กระดานสุขภาพ

กินยาคุมกำเนิด แล้วประจำเดือนมาน้อยมาก
Mene*****l

15 ธันวาคม 2560 06:55:05 #1

สวัสดีค่ะ เริ่มทานยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นแผงแรก ของสมินแบบ 21 เม็ด เริ่มทานเม็ดแรกในวันแรกของการเป็น ประจำเดือน หลังจากนั้นได้มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ใส่ถุงยางมาโดยตลอด พอกินครบ 21 เม็ดได้หยุดยา 7 วัน พอในวันที่ 3 ของการหยุดยา มีเลือดออกมาเป็นสีน้ำตาลเข้มน้อยมากๆ อยากทราบว่า 1. เลือดที่ออกมาเป็นเลือดประจำเดือนจริงหรือเปล่า หรือเป็นเลือดล้างหน้าเด็ก แล้วควรตรวจการตั้งครรภ์ไหม 2. การเริ่มทานยาคุมกำเนิดแผงแรก ภายใน 14 วันแรกของการกินยา ต้องป้องกันวิธีอื่นร่วมด้วยตามที่เภสัชบอกหรือเปล่าคะ
อายุ: 19 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 47 กก. ส่วนสูง: 156ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.31 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

25 ธันวาคม 2560 16:40:55 #2


เรียน คุณ menel,

หากคุณรับประท่านยาได้อย่างถูกต้อง ไม่เคยลืมรับประทานยา ไม่ได้ซื้อยา/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆมาใช้ร่วมกัน โดยที่ไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ยาจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้

ส่วนเรื่องเลือดประจำเดือนนั้นขึ้นกับปริมาณของตัวยาสำคัญ โดยยาคุม Y... ที่คุณรับประทานนั้นเป็นยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนต่ำ ซึ่งต้องปรับให้เหมาะสม และสมดุลกับการมีฮอร์โมนเพศของคุณ

ในทางการแพทย์มักพิจารณาจากรูปร่าง ลักษณะ และรูปแบบการมีประจำเดือน

  • 1. ผู้ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเด่น - มักมีรูปร่างค่อนข้างเล็ก อกเอวชัดเจน ผิวค่อนข้างแห้ง หรือผิวผสม รูขุมขนเห็นได้ไม่ค่อยชัด ขนเส้นเล็กหรือบาง รูปแบบการมีประจำเดือนมักมาปริมาณมาก (อาจต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยวันละหลายแผ่น) หรือมาติดต่อกันนานหลายวัน (5-7 วัน) แบบนี้ควรใช้ยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนโปรเจสตินเด่นชัด เพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนเพศของร่างกาย
  • 2. ผู้ที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินเด่นชัด - มักมีรูปร่างค่อนข้างตรง อกเอวไม่ชัดเจน ผิวค่อนข้างมัน ขนดก รูขุมขนกว้าง เป็นสิวง่าย รูปแบบการมีประจำเดือนมักมาปริมาณไม่มาก หรือมาจำนวนวันน้อย (3-5 วัน) แบบนี้แพทย์มักพิจารณาให้ยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนเด่นชัด เพื่อปรับให้ฮอร์โมนเพศเกิดความสมดุล
  • ทั้งนี้ต้องพิจารณาร่วมกับความทนต่อยาได้หรือไม่ เช่น ในบางตัวยาอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ด้านเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน คัดตึงเต้านม ประจำเดือนมามากเกิน หรือมากะปริบกะปรอยตลอดเดือน

กลับมาที่คำถามของคุณ

  • 1. หากมั่นใจว่ารับประทานยาได้อย่างถูกต้อง ไม่เคยลืมรับประทานยา โอกาสเสี่ยงในการตั้งครรภ์น้อยมาก ๆนะครับ คือ น้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ไม่จำเป็นต้องตรวจการตั้งครรภ์
  • 2. หากรับประทานยาเม็ดแรกภายในวันแรกที่มีประจำเดือน เมื่อรับประทานยาครบ 24 ชั่วโมง ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้มีไข่ตกได้ตั้งแต่วันแรกนะครับ ไม่จำเป็นต้องใช้การคุมกำเนิดอื่น ๆร่วมด้วย
  • ยกเว้นว่า คุณมีภาวะเจ็บป่วย โรคติดเชื้อภายใน อาการผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร (ท้องเสีย อาเจียน) หรือจำเป็นต้องรับประทานยา/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่น ๆร่วมด้วย แบบนี้แพทย์หรือเภสัชกรจะแนะนำให้ใช้การสวมถุงยางอนามัยร่วมด้วยครับ เพื่อป้องกันการติดเชื้อภายในกลับซ้ำไปมา หรือป้องกันระดับยาในเลือดลดต่ำลง ซึ่งต้องปรึกษากันเป็นครั้งคราวไป จากบทความที่แนะนำจะเป็นตัวอย่างยาที่ใช้บ่อยและอาจส่งผลรบกวนต่อการดูดซึมของตัวยา จนเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้

หากมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรทันที ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจช้าไม่ทันการ เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน "ยาตีกัน" จนเกิดอันตรายต่อสุขภาพไ ด้


เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล


แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

  • การคุมกำเนิด (Contraception)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาที่ลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด (Common medications that reduce efficacy of birth control medications)
  • ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
  • เภสัชกร