กระดานสุขภาพ

รบกวนขอคำแนะนำเกี่ยวกับการกินวิตามินเสริมด้วยครับ
Anonymous

14 มกราคม 2556 11:19:39 #1

ผมไม่มีประวัติโรคประจำตัวอะไรยกเว้นแต่มีไขมันในเลือดค่อนข้างสูงครับ แต่คุณพ่อมีประวัติเป็นโรคหัวใจและเส้นเลือดในสมองอุดตัน 

ตอนนี้ผมทานวิตามินซี1000 mg และวิตามินB-100 ซึ่งเป็นวิตามินบีรวม (ช่วยในเรื่ิอง promote energymetabolism, support heart health และrelieves stress) หลังอาหารเช้า มีคนแนะนำให้ทาน fish oil และ CoQ10 เสริม ไม่ทราบว่าควรทานวิตามินพวกนี้พร้อมกันหลังอาหารเช้าทั้งหมด หรือควรจะแยกทานระหว่างมื้ออย่างไรดีครับ รบกวนคุณหมอช่วยแนะนำด้วย ขอบคุณครับ

 

 

อายุ: 31 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 70 กก. ส่วนสูง: 172ซม. ดัชนีมวลกาย : 23.66 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

15 มกราคม 2556 15:33:15 #2

เรียน คุณ 78ede,

จากข้อมูลส่วนบุคคลที่คุณให้มา หากจะรับประทานวิตามินเสริม แนะนำให้ที่ผ่านการรับรองของสำนักงานอาหารและยา
มีตราเครื่องหมาย อ.ย. เลขที่ครบถ้วน เพื่อความแน่ใจ จะลองค้นหาจากเว็บของ อ.ย. อีกครั้งก็ได้ครับ ใส่เลขทะเบียนลงไป ถ้ามีข้อมูล ก็แสดงว่าผ่านการขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฏหมาย ระยะสั้น ๆ คงไม่มีผลเสียอย่างใด เพียงแต่ประโยชน์ระยะยาว คงไม่เท่ากับการรับประทานที่ถูกต้อง ครบทุกหมวดหมู่ เนื่องจากโดยธรรมชาติ วิตามินหรือเกลือแร่ เราไม่ได้รับเดี่ยว ๆ มักจะมีสารอื่น ๆในธรรมชาติช่วยให้ดูดซึมและนำไปใช้ได้ง่ายขึ้น เช่น วิตามินซี ธรรมชาติ จะมี สารฟลาโวน หรือ ฟลาโวนอยด์ ช่วยให้มีการนำไปใช้ได้อย่างเต็มที่

อยากให้อ่านบทความเรื่อง วิตามิน ที่ เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร ได้ให้เกียรติเขียนไว้เพื่อศึกษานะครับ

ขออนุญาตคัดลอกมาเฉพาะที่เกี่ยวข้อง >>  http://haamor.com/th/วิตามิน/

วิตามิน บี1 (B1)

ชื่อทางเคมี ไทอามีน (Thiamine)

ความต้องการ/วัน ในผู้ชาย อายุ 19 – 70 ปี 1.2 มิลลิกรัม

แหล่งอาหารที่พบวิตามิน
ข้าวกล้อง ถั่ว งา จมูกข้าวสาลี นมถั่วเหลือง เนื้อหมู เมล็ดทานตะวัน

อาการขาดวิตามิน
เหน็บชา

ปริมาณสูงสุดที่ร่างกายได้รับ ไม่ควรเกิน/วัน ไม่ระบุ

อาการที่ได้รับวิตามินเกิน
ง่วงนอน กล้ามเนื้อคลายตัว

วิตามิน ซี (C)

ชื่อทางเคมี แอสคอบิก แอซิด (Ascorbic Acid)

ความต้องการ/วัน ในผู้ชาย อายุ 19 – 70 ปี 90 มิลลิกรัม

แหล่งอาหารที่พบวิตามิน
ส้ม ฝรั่ง สัปปะรด พริก แตงโม บรอกโคลี่ กระหล่ำดอก มะนาว กล้วยต่าง ผักโขม สตอเบอร์รี มะเขือเทศ มะละกอ

อาการขาดวิตามิน
เลือดออกตามไรฟัน เบื่ออาหาร อ่อน เพลีย ปวดตามข้อ เจ็บกระดูก

ปริมาณสูงสุดที่ร่างกายได้รับ ไม่ควรเกิน/วัน 2,000 มิลลิกรัม

อาการที่ได้รับวิตามินเกิน
การรับประทานเกิน 1000 มก./วัน อาจทำให้ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาจเพิ่มการสะสมธาตุเหล็กตามกระดูกและข้อ เกิดข้ออักเสบ นิ่วยูริคในปัสสาวะ

ส่วน Fish oil มีกรดไขมันจำเป็น ที่เราเรียกกันง่าย ๆว่า โอเมก้า 3, 6 หรือ 9 แล้วแต่ประเภทของปลาทะเลที่เขานำมาสกัด

ประโยชน์ ช่วยลดอาการอักเสบ ลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ป้องกันหลอดเลือดอุดตัน ลดไขมันไตรกลีเซอไรด์
หากรับประทานเกินขนาด อาจเกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุดได้ หรือพบการเพิ่มของ LDL ซึ่่งเป็นไขมันตัวไม่ดีได้

Coenzyme Q10 เป็นสารที่จำเป็นของร่างกายมีลักษณะคล้ายเป็นวิตะมิน มีโครงสร้างเหมือนวิตะมิน K โดยจะพบที่ในเยื่อหุ้มของไมโตคอนเดรีย (หน่วยให้พลังงานของเซลล์) ที่อยู่ที่หัวใจ ตับ ไต และตับอ่อน และเป็น antioxidant
ผลต่อหัวใจ มีประโยชน์ในการป้องกันการถูกทำลายของเซลในระหว่างที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

ประโยชน์ที่มักกล่าวอ้าง คือช่วยให้เซลล์ร่างกายนำพลังงานไปใช้ได้ดีขึ้น antioxidantแต่ที่มีการทดลองทางคลินิกมากสุด คือการนำไปใช้ช่วยเสริมในการรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจวายเพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจทำงานหนักเพิ่มขึ้น สามารถพบ Co-Q10 ได้ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน เครื่องในสัตว์ ไข่ ถั่วเปลือกแข็ง ข้าวกล้อง และงา

ข้อเสนอแนะ

1. หากจะรับประทานน้ำมันปลา เพื่อป้องกันหลอดเลือดอุดตัน หรือลดไขมันในเลือด แนะนำให้รับประทานปลาทะเลจะดีกว่า นอกจากจะได้น้ำมันปลาตามธรรมชาติแล้ว ยังได้โปรตีนที่ดี ย่อยง่าย หากรับประทานแบบนึ่ง ต้ม หรือย่าง ร่วมกับสลัด ก็จะช่วยลดน้ำหนักลงได้อีกด้วยนะครับ

ดูจาก BMI ของคุณแล้ว หากลดน้ำหนักลงให้อยู่ในเกณฑ์ ก็จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้อีกครับ
ควรพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายว่า คุณมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ชนิดแตก หรือ ตีบ เนื่องจากหากมีความเสี่ยงต่อการตีบ ก็จะได้ประโยชน์ แต่ถ้าเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองแตก จะกลายเป็นยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเลือดออกในสมองมากขึ้น

2. Coenzyme Q10 ยังไม่มีรายงานการนำไปใช้เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจนะครับ มีแต่การนำไปใช้รักษา ยกเว้นคุณต้องการจะรับประทานเพื่อเป็น antioxidant ซึ่งวิตามินซีหรืออี ตามธรรมชาติ ก็มีคุณสมบัตินี้อยู่แล้ว

3. วิตามินซี หากต้องการจะรับประทานเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ควรรับประทานแบ่งเป็นหลาย ๆมื้อจะดีกว่านะครับ เนื่องจากเป็นวิตามินที่ละลายน้ำ ร่างกายสามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้จำกัด ดังนั้น หากรับประทานขนาดสูง ๆเพียงครั้งเดียว ส่วนที่เหลือจะถูกกำจัดออกทางปัสสาวะ เช่น 500 มิลลิกรัม เช้า เย็น หลังอาหาร เพื่อลดอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ หรือ ปวดท้องได้ เนื่องจากวิตามิน ซี มีคุณสมบัติเป็นกรด (อีกชื่อหนึ่ง คือ กรดแอสคอร์บิค)

4. วิตามินบีรวม หากคุณรับประทานได้ตามปกติ ไม่จำเป็นที่จะต้องเสริมเลยนะครับ หากคุณต้องการให้ช่วยเรื่อง promote energy metabolism ก็ต้องออกกำลังกายเสริมด้วยนะครับ เพราะวิตามินไม่สามารถช่วยในการออกกำลังกายแทนคุณได้

สรุปนะครับ ไม่จำเป็นต้องเสริมวิตามินอื่น ขอให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยส่วนของคุณน่าจะปรับลดในส่วนของ แป้งและไขมันลง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ส่วนของโปรตีน เน้นจากเนื้อปลาทะเล แต่หากคุณยังต้องการรับประทานเอง ขอแนะนำให้เป็นหลังอาหารนะครับ เนื่องจากแต่ละตัวมีอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้องได้ ส่วนจะรวมมื้อเดียว หรือ แยกมื้อ ก็ไม่แตกต่างกันครับ

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล