กระดานสุขภาพ

ผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจเองได้สามารถย้ายออกจากห้อง RCU ได้หรอครับ
Anonymous

5 มีนาคม 2556 11:25:44 #1

คุณหมอครับ

พอดีผมมีเรื่องเครียดอยากปรึกษา เนื่องจากนเาของผมป่วยไม่สบาย ตอนแรกมีอาการผื่นคัน เป็นมาสองปี แล้วก็เป็นฝีที่ปอด พอรักษาหายไปสักระยะ แกกลับมาป่วยอีกคราวนี้หมอวินิฉัยว่าเป็น วัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง ขอหมอกลับไปรักษาที่ต่างจังหวัดคิดว่าอากาศน่าจะดีกว่า แต่อาการทรุดหนักกว่าเดิม ล่าสุดตรวจพบว่าเป็น SLE แพ้ภูมิตัวเอง ตอนนี้เข้ารักษาตัวอยู่ที่ห้อง RCU มีอาการเพ้อ และชัก หลังจากนั่นหมอพาไปสแกนสมองหัวใจแกหยุดเต้น อาการตอนนี้คือ ตื่นลืมตา ไม่รู้สึกตัว และมีอาการติดเชื่อที่ปอด แต่ไม่สามารถยกมือได้ บางทีเรียกก็เหมือนจะหันแต่ช้าๆ คำถามคือ

1.หมอบอกว่าจะให้คนป่วยออกจากห้อง RCU จะพยายามให้ฝึกหายใจ ถึงแม้จะหายใจเองไม่ได้ก็จะให้ย้ายออกในเดือนเมษา เขาบอกว่ารักษาต่อไปก็เหมือนการ สิ้นเปลืองรายจ่ายเป็นแสนๆ ของรัฐ ซึ่งกรณีแบบนี้ทำได้หรือครับ

2.การลืมตา บางทีมีน้ำตาไหล ลูกสาวเรียกก็เหมือนหันมามองบ้าง แบบนี้เรียกว่ายังรับรู้อยู่ใช่หรือไม่ครับ

3.คนไข้มีอาการกัดริมฝีปากและบ่นๆ นี่เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้างครับ

4.ผมไม่รู้ว่าน้าจะหายกลับมาปกติได้หรือไม่ และไม่รู้จะมียาตัวใดบ้างที่จะทำให้ดีขึ้น ซึงอาการดังกล่าวที่เอ่ยมามีโอกาสจะหายหรือไม่มากน้อยเพียงใดครับ

หมอที่เฝ้าดูอาการน้าเขาจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆซึ่งผมก็ไม่รู้จะเชื่อใครได้บ้าง บางทีต้องตัดปัญหาฟังบ้างไม่ฟังบ้าง วันนี้มาเจอเว็บนี้เลยอยากขอความกรุณา ช่วยตอบคำถามเพื่อให้ผมได้คลายทุกข์บ้างจะขอบคุณมากๆเลยนะครับ

 

อายุ: 44 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 46 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 16.90 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์

(วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์)

6 มีนาคม 2556 14:42:01 #2

ตอบ ข้อ 1

RCU (Respiratory care unit) เป็นหออภิบาลที่ดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาทางการหายใจที่หออภิบาลผู้ป่วยทั่วไปมีข้อจำกัดในการดูแล ดังนั้น ถ้าแพทย์เห็นควรว่า หอผู้ป่วยทั่วไปดูแลผู้ป่วยได้แล้ว ก็จะย้ายผู้ป่วยจาก RCU ให้ไปอยู่ที่หออภิบาลทั่วไป

กรณีคุณน้า เป็นโรคที่ซับซ้อน การดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะการย้ายผู้ป่วยฯ จึงเป็นเรื่องที่แพทย์ทางเว็บ ไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะจะผิดพลาดได้สูงจากไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกต้องเพราะไม่ได้ดูแลรักษาผู้ป่วย ดังนั้น ในเรื่องการย้ายหออภิบาลผู้ป่วย คุณจึงต้องปรึกษากับแพทย์ที่รักษาคุณน้าคะ

ส่วนคำถามข้อ 2-4 จะเรียนให้ คุณหมอ สมศักดิ์ ซึ่งเป็นแพทย์ อายุรกรรมประสาทวิทยา เป็นผู้ตอบคุณคะ

 

พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์
บรรณาธิการฝ่ายแพทย์

รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมประสาทวิทยา

6 มีนาคม 2556 15:31:08 #3

สวัสดีครับ

ผมต้องแสดงความเห็นใจและเข้าใจในความกังวลใจ และขอชื่นชมในการดูแลเอาใจใส่ต่อผู้ป่วยอย่างดีครับ

คำถามข้อที่ 2 การที่ผู้ป่วยมีน้ำตาไหล หันมองบ้างแสดงว่ายังรู้ตัวครับ แต่ระดับการรู้ตัวนั้นไม่สมบูรณ์ครับ คงมีสาเหตุจากที่หัวใจหยุดเต้น การที่หัวใจหยุดเต้นก็หมายถึงสมองขาดออกซิเจนไป ถ้านานก็ส่งผลมากครับ

คำถามข้อที่ 3 อาการที่กัดริมฝีปากนั้นเกิดจากที่สมองขาดออกซิเจนครับ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้ครับ เป็นอาการอย่างหนึ่งของสมองที่ขาดออกซิเจน และน่าจะขาดเป็นเวลานานด้วยครับ

คำถามข้อที่ 4 นั้นผมตอบยากครับ เพราะเราไม่ทราบรายละเอียดว่าหัวใจหยุดเต้นนานหรือไม่ และมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง แต่โดยภาพรวมนะครับ เราจะดูที่สาเหตุการเกิดว่าเป็นจากอะไร รักษาให้หายได้หรือไม่ และเวลาที่ผ่านมาหลังจากเกิดสมองขาดออกซิเจนนานเท่าไหร่แล้ว ถ้าผ่านมานาน 3 เดือน การพัฒนาของสมองคือ 50 % ของที่ดีที่สุดที่จะหาย 6 เดือนคือ 75% ครับ และถ้า 1 ปี ก็เกือบ 100% ครับ ดังนั้นถ้าเพิ่งเกิดเหตุก็มีความหวังสูงครับ แต่ถ้าผ่านมานานก็ไม่ค่อยดีครับ ผมเป็นกำลังใจให้นะครับ สู้ๆๆครับ

Anonymous

7 มีนาคม 2556 11:51:00 #4

ขอบพระคุณ คุณหมอทั้งสองที่กรุณาช่วยคำตอบและให้กำลังใจมากๆเลยนะครับ พอดีผมมีเวลาว่างได้ลงไปดูแลน้าแค่เสาร์ อาทิตย์เพราะวันปกติก็จะทำงาน เนื่องจากอยู่ต่างจังหวัด คอยฟังรายละเอียดอาการจากสามีของน้าและ โทรไปถามอาการของคนไข้จากพยาบาลที่ดูแลวอร์ด ตอนนี้ก็อยู่ห้องนี้ครบสองเดือนแล้วครับ แรกๆก็ยังทำใจไม่ได้ แต่มา ณ ตอนนี้แล้วกำลังใจและความไม่ท้อถอยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ก็จะพยายามช่วยกระตุ้นด้วยการฟังเพลง กระซิบข้างหูบ่อยๆ อาจจะทำให้ดีขึ้น ก็หวังว่าจะมีปาฎิหารย์และสิ่งดีๆเกิดขึ้นครับผม ถ้าวันไหนที่มีปัญหาอีกผมจะขอรบกวนถามคุณหมอทั้งสองอีกคงไม่ว่าอะไรนะครับ

ู^/\^ ขอบคุณมากครับ