กระดานสุขภาพ

ทานยามิราซิดมาหลายเดือน
Toss*****7

22 มกราคม 2559 10:44:57 #1

คือไปหาหมอมาหมอให้ยามิราซิดมากิน กินเช้าเย็น บางวันก็กินเช้าอย่างเดียว อยากถามว่าถ้าทานเช้าเย็นทุกวันจะอันตรายไหมครับยาตัวนี้
อายุ: 20 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 58 กก. ส่วนสูง: 164ซม. ดัชนีมวลกาย : 21.56 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
ภก.ประดิษฐ์ งามศิริผล

เภสัชกร

28 มกราคม 2559 10:48:01 #2

ก่อนตอบคำถามของคุณ ขออนุญาตให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวยา Omeprazole (โอเมพราโซล) ที่มีชื่อการค้าว่า Miracid ที่คุณใช้อยู่

ตัวยามีคุณสมบัติยับยั้งการหลั่งกรด ซึ่งแตกต่างจากยาลดกรดชนิดเม็ดหรือน้ำทั่วไป ที่ออกฤทธิ์เป็นเวลาสั้น ๆ
ข้อบ่งใช้
- รักษาแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น รับประทานยาติดต่อกัน 2-4 สัปดาห์
- รักษาแผลในกระเพาะอาหาร รับประทานยาติดต่อกัน 4-8 สัปดาห์
- รักษาภาวะกรดไหลย้อน รับประทานยาติดต่อกัน 8-12 สัปดาห์
- ป้องกันการระคายเคืองจากการรับประทานยาต้านอาการปวดและอักเสบ บวม (NSAIDS) ใช้เฉพาะเมื่อมีการรับประทานยาร่วมกัน

แต่โดยส่วนใหญ่แพทย์มักให้เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดแผลในทางเดินอาหาร เช่น สูงอายุ มากกว่า 65 ปี หรือต้องรับประทานยาบรรเทาปวดติดต่อกันเป้นเวลานาน ๆ
ขนาดยาที่ใช้ รับประทานยาครั้งละ 1 แคปซูล (เม็ด) วันละ 1-2 ครั้ง ก่อนอาหาร 30 นาที เพื่อให้ตัวยาได้ดูดซึมและออกฤทธิ์เร็วขึ้น

คำแนะนำเพิ่มเติม : ยานี้ถูกเคลือบพิเศษให้แต่ละแกรนูล (เม็ดยาเล็ก ๆด้านใน) ให้ค่อย ๆละลายและปลดปล่อยตัวยาบริเวณลำไส้เล็ก

ดังนั้นจึงห้ามบดหรือเคี้ยวแกรนูลยา และไม่ควรรับประทานยานี้พร้อมกับนมหรือยาลดกรดเคลือบกระเพาะ เนื่องจากจะทำให้ตัวยาถูกปลดปล่อยออกมาก่อนถึงบริเวณที่ต้องการให้ยาออกฤทธิ์ นอกจากนี้ตัวยายังถูกทำลายได้ง่ายจากกรดในกระเพาะอาหารอีกด้วย

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก/ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นคัน

กลับมาที่คำถามของคุณ

- วิธีการรับประทานยาต้องขึ้นกับโรคที่คุณเป็นและความรุนแรงของโรคว่าเป็นมากน้อยเพียงใด เป็นช่วงระยะแรกของการรักษาหรือเป็นระยะเรื้อรัง ต้องมีการใช้ยาขนาดต่ำ ๆติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค

- ระยะเวลาการใช้ยา ต้องขึ้นกับการวินิจฉัยของแพทย์ หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินที่กำหนด อาจต้องมีการตรวจส่องกล้องเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเป็นเวลานาน ๆ โดยที่ไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจบดบังอาการของโรคอื่น จนเกิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
ทั้งนี้นอกจากการรับประทานยาอย่างครบถ้วนและถูกต้องตามที่แพทย์สั่งจ่ายแล้วนั้น ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดแผลในทางเดินอาหารด้วย ได้แก่

- การรับประทานอาหารที่สะอาด มีประโยชน์ สารอาหารครบถ้วน เน้นผักสด ผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด เลือกโปรตีนชนิดที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่(ไม่เอาหนัง) ไม่รับประทานอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เค็มจัด

- งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม)

- พยายามไม่เครียด ทั้งเรื่องเรียน/ทำงาน ไม่นอนดึก หรืออดนอนบ่อย ๆ ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียด

-คอร์ติซอลที่เป็นสารจำพวกสเตียรอยด์ ที่ทำลายเมือกที่เคลือบทางเดินอาหารแล้ว ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้คอลลาเจนถูกทำลาย เซลล์ประสาทหดตัว ขาดการเชื่อมต่อระหว่างกัน จึงเป็นสาเหตุของผิวหนังเหี่ยวย่น ความจำไม่ค่อยดี หลง ๆลืม ๆได้ง่าย

เภสัชกรประดิษฐ์ งามศิริผล

แนะนำบทความดี ๆจากกองบรรณาธิการของเราที่

ยาโอเมพราโซล (Omeprazole)
เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร

กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์

แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์