กระดานสุขภาพ
ตรวจเลือด | |
---|---|
4 กุมภาพันธ์ 2559 00:27:52 #1 พอดีเมื่อวาน ผมเปนไข้อะครับทีนี้ไปหาหมอหมอเขาก็ตรวจเลือดตรวจฉี่ อยากทราบว่าที่หมอเขาเอาเลือดไปตรวจแบบนี้เขาตรวจแค่ไข้เลือดออกหรือhiv ด้วยอะครับ แต่ทว่าเขาจะตรวจหาhivด้วยเขาต้องแจ้งใช่ไหม แต่ผลออกมา หมอเขาก็บอกว่าเม็ดเลือดขาวก็อยู่ในเกณฑ์ ปกตินะครับ |
|
อายุ: 18 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 56 กก. ส่วนสูง: 170ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.38 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9) | |
ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์และโลหิตวิทยา) |
10 กุมภาพันธ์ 2559 02:48:25 #2 เมื่อคุณเป็นไข้และไปพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อหาสาเหตุของไข้ ซึ่งมีสาเหตุมากมายและที่พบบ่อยที่สุดคือสาเหตุจากการติดเชื้อ การติดเชื้อเองอาจเกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ส่วนน้อยเกิดจากเชื้ออื่น ๆ นอกเหนือไปจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย การตรวจเลือดและปัสสาวะจะเป็นการตรวจพื้นฐานที่แพทย์สามารถใช้ช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ สิ่งที่เราดูในการตรวจเลือด ซึ่งการตรวจนี้คือ complete blood count หรือเรียกสั้นๆว่า CBC เราดูอะไรได้บ้าง 1. ดูจำนวนเม็ดเลือดขาวโดยรวม( white blood count หรือ WBC) ถ้าเม็ดเลือดขาวสูงมากกว่าปกติส่วนใหญ่บ่งชี้ว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ส่วนหนึ่งของการติดเชื้อไวรัส อาจพบเม็ดเลือดขาวสูงในระยะแรกๆก็ได้ หรือบางครั้งเม็ดเลือดขาวลดลงกว่าปกติมาก การติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงก็พบลักษณะนี้ได้ ไข้เลือดออกหรือไวรัสบางชนิดก็ทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำมากได้เช่นกัน 2. ดูชนิดของเม็ดเลือดขาวที่มากขึ้น ในการติดเชื้อแบคทีเรีย จะพบเม็ดเลือดขาวที่เรียกว่านิวโตรฟิล(polymorphonuclear neutrophil หรือ PMN) สูงและจะมีเม็ดเลือดขาวที่อ่อนกว่านิวโตรฟิลออกมามากกว่าปกติ 3. ดูปริมาณของเกล็ดเลือดว่าปกติหรือต่ำลง เช่นในการติดเชื้อไวรัส พวกไข้เลือดออกเกล็ดเลือดมักจะต่ำลงหลังวันที่ 3 ของการมีไข้ 4. การดูในส่วนของเม็ดเลือดแดงนอกจากจะดูว่ามีภาวะโลหิตจางหรือไม่ ยังดูว่ามีปริมาตรของเม็ดเลือดแดงอัดแน่น (hematocrit หรือ Hct) สูงกว่าปกติหรือไม่ ซึ่งจะพบได้ในไข้เลือดออกหลังวันที่ 3 ไปแล้ว ส่วนการตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่ามีเม็ดเลือดขาวออกมาในปัสสาวะหรือไม่ ถ้ามีเม็ดเลือดขาวออกมาในปัสสาวะมาก ต้องนึกถึงว่าจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ แพทย์จะดำเนินการตรวจต่อไปเพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนคือส่งปัสสาวะไปเพาะเชื้อ และแม้ว่าจะยังไม่ได้ผลเพาะเชื้อ จากข้อมูลเบื้องต้น แพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยไปก่อนได้และรอผลการวินิจฉัยที่แน่นอนออกมาและปรับการรักษาไปตามผลที่ได้ดังนั้นการตรวจเลือดและปัสสาวะ จะช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้มากและแม้ว่าจะเป็นการตรวจง่ายๆแต่จะมีประโยชน์ต่อคนไข้มาก ในส่วนที่จะชี้นำเบื้องต้นว่าจะรักษาผู้ป่วยไปในทางใดดีส่วนการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี(HIV)นั้น กรณีที่การซักประวัติและตรวจร่างกายไม่เป็นที่สงสัยโรคนี้แพทย์จะไม่ได้เจาะเลือดเพื่อตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อเอไอวี (หากมีการติดเชื้อเอชไอวีร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีต่อเชื้อเอไอวี ซึ่งตรวจจากเลือดได้) และหากจะมีการตรวจแพทย์จะแจ้งผู้ป่วยหรือผู้ปกครองก่อนว่าจะเจาะเลือดตรวจ ผู้ป่วยหรือผู้ปกครองจะต้องเซ็นยินยอมให้ตรวจด้วย ขอให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขค่ะ ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ |
Anonymous