กระดานสุขภาพ

การกินยาคุมกับน้ำอย่างอื่น
Bc24*****7

29 มีนาคม 2561 12:41:45 #1

กินยาคุมปกติกับน้ำเปล่าค่ะ แต่อยากทราบว่าเราสามารถดื่มน้ำอย่างอื่นได้ปกติรึเปล่าโดยไม่ได้กินพร้อมกับยาคุมนะคะ บางคนเค้าก็บอกห้ามดื่มนม น้ำผลไม้อ่ะค่ะ หนูอยากรู้ว่า น้ำอะไรบ้างคะที่สามารถลดประสิทธิภาพของยา แตงกวา แครอท แตงโม้ หรือของเปรี้ยว ลดมั้ยคะ
อายุ: 21 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 46 กก. ส่วนสูง: 163ซม. ดัชนีมวลกาย : 17.31 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

31 มีนาคม 2561 15:05:30 #2

เรียน คุณ bc2427,

ก่อนตอบคำถามของคุณ ต้องแยกทำความเข้าใจก่อนนะครับ ว่าการรับประทานยา จะมีการรับประทานยา "พร้อม" หรือ "ด้วย" น้ำชนิดต่าง ๆ และอีกส่วนหนึ่งคือรับประทานยา "ร่วมกับ" น้ำชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีความหมายแตกต่างกันนะครับ ได้แก่

  • - การรับประทานยา ด้วย หรือ พร้อม กับน้ำเปล่า คือใช้น้ำเปล่าในการรับประทานยา จะเป็นการรับประทานยาไปพร้อมกับเครื่องดื่มนั้น ๆ ส่วนใหญ่เครื่องดื่มที่มีข้อควรระวัง มักทำให้ตัวยามีการละลายลดลง เกิดการตกตะกอนในทางเดินอาหาร ร่างกายจึงไม่สามารถดูดซึมได้ เช่น ชา (ชานม ชาเขียว ชาแดง ชาขาว) กาแฟ โกโก้ นม น้ำเต้าหู้ โยเกิร์ต โซดา น้ำอัดลม หรือตัวยาบางชนิด น้ำแร่ก็เป็นข้อห้ามด้วยเช่นกัน
  • ส่วนใหญ่ข้อควรปฏิบัติสำหรับเครื่องดื่มในข้อนี้ คือ ควรรับประทานยาก่อนเครื่องดื่มดังกล่าวประมาณ 2 ชั่วโมง หรือหากดื่มเครื่องดื่มดังกล่าวไปแล้ว ควรรับประทานยาหลังจากดื่มอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เพื่อลดการเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน
  • - การรับประทานยา "ร่วม" กับ เครื่องดื่มอื่นใด หมายถึงว่าในช่วงที่มีการรับประทานยา ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีข้อห้าม หรือข้อควรระวัง เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น ยับยั้งไม่ให้เอนไซม์ตับ หรือน้ำย่อยที่ใช้เผาผลาญทำงาน จึงกำจัดยาได้น้อยลงจนอาจทำให้เกิดอาการพิษจากยา หรือเร่งการสร้างเอนไซม์ที่ตับ จนกำจัดยาได้มากหรือเร็วขึ้น จนตัวยาไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ เช่น น้ำเกรปฟรุต (จำพวกส้มโอ) น้ำส้มคั้น น้ำแอปเปิ้ล น้ำแครนเบอร์รี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเป็นข้อควระวังทัวไป ต้องมีการพิจารณาความเหมาะสมของการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นครั้ง ๆไป มีข้อจำกัดในผู้ป่วยพิเศษบางประเภท เช่น ผู้ป่วยสูงอายุทีทมีการทำงานของกระเพาะอาหารผิดปกติ อาจต้องรับประทานยาร่วมกับน้ำอัดลมหรือน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เพื่อช่วยการละลายของตัวยา

ดังนั้นหากมีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรร้านยาใกล้บ้านได้ทันที "ก่อน" การใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใด ๆ ไม่ควรรอคำตอบจากทางหน้าเว็บ เนื่องจากอาจช้าไป ไม่ทันการ เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อสุขภาพจนอาจพิการหรือเสียชิวิตได้


เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล


แนะนำบทความดีๆ เพื่อศึกษาเพิ่มเติมที่


ปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction)

เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร

http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/236/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99-%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99