กระดานสุขภาพ

รบกวนอ่านผลชิ้นเนื้อให้หน่อยคะ
Anonymous

4 กันยายน 2561 15:45:41 #1

.uterine cervix , 6 o'clock ,biopsy (CDB) Low-Grade Squamous Intraepithelial Lesion ,in 2 of 3 pieces 2.uterine cervix , 12 o'clock ,biopsy (CDB) Low-Grade Squamous Intraepithelial Lesion เป็นมะเร็งหรือยังคะ ต้องรักษายังไง แล้วจะหายไหมคะหมอ กังวลอยากมีลูกยังไม่เคยมีลูกคะหมอ
อายุ: 30 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 50 กก. ส่วนสูง: 154ซม. ดัชนีมวลกาย : 21.08 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

8 กันยายน 2561 06:27:42 #2

ภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ หรือ เซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ หรือ ภาวะเซลล์ปากมดลูกผิดปกติ (Cervical dysplasia หรือ Cervical intraepithelial neoplasia ย่อว่า CIN หรือ Squamous intraepithelial lesion) เป็นภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงเจริญผิดปกติที่ระดับเซลล์ที่ปากมดลูก ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ขยายดูลักษณะของนิวเคลียส(Nucleus,ส่วนประกอบทางพันธุกรรมของเซลล์ที่รวมตัวกันอยู่ในเยื่อหุ้ม มักมีรูปร่างค่อนข้างกลม และมักอยู่ตรงส่วนกลางของเซลล์) และ ของไซโตปลาสซึม(Cytoplasm, สารต่างๆทุกชนิดที่อยู่ในเซลล์ ส่วนที่ไม่ใช่นิวเคลียส)ของเซลล์ ซึ่งจะมีความแตกต่างไปจากเซลล์ปกติ การมีเซลล์ปากมดลูกผิดปกติ/เจริญผิดปกติถือว่าเป็นระยะก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูก(Precancerous lesion of cervix) โดยในขั้นตอน การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แพทย์จะมีการใช้อุปกรณ์สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อป้ายเซลล์บริเวณปากมดลูกมาทำการย้อมเซลล์แล้วตรวจดูว่าผิดปกติหรือไม่ ซึ่งสามารถวินิจฉัยความผิดปกติของปากมดลูกได้ตั้งแต่ยังไม่สามารถมองเป็นพยาธิสภาพที่ปากมดลูกได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกชนิดสเควมัส(Squamous intraepithelial lesion) มีหลายระดับและเรียกกันหลายชื่อ ได้แก่

• Mild dysplasia หรือ Cervical intraepithelial lesion I (CIN I) หรือ Low-grade squamous intraepithelial lesion (LSIL) หรือ Dysplasia grade I: เป็นระยะมีภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ ระดับน้อย มีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้น้อย มีรายงานพบได้ประมาณ 1%ของผู้ป่วยที่เซลล์ระยะนี้พัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูก ประมาณ 11%พัฒนาไปเป็น Severe dysplasia และในผู้ป่วยบางรายเซลล์อาจเจริญกลับเป็นปกติได้เอง

• Moderate dysplasia หรือ Cervical intraepithelial lesion II (CIN II)หรือ Dysplasia grade II: มีภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ ระดับปานกลางที่มีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้สูงกว่าใน Grade I คือ ประมาณ5%ของผู้ป่วย และพัฒนาไปเป็น Severe dysplasia ได้ประมาณ 22%

• Severe dysplasia หรือ Cervical intraepithelial lesion III (CIN III) หรือ Dysplasia grade III หรือ High-grade squamous intraepithelial lesion (HSIL) หรือ Cervial carcinoma in situ(CIS): ระยะนี้มีภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติในระดับมาก และมีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มากประมาณ 12%ของผู้ป่วย

• Squamous cell carcinoma: เซลล์มีความผิดปกติมาก และชัดเจนเหมือนเป็นเซลล์มะเร็ง แต่อย่างไรก็ตามยังไม่ได้หมายความว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกจริง เพราะเป็นการตรวจทางเซลล์วิทยาเท่านั้น ต้องมีการตัดเอาชิ้นเนื้อมาตรวจเพื่อยืนยันก่อนเสมอ

อนึ่ง:

• ภาวะนี้พบได้ในสตรีทุกอายุ แต่พบน้อยมากๆในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก ทั่วไปมักพบในช่วงอายุ 25-35 ปี

• ในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบภาวะนี้ได้ในสตรีประมาณ 250,000-1ล้านคน ในแต่ละปี

• จากการศึกษาพบว่า การที่เซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกตินี้จะพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งปากมดลูกใช้เวลาเฉลียประมาณ 15 ปี (ช่วงเวลาที่มีรายงาน คือ 3-40ปี)

จุดประสงค์ในการรักษาภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ ก็เพื่อเป็นการตัดตอนไม่ให้โรคพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูก การรักษาภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ ขึ้นกับความรุนแรงของพยาธิสภาพที่ได้จากการตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติมจากการตรวจทางเซลล์วิทยาแล้ว นอกจากนี้ยังขึ้นกับ อายุผู้ป่วย และความต้องการมีบุตรด้วย

ในกรณีที่พยาธิสภาพไม่รุนแรง หลังจากการส่องกล้องขยายและตัดชิ้นเนื้อแบบ LEEP แล้ว (ซึ่งการทำ LEEPสามารถใช้เป็นการวินิจฉัยและรักษาโรคไปด้วยพร้อมกัน) แพทย์สามารถตรวจติดตามการพัฒนาของโรคได้ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นระยะๆตามที่แพทย์กำหนด

ในกรณีที่พยาธิสภาพรุนแรงขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นเป็นมะเร็ง แพทย์ อาจรักษาด้วยวิธี LEEP หรือการจี้เย็น(Cryotherapy)ปากมดลูก หรือ การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย (Cold knife conization )หรือพิจารณา ผ่าตัดมดลูก หากมีบุตรเพียงพอแล้ว ซึ่งหลังการรักษาแล้ว แพทย์จะยังต้องนัดผู้ป่วยมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นระยะ ๆ ต่อไป