กระดานสุขภาพ

การดูแลภาวะจิตใจของผู้ป่วยมะเร็ง
Anonymous

4 กันยายน 2560 09:02:21 #1

คุณหมอครับ กระผมไม่ทราบว่าการดูแลจิตใจของผู้ป่วยมะเร็งนี่ต้องดูอย่างไรครับ การที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งเกิดอะไรขึ้นกับจิตใจบ้าง และ โรคทางจิตและประสาทที่สามารถเกิดได้กับผู้ป่วยเป็นมะเร็งมีอะไรบ้างครับ เนื่องจากคุณป้าของผมท่านเป็นมะเร็งเต้านม แต่ว่าได้ทำการรักษาไปแล้วครับ กระผมอยากทราบเผื่อเป็นแนวทางในการให้กำลังใจครับ 

อายุ: 60 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 60 กก. ส่วนสูง: 160ซม. ดัชนีมวลกาย : 23.44 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
นพ. อุดม เพชรสังหาร

(จิตแพทย์)

8 กันยายน 2560 06:53:36 #2

ในฐานะจิตแพทย์ ต้องขอขอบคุณคุณแทนคนไข้(คุณป้าของคุณ) ที่คุณตั้งใจจะดูแลเรื่องสุขภาพจิตของเธอด้วย
เรื่องนี้สำคัญมากครับ คนส่วนใหญ่มักจะดูแลแค่เรื่องการเจ็บป่วยทางกาย ไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาทางจิตใจของผู้ป่วยเลย

งานวิจัยใหม่ ๆ พบว่า การเกิดขึ้นและการทุเลาของโรคมะเร็ง รวมทั้งโรคเรื้อรังอีกหลาย ๆ ชนิด เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ฯลฯ มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสภาพจิตใจของคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่อง "ความเครียด" คงเคยได้ยินข่าวนะครับว่าคนไข้มะเร็งบางคนหายจากมะเร็งได้ เพราะเขาดูแลเรื่องสุขภาพจิตและสุขภาพกายของตัวเองเป็นอย่างดี

ในกรณีของคุณป้าคุณ สิ่งแรกที่คุณจะต้องทำคือ ทำความเข้าใจกับ "สภาพความคิดและจิตใจของผู้ป่วยโรคร้ายแรง" หรือโรคที่คุกคามต่อชีวิตผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้จะมีความคิดและอารมณ์คล้าย ๆ กัน

1. ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก เมื่อรับรู้ว่าตนเองป่วยด้วยโรคร้ายแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต

2. ไม่เชื่อว่าตัวเองป่วยจริง "หมอวินิจฉัยผิดหรือเปล่า?" คือสิ่งที่ผู้ป่วยคิด และด้วยความคิดแบบนี้นี่เองทำให้ผู้ป่วยพยายามไปพบแพทย์หลาย ๆ คน เพื่อให้ช่วยยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ป่วย

3. เมื่อความจริงมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ป่วยก็จะ "จำใจ" ยอมรับความจริงด้วยความรู้สึกที่มีทั้งเสียใจ หวาดกลัว ซึมเศร้าท้อแท้ และตัดพ้อต่อว่า "ฉันทำอะไรผิด ชีวิตฉันถึงเป็นแบบนี้"
ช่วงนี้ผู้ป่วยจะหงุดหงิด โมโหง่าย กลัวและท้อแท้ มันเป็นช่วงที่ผู้ป่วยต้องการคนที่ "รับฟัง รับรู้ และเข้าใจในอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของเขา" เขาไม่ได้ต้องการให้ใครมา "สั่งและสอน" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบาปบุญคุณโทษ หรือกรรมเก่ากรรมใหม่ อะไรทั้งนั้น

"การรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่โต้แย้ง ไม่ตัดสิน ไม่สั่งสอน" คือวิธีการที่ดีที่สุดในการรับมือกับผู้ป่วยในขั้นนี้

4. หาวิธีช่วยตัวเองให้พ้นจากโรคร้ายในทุก ๆ ทางเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะหมอแพทย์ หมอพระ หมอผี หมอน้ำมนต์-น้ำมัน หรือแม้แต่หมอดู คนทรง ฯลฯ ไปหมด บางครั้งผู้ป่วยก็ตกเป็นเหยื่อของคนที่หลอกขายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่มีผลต่อการรักษาโรค

ในขั้นตอนนี้ ญาติจะช่วยได้โดยการสืบค้นข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีแหล่งอ้างอิงชัดเจนมาเล่าให้ผู้ป่วยฟัง เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเกิดความหวังแบบลม ๆ แล้ง ๆ

5. ยอมรับความจริงโดยไม่โต้แย้ง มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งสามารถเดินมาถึงจุดนี้ ยอมรับการวินิจฉัย ยอมรับกระบวนการรักษาจากแพทย์ ไม่ตีโพยตีพายหรือดิ้นรนเหมือนที่ผ่านมา ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีใจและอารมณ์ที่สงบกว่า

ผู้ป่วยที่สามารถปรับความคิดและอารมณ์ของตนเองจนสามารถยอมรับความเจ็บป่วยของตนเองได้ ใจจะสงบและมีความทุกข์ใจน้อยกว่า สามารถยอมรับความจริงของชีวิตได้

ทั้ง 5 ขั้นตอนอาจวนเวียนกลับไปกลับมาได้ ถ้าญาติหรือคนใกล้ชิดเข้าใจปฏิกิริยาทั้ง 5 ขั้นตอนนี้ ก็จะรู้ว่าผู้ป่วยวนกลับไปที่จุดไหน และควรจะมีวิธีรับมืออย่างไร

นอกจากการดูแลตามสภาพอารมณ์และจิตใจของผู้ป่วยใน 5 ขั้นตอนแล้ว ผมเสนอให้ทำ PERMA กับผู้ป่วยด้วย

P: Positive Emotion
พาผู้ป่วยทำกิจกรรมที่เขาชอบ และสนุก เพื่อให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ที่สดชื่น เบิกบานอยู่เสมอ กิจกรรมดนตรีเป็นอะไรที่น่าสนใจครับ

E: Engagement
การทำกิจกรรมอะไรที่ผู้ป่วยชอบ มีความท้าทาย และผู้ป่วยก็สามารถทำได้ มันจะทำให้เกิด Positive Emotion ได้เป็นอย่างดี ถ้าผู้ป่วยชอบดนตรี แนะนำให้หัดเล่นดนตรีครับ หรือจะถักไหมพรม วาดรูป ทำขนม อะไรที่ชอบและคิดว่ามันจะทำให้เพลิน ทำเลยครับ

R: Relationship
อย่าให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียว กระตุ้นให้ผู้ป่วยพบปะและทำกิจกรรมกับเพื่อนฝูง ญาตมิตร อยู่อย่างสม่ำเสมอ

M: Meaning
ชวนผู้ป่วยทำอะไรที่มัน "มีความหมาย" ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม หรือสร้างสรรค์อะไรที่มัน "ยิ่งใหญ่กว่า 'ตัวตน' ของเรา" กิจกรรมแบบนี้จะส่งผลให้เกิด Positive Emotion ได้ดี

A: Accomplishment(Achievement)
ชวนผู้ป่วยมองชีวิตที่ผ่านมา หรือสิ่งที่ได้ทำลงไปว่ามีอะไรที่อยู่ในข่าย "ความสำเร็จ" การมองเห็นความสำเร็จของตัวเองใจมันจะเป็นสุขครับ

ส่วนเรื่องการเจ็บป่วยของคุณป้าให้เป็นหน้าที่ของคุณหมอไป คุณชวนคุณป้ามาทำกิจกรรมที่มันนำไปสู่ PERMA State แล้วสิ่งที่เรียกว่า "สุขภาวะ(Well-being)" จะเกิดกับคุณป้าเองครับ

ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือโรคร้ายชนิดอื่น ๆ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่สามารถมี "สุขภาวะ(Well-being)" ได้ครับ

นพ.อุดม เพชรสังหาร