กระดานสุขภาพ

น้ำนมแม่
Jira*****1

19 กุมภาพันธ์ 2558 18:53:18 #1

อยากทราบว่า ให้นมลูกอยู่ค่ะ แล้วถ้าเราจะทานวิตามินcและคลอลาเจนได้มั้ยคะ ตอนนี้ลูกอายุ1.9ปีค่ะ จะมีผลอะไรกับลูกบ้างมั้ยคะ ขอบคุณค่ะ

อายุ: 34 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 67 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 24.61 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
อาจารย์พรพิศ เรืองขจร

นักวิชาการโภชนาการ ชำนาญการพิเศษ

27 มีนาคม 2558 03:53:04 #2

ปัจจุบันคนหันมาให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพด้วยเน้นการป้องกันและรักษาโดยใช้สารอาหารซึ่งออกฤทธิ์เป็นยาได้ (alternative medicine) จึงเป็นที่มาของการใช้สารอาหารจากอาหารเสริมเป็นยาป้องกันและรักษา และในระยะให้นมบุตรร่างกายคุณแม่ต้องการสารอาหารบางอย่างในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์เนื่องจากต้องใช้สารอาหารทั้งสำหรับตัวคุณแม่เองและผลิตน้ำนมให้ลูก การที่ต้องเลี้ยงดูลูกเองคุณแม่อาจไม่มีเวลามากพอที่จะบำรุงร่างกายตัวเองและเริ่มไม่มั่นใจว่าจะได้รับสารอาหารที่เพียงพอกับลูกหรือไม่ ก็จะหาทางกินเป็นอาหารเสริมแทนแต่สิ่งที่ดีที่สุดคุณแม่ต้องไม่ละเลยกินอาหารหลักในแต่ละวันแต่ละมื้อให้ครบถ้วน 5 หมู่ ดื่มนม 2 กล่องต่อวัน คุณแม่ก็จะได้รับสารอาหารที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว
การเลือกกินผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอาจต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของเซลล์ในร่างกาย ควรศึกษาข้อมูลเมื่อกินแล้วร่างกายดูดซึมและนำไปใช้ได้เหมือนหรือแตกต่างจากสารอาหารที่ได้รับจากอาหารธรรมชาติหรือเปล่า เพื่อให้แน่ใจว่ามีประโยชน์คุ้มค่าต่อราคาที่จ่ายไปจริง

วิตามินซี (ASCORBIC ACID)
วิตามินซี เป็นวิตามินชนิดที่ละลายน้ำได้ (WATER SOLUBLE) เมื่อละลายน้ำมีฤทธิ์เป็นกรด ถูกดูดซึมได้ง่ายที่ลำไส้เล็ก ร่างกายคนไม่สามารถสร้างได้เองในร่างกาย มีความสำคัญต่อขบวนการทำงานต่างๆ ของร่างกายเช่น การสังเคราะห์คอลลาเจน คาร์นิทีน สารเหนี่ยวนำกระแสประสาทและขบวนการเผาผลาญกรดอะมิโนและคาร์โบไฮเดรท เพิ่มภูมิต้านทาน ช่วยในการดูดซึมเหล็ก ยับยั้งการสร้างสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ

การดูดซึม
ความสามารถในการดูดซึมวิตามินซีจากอาหารขึ้นอยู่กับ

  1. ปริมาณที่กิน ถ้าได้รับวิตามินซีในปริมาณ 30-60 มิลลิกรัมจะมีการดูดซึมได้มากถึงร้อยละ 80-90 แต่ถ้าได้รับวิตามินในปริมาณสูงถึง 1 กรัมหรือมากกว่านี้ประสิทธิภาพในการดูดซึมจะลดน้อยลงเหลือประมาณร้อยละ 20 และส่วนที่ไม่ได้มีการดูดซึมจะคงอยู่ในลำไส้ทำให้รู้สึกแน่นท้องและอาจมีอาการท้องเสียได้
  2. วิตามินและเกลือแร่ที่กินร่วมกันไปในมื้อนั้นๆ ในการให้วิตามินซีที่รับประทานเข้าไปในร่างกายนั้นได้ผลเต็มที่ร่างกายจำเป็นต้องมีวิตามินและเกลือแร่ดังต่อไปนี้คือ วิตามินบี1 บี3 บี5 บี6 บี12 กรดโฟริค ( FOLIC ACID) และเกลือแร่ ได้แก่ สังกะสี ( ZINC ) ในเวลาเดียวกันกับที่รับประทานวิตามินซี ถ้าขาดวิตามินและเกลือแร่ดังกล่าวแล้ว จะยังผลให้การดูดซึมของวิตามินซีเข้าร่างกายได้น้อยลง และส่วนที่ดูดซึมเข้าร่างกายไปได้แล้วยังจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกายได้น้อยมากด้วย เพราะว่าวิตามินและเกลือแร่แต่ละชนิดจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกันและกัน ประสานกันและส่งเสริมกัน ดังนั้นอาหารที่ควรรับประทานควบคู่กันไปพร้อมๆกับวิตามินซี ก็ได้แก่ เนื้อแดง ปลา ถั่วลิสง เครื่องในสัตว์ ไข่แดง เมล็ดพืช ผักสีเขียว จะช่วยร่างกายในการใช้วิตามินซีได้ดียิ่งขึ้นซึ่งก็คืออาหารหลัก 5 หมู่นั่นเอง

ความต้องการของร่างกาย
ปริมาณที่ร่างกายจะต้องการวิตามินซีแตกต่างกันไปตามวัยและตามสภาวะต่างๆ จะต้องการเพิ่มขึ้นในหลายภาวะ เช่น เครียด เป็นโรคติดเชื้อ ได้รับการผ่าตัดหรือมีปาดแผล กระดูกหัก ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ในคนสูบบุหรี่ สตรีที่กินยาคุมกำเนิด สตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร เป็นต้น

แหล่งของวิตามินซี
พบอยู่ในพืชมากกว่าในเนื้อสัตว์ ปริมาณวิตามินซีในผัก ผลไม้ มักขึ้นกับฤดูกาล การเพาะปลูก สถานที่ปลูก การเก็บเกี่ยวและการหุงต้ม วิตามินซี เป็นสารที่สลายตัวง่ายเมื่อมีความร้อน การได้รับแสง เวลาปรุงอาหารจะทำให้วิตามินซีในผักถูกทำลายไป การเก็บอาหารเป็นเวลานานก็จะทำให้วิตามินซีสูญเสียไปได้มากเช่นกัน

ปริมาณวิตามินซีในผัก ผลไม้บางชนิด

ข้อห้ามใช้ของวิตามินซี
วิตามินซี ห้ามใช้กับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้น และหากรับประทานวิตามินซีมากเกินไป อาจทำให้เกิดเป็นโรคนิ่วในไต เนื่องจากกรดออกซาลิคที่มีมากขึ้นในปัสสาวะ

ประเทศไทยมีผัก ผลไม้มากหลายหลากหลายชนิดในแต่ละช่วงฤดูกาล การกินผัก ผลไม้ให้ได้ทุกวันร่างกายก็จะได้รับวิตามินซีอย่างเพียงพอแน่นอน และวิตามินซีหากได้รับเพียงพอจากอาหารแล้วก็ ไม่จำเป็นต้องได้รับเสริมอีก ในขณะที่หากได้รับวิตามินซีในขนาดสูงเกินต้องการร่างกายจะขับออกได้ ทางปัสสาวะ

คอลลาเจน
คอลลาเจนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ทำหน้าที่ช่วยให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้น ยืดหยุ่น ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปความยืดหยุ่นของผิวที่เคยมีก็จะเสื่อมลงตามกาลเวลา เป็นสาเหตุที่ทำให้ผิวหนังมีรอยเหี่ยว ยับย่น และในการดูดซึมโปรตีนเข้าสู่ร่างกายจำเป็นต้องผ่านกระบวนการย่อยก่อน โดยที่โปรตีนทุกชนิดจะถูกเอนไซม์หลายชนิดในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กย่อยสลาย จากโปรตีนที่เป็นสายยาวจะถูกเอนไซม์ตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เหลือเพียงหน่วยย่อยที่เล็กที่สุด คือ กรดอะมิโน แล้วร่างกายจึงดูดซึมกรดอะมิโนเพื่อนำไปประกอบกันขึ้นใหม่เป็นโปรตีนที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ และด้วยคุณสมบัตินี้ ร่างกายจึงไม่สามารถดูดซึมคอลลาเจนเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง แต่จะย่อยคอลลาเจนจนกลายเป็นโปรตีนก่อนจึงจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ ฉะนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการกินคอลลาเจนจึงเป็นการกินโปรตีน นั่นเอง และหากต้องการเพิ่มปริมาณคอลลาเจนในร่างกายควรบริโภคอาหารบางประเภท เช่น อาหารจำพวกหนังสัตว์* เช่น ขาหมู หมูพะโล้ เป็นต้น พร้อมทั้งรับประทานผัก ผลไม้ที่ อุดมด้วยวิตามินซี ซึ่ งเป็นสารตั้งต้น ในการสังเคราะห์คอลลาเจน เช่น ฝรั่ง ส้ม เบอร์รี่และผลไม้รสเปรี้ยวทั้งหลายด้วย เพียงเท่านี้ร่างกายก็จะได้รับ คอลลาเจนจากอาหารแล้ว

หมายเหตุ * หากนำอาหารจำพวกขาหมู หรือหมูพะโล้ ไปแช่แข็งจะสามารถสังเกตเห็นส่วนที่เป็นวุ้นใส ๆ ซึ่งก็คือ คอลลาเจน นั้นเอง

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จัดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติซึ่งผู้บริโภคมักจะคาดหวังถึงประโยชน์ทางด้านส่งเสริมสุขภาพจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่าง ๆ
จึงควรศึกษาข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น ๆ ก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อหรือบริโภค
สิ่งที่มีชีวิตต่างก็ต้องการวิตามินหรือสังเคราะห์วิตามินได้ไม่เหมือนกัน ในแต่ละวันคนเราต้องการอาหารที่หลากหลาย แต่เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับสารอาหารทุกชนิดตามที่ร่างกายต้องการอาหารแต่ละหมวดในธงโภชนาการต่างก็ให้ความสำคัญต่อสุขภาพเท่าๆกัน ไม่มีอาหารชนิดใดชนิดเดียวที่จะให้สารอาหารได้ครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ เพราะอาหารในหมวดหนึ่งไม่สามารถทดแทนอาหารในอีกหมวดหนึ่งได้ ดังนั้นจึงต้องเลือกกินอาหารหลักให้ครบทั้ง 5 หมู่ให้หลากหลาย เพื่อให้เกิดประโยชน์และเกิดความสมดุลของสารอาหารที่ร่างกายแต่ละคนต้องการ ซึ่งจะส่งผลในการช่วยเสริมสร้างสุขภาพ เพิ่มพูนภูมิต้านทานโรคได้ในระยะยาว

ที่มา ; คู่มือการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารและไอโอดีนสำหรับผู้บริหาร รพ.สต.
พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2554 สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
กระทรวงสาธารณสุข