กระดานสุขภาพ

เส้นเลือดขอด
Anonymous

9 สิงหาคม 2563 12:53:09 #1

มีอาการเจ็บปวด มีนูนๆ ที่เส้นเลือดขอด ควรรักษาอย่างไร
อายุ: 46 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 76 กก. ส่วนสูง: 167ซม. ดัชนีมวลกาย : 27.25 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

15 สิงหาคม 2563 07:36:45 #2

  • หลอดเลือดขอด หรือหลอดเลือดดำขอด (Varicose vein) เป็นโรคที่เกิดจากการมีเลือดดำคั่งในหลอดเลือดดำจึงส่งผลให้หลอดเลือดดำยืดตัว โป่งพอง และขดไปมา ซึ่งโรคนี้เกิดกับหลอดเลือดดำได้ทั่วร่างกายเช่น หลอดเลือดดำของหลอดอาหาร หลอดเลือดดำของอวัยวะเพศหญิง และหลอดเลือดดำในถุงอัณฑะ เป็นต้น แต่ที่พบบ่อยคือ เกิดกับหลอดเลือดดำของขา
  • กลไกการเกิดหลอดเลือดขอด เกิดจากการเสื่อมประสิทธิภาพของลิ้น (Valve) ที่มีอยู่หลากหลายลิ้นในหลอดเลือดดำของขา ซึ่งลิ้นเหล่านี้มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการไหลเวียนของเลือดดำ โดยการปิดกั้นไม่ให้เลือดดำจากขาซึ่งจะต้องไหลย้อนต้านแรงโน้มถ่วง/แรงดึงดูดของโลกเพื่อนำเลือดดำกลับเข้าสู่หัวใจ (ผ่านทางหลอดเลือดดำขาที่อยู่ตื้นๆที่อยู่ลึกๆที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานและในช่องท้องตามลำดับ) ไหลย้อนกลับลงมาคั่งในขา
  • ดังนั้นถ้าลิ้นเหล่านี้เสื่อมประสิทธิภาพ การไหลเวียนของเลือดดำจึงเสียไปก่อให้เกิดเลือดดำคั่งในหลอดเลือดดำขาเรื้อรังจึงเกิดแรงดันในหลอดเลือดดำนั้นๆสูงขึ้นเรื้อรังตามไปด้วย ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดดำยืด โป่ง หย่อน เกิดเป็นหลอดเลือดขอดขึ้น
  • การเสื่อมประสิทธิภาพของลิ้นหลอดเลือดอาจเกิดจากลิ้นเสื่อมหรือจากลิ้นปิดไม่สนิทหรือ ทั้ง 2 สาเหตุร่วมกัน
  • สาเหตุที่ทำให้ลิ้นหลอดเลือดดำเสื่อมเช่น จากการเสื่อมตามอายุหรือตามพันธุกรรม
  • แต่ถ้ามีการเพิ่มความดันเรื้อรังในหลอดเลือดดำจากสาเหตุต่างๆเช่น ยืนนานๆ หรือมีการอุดกั้นทางเดินของเลือดดำเช่น การกดทับหลอดเลือดดำจากก้อนเนื้อหรือจากก้อนมะเร็งในอุ้งเชิงกราน หรือมีการเพิ่มความดันในช่องท้องเช่น จากโรคอ้วนจากการตั้งครรภ์ หรือจากท้องผูก เรื้อรัง จะส่งผลให้มีเลือดคั่ง ผนังหลอดเลือดดำจึงยืดขยายโป่งออก ส่งผลให้ลิ้นในหลอดเลือดไม่สามารถปิดกั้นได้สนิท จึงส่งผลให้การไหลเวียนเลือดดำลดลงเรื้อรัง เกิดการคั่งของเลือดดำในหลอดเลือดดำเรื้อรังหลอดเลือดดำจึงยิ่งยืดขยาย โป่งพอง
  • พยาธิสภาพทั้งหมดดังกล่าววนเวียนเป็นวงจรจนในที่สุดเกิดเป็นหลอดเลือดขอดขึ้น ซึ่งแพทย์หลายท่านไม่นับว่าหลอดเลือดขอดเป็นโรค แต่ถือว่าเป็นอาการหรือเป็นภาวะที่เกิดจากการไหลเวียนโลหิตของขาไม่ดี
  • ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดขอดได้แก่
  • อายุ ยิ่งอายุสูงขึ้นโอกาสเกิดโรคยิ่งสูงขึ้น จากการเสื่อมของเซลล์ลิ้นหลอดเลือด และเซลล์ผนังหลอดเลือด
  • เพศ เพศหญิงมีโอกาสเกิดสูงกว่าเพศชาย เนื่องจากมีการตั้งครรภ์ซึ่งส่งผลถึงการเพิ่มความดันในช่องท้อง และเป็นผลจากมีภาวะหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ ซึ่งฮอร์โมนเพศมีส่วนในการคงความยืดหยุ่นของผนังหลอดเลือด
  • เชื้อชาติและพันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงในคนตะวันตกสูงกว่าในคนเอเชีย และ พบโรคได้สูงขึ้นในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
  • อาชีพ อาชีพที่ต้องยืนนานๆนั่งนานๆทั้งวันเช่น ทหาร พยาบาลในห้องผ่าตัด
  • ขาดการออกกำลังกาย ขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย ใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย เพราะ ส่งผลให้กล้ามเนื้อขาเสื่อมประสิทธิภาพ ซึ่งกล้ามเนื้อขาเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการช่วยพยุงหลอดเลือดดำขา ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด/โลหิตของขา
  • อ้วน โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน เพราะจะเพิ่มความดันในช่องท้องให้สูงขึ้น
  • ท้องผูกเรื้อรัง เพราะต้องออกแรงเบ่งอุจจาระเป็นประจำส่งผลให้มีการเพิ่มความดันในช่องท้องตลอดเวลา
  • การตั้งครรภ์ เพราะน้ำหนักครรภ์จะส่งผลให้เกิดการเพิ่มความดันในช่องท้อง ยิ่งตั้งครรภ์หลายครั้งโอกาสเกิดหลอดเลือดขอดก็ยิ่งสูงขึ้น
  • มีลิ่มเลือดเรื้อรังในหลอดเลือดดำขาส่วนที่อยู่ลึก (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ )
  • แนวทางการรักษาหลอดเลือดขอดคือ การป้องกันไม่ให้เกิดหลอดเลือดขอดมากขึ้นและการรักษาเพื่อความสวยงาม
  • การดูแลรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดขอดมากขึ้น ได้แก่ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำเช่น ไม่ยืน/นั่งนานๆ การลดน้ำหนัก การควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายและเคลื่อน ไหวร่างกายเสมอ สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่น และสวมถุงน่องเพื่อการพยุงขา
  • การรักษาเพื่อความสวยงาม คือ การฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำที่ขอดเพื่อให้หลอดเลือดตีบตัน (Sclerotherapy) และการผ่าตัดเอาหลอดเลือดขอดออกซึ่งมีได้หลายเทคนิค รวมทั้งการใช้เลเซอร์ ทั้งนี้จะใช้การรักษาด้วยวิธีใดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์และความต้องการของผู้ป่วย
  • การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อมีหลอดเลือดขอด ได้แก่
  • หลีกเลี่ยงการยืน/นั่งนานๆ
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่น
  • สวมใส่ถุงน่องที่ช่วยพยุงขา
  • ถ้าอ้วนต้องลดน้ำหนัก ถ้าไม่อ้วนต้องควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนัก ตัวเกิน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ เคลื่อนไหวร่างกายเสมอเพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิตและเพิ่มประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อขา
  • ควบคุมอาการท้องผูก
  • ไม่นั่งไขว่ห้างนานๆ เมื่อนั่ง/นอนพยายามยกขาสูง
  • ไม่สวมรองเท้าส้นสูง
  • ควรพบแพทย์เมื่อมีความกังวลในอาการ