กระดานสุขภาพ

ขอคำแนะนำการหยุดยา propranolol ครับ
Anonymous

16 มีนาคม 2560 10:32:59 #1

ตอนนี้ผมเรียนต่อที่ต่างประเทศครับ เมื่อกุมภาที่ผ่านมาพอดีปิดเทอมกลับไทย มีอาการใจสั่นไม่ทราบสาเหตุ วัดชีพจรที่รพ.ได้ 125(คลื่นหัวใจปกติ ไทรอยด์ปกติ )หมอให้ยา propranolol 10 mg มาทาน1เม็ด เช้าเย็น พร้อมให้ประเมินตัวเอง วันไหนชีพจรต่ำกว่า100ให้ทานเฉพาะเช้า2สัปดาห์ จากนั้นให้ทานครึ่งเม็ดไปเรื่อยๆ แล้วพิจารณาหยุดยา ตอนนี้ผมไม่มีอาการใจสั่นแล้ว ชีพจรคงที่60-80 ลดขนาดยาเหลือ1เม็ดครบ2สัปดาห์แล้ว ตอนนี้พึ่งทานครึ่งเม็ดได้1สัปดาห์ อยากถามผู้รู้ว่า สามารถหยุดเลยได้หรือไม่ หรือต้องทานไปอีกสักพัก ปล1.การหยุดยานี้อาจมีผลข้างเคียงอันตราย เลยไม่กล้าหยุดเอง กลัวจะได้เข้า รพ.ที่นี่ แพงหูฉี่เลย ปล2.ผมไม่ได้ขอวิธีติดต่อแพทย์ที่สั่งยาให้ผมมาครับ
อายุ: 20 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 62 กก. ส่วนสูง: 173ซม. ดัชนีมวลกาย : 20.72 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

22 มีนาคม 2560 05:13:19 #2

ในกรณีของคุณ หากแพทย์ตรวจร่างกายโดยละเอียดแล้ว ไม่พบว่ามีความผิดปกติทางกายภาพหรือเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ หรือภาวะธัยรอยด์เป็นพิษ

อาจเกี่ยวกับภาวะตื่นตระหนกหรือวิตกกังวล ในบางเรื่อง โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ โดยส่วนใหญ่มักสามารถควบคุมร่างกายหรือภาวะเครียดได้เอง แต่ในบางรายอาจไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีความกลัวหรือวิตกกังวลร่วมด้วย เช่น ตืนเต้นก่อนขึ้นพูดหรือแสดง หรือบางรายอาจเป็นขณะขับรถเร็วกว่าที่เคยเกิดอุบัติเหตุ (เกรงว่าจะเกิดเหตุซ้ำอีก) เป็นต้น
ในทางการแพทย์มักให้ยาที่ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ที่นิยมใช้บ่อยคือ propranolol 10 mg เนื่องจากออกฤทธิ์เร็ว และออกฤทธิ์ได้ 6-8 ชั่วโมง กลับมาที่คำถามของคุณ

1. หากชีพจร "มากกว่า" 100 ครั้งต่อนาที ก็ให้รับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ จากนั้นค่อย ๆปรับลดขนาดยาลงได้ทุก สัปดาห์ จนไม่มีอาการอีก ก็ให้หยุดรับประทานยาได้เลยครับ เนื่องจากคุณไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง

2. โดยส่วนใหญ่ หากอาการไม่ได้เป็นซ้ำบ่อย ๆ หรือเกิดเฉพาะช่วงเวลา ก็ให้รับประทานยาเพียง 1-2 วัน แล้วก็หยุดได้เลยครับ ทั้งนี้ควรเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท เช่น ชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม(น้ำดำ) เป็นต้น เพราะจะกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วได้อีกด้วย หรือให้หมั่นสังเกตว่าเป็นเฉพาะช่วงเวลาใด เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดการกระตุ้น เช่น มักเป็นเวลาก่อนเข้าสอบ หรือต้องนำเสนอหน้าผู้ฟังจำนวนมาก หรือมีอาจารย์/พ่อแม่ คอยกดดัน เป็นต้น

เป็นกำลังใจให้ครับ

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

โพรพราโนลอล (Propranolol)
เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร

โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
นพ.ทรงภูมิ เบญญากร
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

ตื่นตระหนกเกินไปนะ (ตอนที่ 1)
โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล