กระดานสุขภาพ

การกินยาคุมไดแอน 35
Aekk*****s

31 ตุลาคม 2561 08:29:44 #1

1.ยาคุมไดแอนเป็นชนิดฮอร์โมนรวมหรือฮอร์โมนเดี่ยวครับ   2.ถ้าเกิดเรากินแผงแรก ทุกวันเวลา 22.00  ถ้าเริ่มแผงสอง เราสามารถกินตอน 12.00 ได้ไหมครับ หรือ ต้องกิน 22.00 เหมือนแผงแรก

อายุ: 20 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 43 กก. ส่วนสูง: 158ซม. ดัชนีมวลกาย : 17.22 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

3 พฤศจิกายน 2561 17:18:07 #2

เรียน คุณ aekkk00s,

จากคำถามลงท้ายด้วยครับ เข้าใจว่าคงสอบถามแทนแฟนของคุณ ขอแยกตอบตามประเด็นนะครับ

1. ยาคุมยี่ห้อ D... เป็นชนิดฮอร์โมนรวมนะครับ ฮอร์โมนเดี่ยวจะมีฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว ซึ่งเหมาะสำหรับหญิงที่กำลังให้นมบุตร ส่วนยาคุมฮอร์โมนชนิดรวม จะมีฮอร์โมนเพศทั้งสองชนิดคล้ายกับในธรรมชาติ คือมีทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน คล้ายกับฮอร์โมนเพศ โดยจะมีตัวยาเท่ากันทั้ง 21 เม็ด

เมื่อรับประทานยาครบ 21 เม็ด ก็ให้เว้นยา 7 วัน แล้วจึงเริ่มรับประทานแผงใหม่ สามารถรับประทานเพื่อคุมกำเนิด เพื่อการรักษา เช่น มีชอคโกแลตซิสต์ ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือเพื่อทำการปรับรอบประจำเดือน ฯ

2. สามารถปรับเปลี่ยนเวลาในการรับประทานแต่ละแผงได้ แต่ควรรับประทานยาแต่ละเม็ดในแผงในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อให้ระดับยาค่อนข้างคงที่ตลอดวัน เพื่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด และป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เช่น มีเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างเดือน เป็ฯต้น

ขอแนะนำเพิ่มเติม ในการรับประทานยาคุมกำเนิดที่ถูกต้อง

- รับประทานยาสม่ำเสมอ ในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวัน เพื่อให้ระดับยาในเลือดค่อนข้างคงที่ตลอดวัน แนะนำให้เป็นเวลาก่อนเข้านอน เพื่อป้องกันอาการเวียนศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง และป้องกันการลืมรับประทานยา

- รับประทานยาทุกชนิดด้วย "น้ำเปล่าสะอาด" เท่านั้น เนื่องจากเครื่องดื่มบางชนิดจะทำให้ตัวยามีการละลายลดลง เกิดการตกตะกอน ร่างกายจึงไม่สามารถดูดซึมตัวยาได้ เช่น ชา (ชาเขียว ชาขาว ชาแดง ชานม) กาแฟ โกโก้ นม (รวมถึงโยเกิร์ตพร้อมดื่ม) น้ำนมถั่วเหลือง โซดา น้ำอัดลม ฯ หรือน้ำผลไม้บางชนิดจะกระตุ้นให้ตับที่เป็นแหล่งเผาผลาญหรือกำจัดยา ผลิตเอนไซม์หรือน้ำย่อยที่ใช้กำจัดยาเพิ่มมากขึ้น ร่างกายจึงกำจัดยาได้มากขึ้นหรือเร็วขึ้น จนเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้ เช่น น้ำเกรปฟรุต (จำพวกเดียวกับส้มโอ) น้ำส้มคั้น น้ำแอปเปิ้ล น้ำแครนเบอร์รี่ ฯ

- "ก่อน" การซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆมาใช้ร่วมกัน ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เนื่องจากอาจเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา หรือที่เรียกง่าย ๆว่า "ยาตีกัน" จนเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือยาที่ใช้ในการรักษาไม่ได้ผลตามต้องการ

หากมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้านได้ทันที ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจต้องมีการสอบถามข้อมูลสำคัญอื่น ๆเพิ่มเติม เช่น โรคประจำตัว ภาวะการทำงานของตับหรือไต หรืออาจช้าเกินไป ไม่ทันเวลา เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้


เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

  • การคุมกำเนิด (Contraception)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
  • แพทย์หญิง กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา
  • สูตินรีแพทย์
  • ยาลดประสิทธิภาพยาคุมกำเนิด (Common medications that reduce efficacy of birth control medications)
  • ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม