กระดานสุขภาพ

ฟุ้งซ่าน
Awie*****e

11 มีนาคม 2557 06:29:40 #1

เรียนคุณหมอคับ

ผมรบกวนถามเกี่ยวกับอาการดังต่อไปนี้

1. ผมรู้สึกเหมือนตัวเองมีอาการทางประสาทนิดๆ คือคนบ้าพลัง คิดฟุ้งซ่าน เก็บกด วันไหนที่ไม่ได้พูด พอได้พูดไรบ้างสักครั้งกับเพื่อน ก้อจะพูดยาวยืดเรื่อยเปื่อย เหมือนเด็กๆ

2. บ้าพลัง เช่น ออกกำลังกายหนักๆ ขับรถเร็วๆ พูดจาแรงๆ บางครั้งอยากตะโกนดังๆ ทั้งๆที่ส่วนตัวเป็นคนนิสัย อ่อนโยน พูดจาอ่อนหวาน แต่ลักษณะงานที่ทำปัจจุบันจะเครียดมากบ่อยครั้ง

3. ทุกครั้งที่มีอาการดังกล่าวข้างต้นจะสังเกตสังเกตตลอดว่า หัวใจเต้นแรง และผมมีโรคความดันเลือดสูงด้วย ซึ่งทานยาไม่ขาด และบางครั้งมีอาการปวดหัวร่วมด้วย

ขอขอบคุณมากคับ

ศรันวีร์

อายุ: 29 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 69 กก. ส่วนสูง: 175ซม. ดัชนีมวลกาย : 22.53 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Awie*****e

11 มีนาคม 2557 06:31:28 #2

เรียนคุณหมอคับ คำถามคือ ผมมีภาวะของอาการทางประสาทหรือแนวโน้ม เปล่าคับ

นพ. อุดม เพชรสังหาร

(จิตแพทย์)

13 มีนาคม 2557 04:05:17 #3

มีหลายคำพูดของคุณที่น่าสนใจ

"ขับรถเร็วๆ"

"พูดจาแรงๆ"

"บางครั้งอยากตะโกนดังๆ ทั้งที่ส่วนตัวนิสัยอ่อนโยน พูดจาอ่อนหวาน"

มันเหมือนอะไรที่กำลังรอการระเบิดออกมา สภาวะแบบนี้แปลว่าคุณกำลังเครียดครับ และเครียดมากด้วย คุณกำลังหาทางออกให้ตัวเอง แต่มันก็ยังไม่เจอซะที จนคุณเองก็ชักเริ่มท้อ และบางทีเมื่อมันไม่ไหวจริงๆ ในใจลึกๆ ของคุณ คุณก็อยากทำร้ายตัวเองด้วย

"การออกกำลังกายหนักๆ" "การขับรถเร็วๆ" (เสี่ยงตาย) คือสัญญาณที่ส่งออกมาจากจิตใต้สำนึกของคุณครับ ทุกปัญหามีทางออกเสมอครับ อย่าเพิ่งท้อ ก่อนอื่นคุณต้องทำให้อาการของความเครียดที่อยู่ในตัวคุณให้เบาบางลงเสียก่อน ตอนนี้มีวิธีการลดความเครียดโดยไม่ต้องพึ่งหมอพึ่งยาและได้ผลดีอยู่ 3 วิธีครับ

  1. เล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย(แต่ต้องไม่เป็นการทำร้ายตนเองนะครับ)
  2. การใช้ดนตรี ทั้งฟังเพลง ร้องเพลง เต้นรำ เล่นดนตรี ได้ทั้งนั้นครับ
  3. การฝึกสมาธิ จะด้วยวิธีการแบบไหนก็ได้

ทั้ง 3 วิธี ถ้าคุณมีเพื่อนร่วมกิจกรรม ได้พูดคุยระบายความไม่สบายใจให้ฟัง จะยิ่งทำให้ความเครียดของคุณลดลงได้มากครับ เมื่ออาการของความเครียดเบาบางลง ค่อยมาหาสาเหตุว่ามันเกิดจากอะไร เพื่อจะได้แก้ไขมันได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ลองทำดูนะครับ แต่ถ้ามันยังหนักไม่ดีขึ้นเลย ก็เขียนมาปรึกษาอีกได้นะครับ

 

นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร

Awie*****e

8 เมษายน 2557 04:54:57 #4

เรียนคุณหมอ ครับ ต้องขอขอบพระคุณยิ่งที่ได้ช่วยตอบคำถามข้อข้องใจ แต่เนื่องจากอาการไม่ดีขึ้นเท่าที่ควรเลยมาเพื่อปรึกษา เพราะจริงๆ ผมไม่สามารถลดภาวะความความเครียดจากตัวได้เพราะนั้นหมายถึงการเปลี่ยนงานที่ไม่ต้องเครียดมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานที่ต้องการสร้างผลงานเพื่อตำแหน่งที่โตขึ้นและรื่องภาระครอบครัวที่ต้องส่งน้องๆ เรียน ผมพยายามเข้าหาศาสนามากขึ้น พยายามปลง และพักผ่อน ซึ่งดีขึ้นมากและเมื่อมาเจอสภาวะที่เดิมๆ อาการเดิมๆ ก้อเกิดขึ้นอีกครั้ง ในสั่นๆ ปวดหัวมาก แต่ด้วยการงานที่ต้องยิ้มแย้ม ทุกอย่างมันจึงขัดกันไปหมด

คำถามคือ ผมเป็นโรคซึมเศร้า หรือเปล่า เพราะอารมย์เศร้าๆ เม่อลอย จะเข้ามาในจิตใจ ตลอดเวลา ทั้งๆที่ พยายามมีสติอยู่คนเดียวหลายครั้งก้อร้องให้ จนอธิบายไม่ถูก ทั้งๆที่ไม่ไช่นิสัย ผมหวังว่าโรคนี้จะหายไวๆ

ขอขอบคุณคับ

นพ. อุดม เพชรสังหาร

(จิตแพทย์)

12 เมษายน 2557 02:13:11 #5

ความเครียดที่นานมากๆ และไม่มีทางออกมีผลทำให้เกิดอารมณ์เศร้าได้ครับ และการที่คุณหันหน้าเข้าหาศาสนาก็เป็นทางออกอันหนึ่งที่สามารถช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ เนื่องจากความเครียดส่วนหนึ่งเกิดจากความคิดที่ปรุงแต่งของเรานั่นเอง จิตใจที่ปล่อยวาง จิตใจที่สามารถมองเห็นเหตุแห่งทุกข์จะสามารถนำมาซึ่งความดับทุกข์ได้ ถ้าคุณสามารถไปถึงจุดนี้ได้ ทุกอย่างก็จะดีขึ้น สิ่งที่สำคัญก็คือคนที่ช่วยเป็นพี่เลี้ยง(พระอาจารย์)ในการเดินทางของคุณมีความเข้าใจปัญหาของคุณมากน้อยแค่ไหน พระที่เก่งๆ ที่มีทักษะในการสอนเรื่องวิธีคิดสามารถช่วยให้เรามีวิธีคิดที่แยบคายจนสามารถหลุดจากทุกข์อันนี้ได้ครับ

การที่ทุกอย่างเมื่อมันดีขึ้นแล้ว แต่พอมาเจอปัญหาอีกมันกลับมาเป็นเหมือนเดิม ศาสตร์ทางด้านการทำงานของสมอง(Neuroscience) อธิบายว่าเป็นเพราะวงจรความคิดใหม่ๆ ที่คุณกำลังฝึกใช้มันยังไม่มีความแข็งแรงพอ เมื่อเจอปัญหาอีกครั้งวงจรความคิดแบบเดิมๆ มันจึงยังทำงานอยู่ การฝึกฝนที่สม่ำเสมอและด้วยเวลาที่นานพอจะทำให้วงจรความคิดแบบใหม่มีความเข้มแข็งขึ้น จนสามารถทำงานแทนที่วงจรความคิดแบบเดิมๆ ได้อย่างอัตโนมัติ เรื่องนี้ทางพระท่านมักอธิบายว่าเป็นเพราะการบำเพ็ญภาวนา(การฝึก)ของเรายังไม่มากพอครับ

การที่คุณเข้าหาศาสนาแล้วมันดีขึ้น ผมคิดว่าคุณได้เจอวิธีที่เหมาะกับคุณแล้วล่ะ ให้เวลากับมันหน่อย อย่าเพิ่งท้อนะครับ

ในระหว่างนี้คุณอาจใช้วิธีอื่นร่วมไปด้วยก่อนก็ได้ เพื่อช่วยลดอาการของความเครียดจนกว่าการฝึกเรื่องวิธีคิดหรือการปฏิบัติที่คุณกำลังทำอยู่จะได้ผลเต็มที่ สิ่งที่สามารถช่วยลดความเครียดได้ดีและมีงานวิจัยสนับสนุนได้แก่ การฟังหรือเล่นดนตรี การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย การพูดคุยเพื่อระบายความอึดอัดใจกับเพื่อนที่เราไว้ใจ

เอาใจช่วยนะครับ

นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร