กระดานสุขภาพ
มีอาการปวดใต้รักแร้ ช่วงก่อนมีประจำเดือนค่ะ | |
---|---|
7 มีนาคม 2562 01:28:33 #1 สวัสดีค่ะ อยากขอคำปรึกษาค่ะ คือ มีอาการปวดใต้รักแร้ จะเป็นช่วงก่อนมีประจำเดือนค่ะ ไม่ได้เป็นทุกเดือนค่ะ อาการปวดไม่มากค่ะ บางเดือนจะปวดเต้านมก่อนแล้วมาปวดรักแร้ บางเดือนปวดรักแร้ก่อน บางเดือนก็ปวดมาพร้อมๆกันค่ะ พอประจำเดือนมาก็หายปวดค่ะ คลำแล้วไม่มีก้อนที่รักแร้และเต้านม ฐานรอบๆเต้านม (ทั้งยืนคลำและนอนหงายคลำ) ดูจากสายตาผ่านกระจกก็ปกติ แต่อยากจะรบกวนสอบถามว่าอาการปวดตรงใต้รักแร้นี่ผิดปกติมั๊ยคะ หรือมีความเสี่ยงอะไรหรือไม่ (ส่วนตรงเต้านมเข้าใจว่าเป็นปกติของการมีประจำเดือนค่ะ) ขอบคุณค่ะ |
|
อายุ: 29 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 51 กก. ส่วนสูง: 155ซม. ดัชนีมวลกาย : 21.23 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9) | |
Anonymous |
7 มีนาคม 2562 08:52:32 #2
ข้อมูลเพิ่มเติมนะคะ บริเวณใต้รักแร้ที่ปวด ไม่ได้ปวดทั่วทั้งหมดค่ะ และต้องกดไปแรงๆ ถึงจะเจอบริเวณที่ปวดค่ะ ถ้าไม่กดก็ไม่ปวดค่ะ
|
พญ.กิติพร กวียานนท์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป |
10 มีนาคม 2562 17:04:42 #3 กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน หรือเรียกย่อว่า อาการ พีเอ็มเอส (Premenstrual syndrome, PMS) คือ อาการผิดปกติ หรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับสตรีซ้ำๆและสัมพันธ์กันการมีประจำเดือน ส่วนมากอาการจะเกิดก่อนจะมีประจำเดือน เช่น อาการปวดศีรษะ อารมณ์หงุดหงิด เจ็บคัดตึงเต้านม กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนมีมากมายหลายอาการ โดยสามารถจัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มอาการที่แสดงออกทางด้านจิตใจ อารมณ์ เช่น หงุดหงิด เครียด โมโหง่าย หรือซึมเศร้า 2. กลุ่มอาการที่แสดงออกทางด้านร่างกาย เช่น เจ็บคัดตึงเต้านม น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น บวมตามนิ้วมือนิ้วเท้า สตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน คือ 1. มีบุคลิกที่เครียดง่าย 2. ดื่ม ชา กาแฟ มาก 3. มีประวัติซึมเศร้า 4. มีประวัติคอบครัวเป็นกลุ่มอาการนี้ 5. อายุมาก 6. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม (มีมากในนม) หรือ แมกนีเซียม (Magnesium มีมากใน ผักใบเขียวเข้ม นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ถั่วลิสง และธัญพืชเต็มเมล็ด) ต่ำ แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนจาก การซักประวัติอาการของผู้ป่วยเพียงวิธีเดียว เพราะยังไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการตรวจเลือดที่บอกได้ชัดเจน อาการที่แพทย์ และสตรีจะใช้สังเกตตนเองว่ามีปัญหานี้หรือไม่ ได้แก่ เกิดอาการซึ่งมักมีหลายอาการ จึงเรียกว่า กลุ่มอาการ แบบเดิมซ้ำๆทุกเดือน โดยเกิดก่อนมีประจำเดือนประมาณ 5-10 วัน แต่บางคนอาจนานกว่านั้นได้ กลุ่มอาการที่เกิดจะดีขึ้นหลังประจำเดือนหยุด หรือประมาณ 4 วันหลังมีประจำเดือน แบ่งแนวทางการรักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนเป็น การไม่ใช้ยา และการใช้ยา การดูแลรักษาโดยไม่ใช้ยา จะใช้ในกรณีที่มีอาการไม่มาก โดย 1. ระมัดระวังเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ควรดื่ม ชา กาแฟ เหล้า/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงที่ใกล้จะมีประจำเดือน เพราะสิ่งเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้เกิดอาการรุนแรงขึ้น 2. ควรรับประทาน ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ มากกว่าข้าวที่ขัดสีจนขาว เพราะมี วิตามินเกลือแร่ ที่ช่วยบรรเทาอาการได้ในบางคน 3. ควรรับประทานอาหารที่มี แคลเซียม และแมกนีเซียมสูงจะช่วยลดอาการเหล่านี้ 4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อผ่อนคลาย 5. ตั้งสติ ทำสมาธิ ดูหนังฟังเพลง เพื่อลดความเครียด 6. ควรพูดคุยปัญหาให้คนในครอบครัวฟังเพื่อเป็นการระบาย และเพื่อสื่อสารถึงสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยลดความเครียดต่างๆ และเพื่อให้คนรอบข้างได้เข้าใจเราเมื่ออยู่ในช่วงเกิดอาการ การดูแลรักษาโดยใช้ยา จะใช้ในกรณีที่มีอาการมากซึ่งควรได้รับการดูแลโดยแพทย์ ยาที่ใช้ ได้แก่ 1. ยากลุ่ม Selective serotonin re-uptake inhibitor เรียกย่อว่า SSRI เพื่อเพิ่มระดับ Serotonin ในร่างกาย 2. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม เพราะการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดทำให้ไม่มีการตกไข่ในรอบเดือนนั้นๆ จึงทำให้ไม่มีการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตโรน ยาที่นิยมนำมาใช้รักษาภาวะนี้มากคือ ยาที่มีชื่อทางการค้าว่า Yasmin® 3. แผ่นแปะฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) พบว่าได้ผลดี แต่ต้องระวังหากสตรีมีมดลูกอยู่ต้องไห้ฮอร์โมนโปรเจสโตเจน (Progestogen) ควบคู่ไปด้วยเพื่อป้องกันการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งอาจก่อให้เกิดการมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ทั้งนี้ยังมีกลุ่มอาการนี้ได้ในสตรีที่รังไข่ยังทำงานตามปกติ มีการตกไข่ตามปกติ แต่ได้ผ่าตัดมดลูกออกไปแล้ว จึงไม่มีประจำเดือนให้เห็น แต่ยังคงมีวงรอบของการตกไข่อยู่เช่นเดิม เช่น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเนื้องอกมดลูกและได้รับการรักษาโดยการตัดมดลูกแต่ยังเก็บรังไข่ไว้ 4. การให้ยาเสริมเพื่อรักษาอาการต่างๆ เช่น หากบวมมาก แพทย์อาจต้องให้ยาขับปัสสาวะ/ยาขับน้ำ หากเจ็บคัดเต้านมมากอาจต้องรับประทานยาแก้ปวดร่วมด้วย โดยทั่วไปกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนจะเกิดกับสตรีเกือบทุกคนที่ยังมีประจำเดือน/มีการตกไข่อยู่ แต่อาการไม่รุนแรง ไม่ต้องกังวลใจ ยกเว้นหากมีอาการรุนแรงมากควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดหรือป้องกันกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนนี้ได้ เพราะเวลาออกกำลังกายจะมีฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา ทำให้เรามีความสุขไม่เครียด นอกจากนั้นควรดูแลตัวเองเกี่ยวกับอาหาร ควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตชนิดดี เช่น ข้าวที่ไม่ขัดสีจนวิตามินหายหมด ลดอาหารหวานจัด รับประทานผัก ผลไม้มากๆ เพื่อให้ได้วิตามิน เกลือแร่ ครบถ้วน และลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และกาเฟอีน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตช่วงก่อนมีประจำเดือนไปได้ |
Anonymous |
11 มีนาคม 2562 06:01:44 #4
ขอบคุณมากค่ะคุณหมอ
เคยค้นดูแล้วเจอข้อมูลข้างต้นตามคำตอบของคุณหมอ แต่ไม่เห็นมีที่บอกว่า ปวดรักแร้ ด้วยค่ะ เลยสงสัย แต่จากคำตอบของคุณหมอ อาการปวดทางกายภาพ ก็หมายรวมถึงว่า ปวดรักแร้ ด้วย ถูกต้องมั๊ยคะ แต่ที่หลายข้อมูลไม่มีลงว่าปวดรักแร้เข้าใจว่าเพราะเป็นอาการแตกต่างกันของแต่ละบุคคล อันนี้เข้าใจถูกมั๊ยคะ
|
พญ.กิติพร กวียานนท์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป |
15 มีนาคม 2562 16:38:15 #5 ปวดรักแร้ ปวดเฉพาะจุด หรือปวดตามเนื้อตามตัว แต่อาการเป็นเฉพาะเวลาจะมีรอบเดือน เป็นอาการที่เจอได้นะคะ |
Anonymous