กระดานสุขภาพ
ผ่าตัดม้ามออก เพราะเป็นโรคเกล็ดเลือดต่ำ | |
---|---|
7 เมษายน 2558 03:55:57 #1 เรียนคุณหมอ น้องชายของดิฉันเป็นโรคเกล็ดเลือดต่ำ มาประมาณ 2-3 ปี และต้องเข้ารับการเติมเกล็ดเลือดอยู่เสมอ ขณะนี้เกล็ดเลือดเหลือประมาณ 2000 หมอที่รพ.แนะนำว่าให้ผ่าตัดเอาม้ามออก ดิฉันและครอบครัวไม่มีความรู้เรื่องนี้ จึงขอรบกวนช่วยแนะนำด้วยค่ะ 1. ม้ามเกี่ยวข้องกับเกล็ดเลือดอย่างไร ทำไมถึงต้องตัดออกด้วยคะ 2. ถ้าตัดม้ามออกแล้วจะมีผลกระทบอะไรหรือผลข้างเคียงอย่างไรบ้างคะ 3. มีวิธีการรักษาโรคนี้โดยไม่ต้องตัดอวัยวะทิ้งหรือเปล่าคะ ขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบนะคะ ขอพระเจ้าอวยพรค่ะ |
|
อายุ: 28 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 50 กก. ส่วนสูง: 160ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.53 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9) | |
ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์และโลหิตวิทยา) |
28 เมษายน 2558 03:17:20 #2 น้องชายของคุณ มีเกล็ดเลือดต่ำมากมานาน 2-3 ปี คุณหมอคงวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกล็ดเลือดต่ำ จากโรค ITP ชื่อเต็มคือ Immune thrombocytopenia ชนิดเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่มีการทำลายเกล็ดเลือดโดยภูมิคุ้มกันในร่างกาย(antibody)ของผู้ป่วยเองต่อเกล็ดเลือดของตนเอง ทำให้มีการทำลายเกล็ดเลือด และเกล็ดเลือดต่ำ 1. ม้ามเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือเป็นที่สร้าง antibodyบางส่วน antibodyนี้ไปเกาะกับเกล็ดเลือดและถูกทำลายโดยเซลล์ที่มีชื่อเรียกว่าอาร์อีเซลล์ที่ม้าม( reticuloendothelial cell: RE cell) การตัดม้ามจึงเป็นการตัดแหล่งที่สร้างและทำลายเกล็ดเลือดออกไปส่วนหนึ่ง ที่บอกว่าส่วนหนึ่งเพราะเซลล์เหล่านี้พบที่ตับด้วย แต่ตับเป็นอวัยวะสำคัญที่ร่างกายขาดไม่ได้ ร่างกายขาดม้ามได้ 2. เนื่องจากม้ามเป็นที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคต่างๆด้วย การตัดม้ามจึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อบางชนิดมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 5 ปี.แต่ในคนโตร่างกายมีภูมิคุ้มกันส่วนหนึ่งแล้ว ดังนั้นการตัดม้ามคาดหวังว่าเกล็ดเลือดจะถูกทำลายน้อยลง เนื่องจากเกล็ดเลือดของน้องชายของคุณต่ำมาก เสี่ยงต่อการมีเลือดออกมากอาจมีอันตรายถึงชีวิต การตัดม้ามอาจจะไม่ได้แก้ปัญหาเรื่อการทำลายเกล็ดเลือดได้ทั้งหมดแต่เป็นวิธีที่ยอมรับในการรักษาโรค ITP ชนิดเรื้อรังเช่นของน้องที่มีเกล็ดเลือดที่ต่ำมากโอกาสเสี่ยงต่อการมีเลือดออกรุนแรงสูง การตัดม้ามทำได้หากจำเป็น ก่อนตัดม้ามมีการให้วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อได้บางส่วน และหลังจากตัดม้ามแล้วแพทย์จะมีมาตรการการป้องกันการติดเชื้อด้วย 3. การรักษาด้วยวิธีอื่น โดยไม่ต้องตัดม้าม ในขณะนี้มีการศึกษาอยู่มาก แต่ค่าใช้จ่ายแพงมากด้วย อีกทั้งผลการรักษาก็ไม่ใช่จะได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์และอาจต้องใช้เวลาในการรักษานาน การตัดม้ามก็อาจได้ผลอยู่ช่วงหนึ่งแล้วเกล็ดเลือดต่ำลงอีก แต่หากไม่ต่ำกว่า 20,000 / ลบ.มม. แพทย์ก็จะสบายใจขึ้นส่วนหนึ่ง เนื่องจากหากเกล็ดเลือด่ำมากๆ สิ่งที่น่ากลัวคือเลือดออกมาก ช่วยไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิต
ขออวยพรให้โชคดีค่ะ ศ.พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ |
Piya*****a