กระดานสุขภาพ

ท้องผูก ท้องเสีย มีไข้ หนาวสั่น
Anonymous

17 กุมภาพันธ์ 2562 00:30:17 #1

เวลาประมาณ5ทุ่มจู่ๆก็ปวดท้องบิด ทรมาน เข้าห้องน้ำก็เห็นว่าอุจจาระแข็ง คาดว่าน่าจะท้องผูก หลังจากก้อนแข็งออกมา ก็เปลี่ยนเป็นอุจจาระเป็นน้ำพักใหญ่ พอเรียบร้อยก็กลับมานอนโดยไม่เปิดพัดลม เพราะรู้สึกหนาวๆ นอนเล่นโทรศัพท์ สักพักก็ปวดท้องอีก อุจจาระเป็นน้ำ ออกมานิดเดียว แต่พอเรียบร้อย จะกลับมานอน ก็รู้สึกหนาวมาก สั่นไปทั้งตัว นอนคลุมโปงทั้งตัว ตัวสั่น ปากสั่นไม่หยุด จนรู้สึกปวดแขน จนลามไปทั้งตัว กลัวตัวเองช็อคมาก พยายามหายใจเข้าลึกๆ เพื่อให้ตัวหยุดสั่น ลองๆเสิร์ชหาดู ก็คิดว่า ร่างกายน่าจะขาดน้ำ จะหาเกลือแร่กินตอนนี้ก็ไม่ไหว ตัดสินใจลุกไปดื่มน้ำ2อึกใหญ่ๆ แล้วกลับมานอนคลุมโปรง กลั้นใจหลับไป ตื่นมาประมาณตี4 เหงื่อออกเต็มตัว แต่อาการที่เป็นก็หายไปซะเฉยๆ เพราะอะไรคะ สรุปแล้วหนูเป็นอะไรคะ แล้ววิธีดูแลรักษาที่ถูกต้องควรทำไงคะ
อายุ: 19 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 50 กก. ส่วนสูง: 158ซม. ดัชนีมวลกาย : 20.03 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

20 กุมภาพันธ์ 2562 18:23:32 #2

ท้องเสีย (Diarrhea) หมายถึง การถ่ายอุจจาระเหลว หรือเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน โดยอาจถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูกเลือด ซึ่งเรียกได้อีกชื่อว่า โรคบิดหรือเป็นบิด และเมื่อท้องเสียหายได้ภายใน 2 สัปดาห์เรียกว่า ท้องเสียเฉียบพลัน เมื่อท้องเสียนาน 2 - 4 สัปดาห์เรียกว่า ท้องเสียต่อเนื่อง (Persistent diarrhea) และเมื่อท้องเสียนานมากกว่า 4 สัปดาห์ขึ้นไปเรียกว่า ท้องเสียเรื้อรัง

ท้องเสียโดยทั่วไปมักเกิดจากการกินอาหารและดื่มน้ำปนเปื้อนเชื้อโรคหรือจากรักษามือไม่สะอาด อุจจาระที่ปนเปื้อนจากมือจึงก่อให้เกิดการติดเชื้อได้จากมือสู่ปากโดยตรง หรือในการปรุงอาหารในการสัมผัสอาหาร/น้ำดื่มในขั้นตอนต่างๆ และรวมทั้งในขั้นตอนของการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งโดยทั่วไปท้องเสียจากการติดเชื้อมักเป็นท้องเสียเฉียบพลัน

อาการสำคัญจากท้องเสียคือ การถ่ายอุจจาระตั้งแต่วันละ 3 ครั้ง ส่วนอาการอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วยเช่น ปวดท้อง ปวดมวนท้อง ปวดเบ่ง อ่อนเพลีย นอกจากนั้นขึ้นกับสาเหตุเช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตัว เมื่อเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส หรือถ่ายเป็นมูกเลือด เมื่อเกิดจากติดเชื้อบิด

ทั้งนี้อาการสำคัญที่สุดและอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้รวดเร็วคือ อาการจากร่างกายขาดน้ำ (ภาวะขาดน้ำ) และสูญเสียเกลือแร่ที่ออกร่วมมาในอุจจาระ

อาการสำคัญของการขาดน้ำในผู้ใหญ่ที่สำคัญคือ

• กระหายน้ำมาก

• ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะมีสีเหลืองเข็มจัด

• ปากแห้ง ลิ้นแห้ง ผิวแห้ง เมื่อเป็นมากตาจะลึกโหล เพราะเนื้อเยื่อรอบๆตาขาดน้ำไปด้วย

• เมื่อขาดน้ำมากรุนแรงจะวิงเวียน มึนงง กระสับกระส่าย และช็อกในที่สุด

อนึ่ง อาการขาดน้ำในเด็กส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับในผู้ใหญ่ ยกเว้นในเด็กอ่อนซึ่งมักไม่มีปัสสาวะเลย กระหม่อมจะบุ๋มลึก และไม่มีน้ำตาเมื่อร้องโยเยหรือร้องไห้

แนวทาางการรักษาท้องเสียคือ การรักษาและป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยดื่มไม่ได้ หรือท้องเสียรุนแรง อาจเป็นการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ แต่ถ้ายังกิน/ดื่มได้ การรักษา คือ การดื่มน้ำหรือดื่มน้ำเกลือแร่ซึ่งเป็นยาผงละลายน้ำที่ทั่วไปเรียกว่า ยาโออาร์เอส (ORS, Oral rehydration salts) นอกจากนั้นคือ การรักษาตามสาเหตุเช่น อาจให้ยาปฏิชีวนะเมื่อเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาบรรเทาปวดท้อง หรือยาลดไข้

โดยทั่วไป แพทย์มักไม่แนะนำการกินยาหยุดท้องเสีย เพราะการถ่ายอุจจาระเป็นวิธีหนึ่งที่ร่างกายใช้กำจัดเชื้อโรคและ/หรือสารพิษจากเชื้อโรคออกจากร่างกาย อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์

การดูแลตนเอง/การพบแพทย์เมื่อท้องเสียคือ

• พักผ่อน หยุดงาน หรือหยุดเรียน

• ดื่มน้ำมากๆ ดื่มน้ำผงเกลือแร่ เมื่อถ่ายเป็นน้ำหรือรู้สึกปากแห้ง

• กินอาหารอ่อน อาหารเหลว หรืออาหารรสจืด

• ยังไม่ควรกินยาหยุดท้องเสียด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว อาจกินยาลดไข้ บรรเทาอาการปวดท้อง

• รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

• ควรรีบพบแพทย์เมื่อ

• มีอาการร่างกายขาดน้ำดังกล่าว

• อาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 2 วัน (ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ควรพบแพทย์เมื่ออาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 1 วัน)

• ปวดท้องมาก และ/หรือ คลื่นไส้ อาเจียน และ/หรือ ตัว/ตาเหลือง

• มีไข้สูง

• อุจจาระเป็นมูก หรือมูกเลือด หรือมีสีดำและเหนียวเหมือนยางมะตอย (อาการของการมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร)