กระดานสุขภาพ

ศรีษะเป็นเชื้อราหรือโรคอย่างอื่นกัน
Anonymous

10 มิถุนายน 2559 03:23:01 #1

บริเวณบนหนังศีรษะจะมีตุ่มนูน ถ้าสัมผัสจะรู้สึกเหมือนเป็นสะเก็ดลักษณะไม่เรียบและมีเส้นผมหักอยู่บริเวณตุ่มนี้ด้วย พอถึงเวลาตุ่มนี้จะมีลักษณะที่หนาขึ้นเมื่อเอามือไปเกาจะได้เป็นเเผ่นเหมือนหนังศีรษะที่ลอกออกซึ่งแตกต่างจากรังแคที่หลุดลอกมาเป็นแผ่น พอแผ่นบริเวรตุ่มถูกเกาให้ลอกออกมาบริเวรนั้นจะรู้สึกเจ็บๆทั้งเอามือไปกดหรือไมกด ตอนสระผมจะรู้สึกแสบนิด แล้วอาการนี้ยังมีรังแคที่เป็นปัญหาอีกด้วย ดิฉันจึงอยากถามคุณหมอว่าดิฉันเป็นโรคอะไรคะและอาการรุนแรงมากหรือไม่
อายุ: 20 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 50 กก. ส่วนสูง: 164ซม. ดัชนีมวลกาย : 18.59 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
รศ.พญ.เปรมจิต จันทองจีน

แพทย์โรคผิวหนัง

13 มิถุนายน 2559 02:59:56 #2

จากประวัติ เหมือนเป็นขุยสะเก็ดที่หนังศีรษะมาก ซึ่งโดยทั่วไปจำเป็นต้องมีการตรวจร่างกาย เพื่อให้ทราบว่า ขุยที่หนังศีรษะนี้เป็นโรคอะไร ที่พบบ่อยคือ กลุ่มขุยรังแค โรคเซ็บเดิร์ม และอีกโรคคือ ขุยสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ ทั้งนี้ โรคทั้งสองนี้ มีการดำเนินโรค และการรักษาที่แตกต่างกัน ส่วนเชื้อรา มักเป็นลักษณะขุยสะเก็ดหนาเป็นหย่อม ๆ อาจมีผมร่วงร่วมด้วยได้ แต่มักพบในเด็ก จึงคิดถึงน้อย

ขุยบนหนังศีรษะของโรคสะเก็ดเงิน มักเป็นขุยสีขาวหนา มีขอบเขตชัดเจนบนหนังศีรษะ อีกทั้งส่วนมากจะมีปื้นขุยเลยขอบไรผมได้ อาจมีอาการคันร่วมด้วย แต่โดยทั่วไปไม่ทำให้ผมร่วง ในขณะที่ขุยรังแคทั่วไป มักไม่หนานัก ไม่เห็นขอบเขตชัดเจน ไม่เป็นแนวเลยไรผม และอาจทำให้ผมร่วงได้

การรักษาโรคขุยบนหนังศีรษะของโรคสะเก็ดเงิน
1. หลีกเลี่ยงการแกะเกา
2. หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา แอลกอฮอล์ เพราะเป็นสิ่งกระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินเห่อได้ ทั้งในส่วนของผิวหนังและหนังศีรษะ
3. ทำให้สบาย พักผ่อนออกกำลังกาย เลี่ยงความเครียด อดนอน
4. หมักละลายขุยที่หนังศีรษะ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว หรือยาละลายขุยในกลุ่มกรดซาลิไซลิก โดยอาจหมักน้ำมันไว้ที่หนังศีรษะ แล้วคลุมด้วยถุงพลาสติกครอบหนังศีรษะข้ามคืน แนะนำให้ทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
5. การใช้แชมพู เช่นแชมพูกลุ่มน้ำมันดิน แชมพูฆ่าเชื้อรา หรือแชมพูกลุ่มที่มีสารลดการอักเสบร่วมด้วย เพื่อลดอาการอักเสบของหนังศีรษะสระผม อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
6. การทายาเฉพาะที่ ซึ่งมักเป็นยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินดี เพื่อลดอาการอักเสบของหนังศีรษะ อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้มักมีข้อจำกัดในการใช้ กล่าวคือ ไม่ควรใช้นานเกิน 2 สัปดาห์ และควรใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
7. การรักษาอื่น ๆ เช่นการรับประทานยา การฉีดยาชีวภาพ การฉายแสงรังสีอัลตร้าไวโอเลตเฉพาะที่ ซึ่งการรักษาเหล่านี้ มักใช้ในกรณีที่มีอาการมาก หรือมีอาการร่วมกับระบบอื่น ๆ ของร่างกาย หรือเป็นผื่นที่ดื้อต่อการรักษา ทั้งนี้ จำเป็นต้องได้รับการแนะนำ และควบคุมจากแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญ

สำหรับในกรณีนี้ อาจยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนค่ะ ว่าเป็นผื่นรังแคทั่วไป หรือเป็นผื่นขุยสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ เพราะยังไม่ได้รับการตรวจร่างกาย แนะนำไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และให้การวินิจฉัยที่ชัดเจนก่อนจะดีที่สุดค่ะ