธาตุเหล็กขนาดสำหรับการรักษานานประมาณ 4-6 สัปดาห์ หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยาธาตุเหล็กต่อไปอีก 2 เดือนเพื่อไปเก็บไว้เป็นทุนสำรองของร่างกายและไว้ใช้ในยามจำเป็นเมื่อร่างกายขาดธาตุเหล็กอีกร่วมไปกับการรักษาสาเหตุ ดังนั้นเมื่อรักษาจนธาตุเหล็กกลับคืนสู่ภาวะปกติ ผู้ที่เคยมีภาวะนี้จากการขาดอาหารที่มีธาตุเหล็กควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กให้เพียงพอ เพื่อจะไม่เกิดภาวะขาดธาตุเหล็กซ้ำ

ตามที่ยาเฮโมวิต มีปริมาณธาตุเหล็ก คือเฟอรัสซัลเฟต 135 มิลิกรัม หากคิดปริมาณ ธาตุเหล็กแท้ๆ (elemental iron) จะอยู่ที่ปริมาณ 1 ใน 5 คือประมาณ 25-30 มิลลิกรัม ถ้าคิดเทียบความต้องการธาตุเหล็ก 1-2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักหนึ่งกิโลกรัม หากรับประทาน วันละ 2 เม็ด-3 เม็ด ก็น่าจะเพียงพอ ถ้าคิดว่าไม่มีอาหารที่มีธาตุเหล็กเลย แต่ถ้ารับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเพียงพอยาก็ไม่จำเป็น

การรับประทานอาหารครบส่วนตามหมวดอาหาร ร่างกายจะได้รับสารอาหารและวิตามินเพียงพอ ยาจึงไม่มีความจำเป็น
ขอบคุณสำหรับคำถามที่น่าสนใจนะคะ

ศาสตราจารย์แพทย์หญิงอรุณี เจตศรีสุภาพ