กระดานสุขภาพ

อาการแสบร้อน รู้สึกว่าตัวเองตัวร้อนมาก
Anonymous

31 สิงหาคม 2561 14:47:29 #1

คือหนูมีอาการแสบร้อนบริเวณขามาก อาการแสบร้อนเหมือนโดนพริก แต่ไม่มีรอยช้ำหรือโดนอะไรกัดทั้งสิ้น รู้สึกแสบซ่าๆ โดยเฉพาะวันที่หนูทำงานจนไม่ได้นอนและช่วงที่เครียดไม่สบายใจ จะรู้สึกว่าตัวร้อนมากโดยเฉพาะบนบริเวณขา เลยซื้อที่วัดอุณภูมิร่างกายมาใช้ดูแต่พอวัดอุณภูมิร่างกายดู ก็ปกติดี 35-36องศาค่ะ แต่คือรู้สึกร้อนและแสบซ่าๆมากจนต้องเอาผ้าชุบน้ำมาพันรอบขา อาการแบบนี้พึ่งเริ่มเป็นมาได้สักพัก แต่ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหามา มีอาการแบบนี้3-4วันต่ออาทิตย์เลยค่ะ อาการแบบนี้คืออะไรหรอค่ะ และมีวิธีแก้บ้างมั้ยคะ
อายุ: 22 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 46 กก. ส่วนสูง: 155ซม. ดัชนีมวลกาย : 19.15 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

8 กันยายน 2561 06:25:35 #2

ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) เป็นภาวะหนึ่งของเส้นประสาทซึ่งทำหน้าที่รับส่งคำสั่งจากสมองและไขสันหลังไปยังอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความเสียหายหรือเกิดโรคบางชนิด อาจทำให้เกิดอาการ เช่น อ่อนแรง ปวดและชาตามมือและเท้า หรืออวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยอาการปวดและชาที่เกิดขึ้นจากโรคบางชนิดบรรเทาได้ด้วยการรับประทานยา

อาการปลายประสาทอักเสบ ปลายประสาทมี 3 ประเภท ซึ่งปลายประสาทอักเสบอาจเกิดขึ้นได้กับทุกประเภท อันได้แก่

• ประสาทรับความรู้สึก ซึ่งเป็นประสาทที่เชื่อมต่อกับผิวหนัง

• เส้นประสาทสั่งการหรือนำคำสั่ง ซึ่งเป็นประสาทที่เชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อ

• ระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งเป็นประสาทที่เชื่อมต่อกับอวัยวะภายใน

อาการปลายประสาทอักเสบ มีอาการที่พบบ่อย ได้แก่

• มีอาการเหน็บและชาตามมือและเท้า

• มีอาการแสบ หรือเจ็บแปลบบริเวณที่ได้รับผลกระทบ

• กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยเฉพาะที่เท้า

• เสียการทรงตัวและการประสานงานของอวัยวะในร่างกาย

อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น

• ความดันโลหิตลดลงต่ำ

• การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

• ท้องผูก

• อาหารย่อยยาก

• ท้องเสีย

• เหงื่อออกมากกว่าปกติ

อาการทั้งหลายข้างต้นมักเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่อาจเป็นแล้วหายไปได้เอง หรือเป็น ๆ หาย ๆ

เมื่อใดที่ควรพบแพทย์ ?

หากพบว่ามือหรือเท้ามีอาการชา อ่อนแรงหรือมีอาการเจ็บผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะหากได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงทีจะช่วยให้ควบคุมอาการและป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเส้นประสาทส่วนปลายได้

การใช้ยารักษา

• ยาบรรเทาอาการปวด ยาที่ซื้อใช้เอง เช่น ยาลดการอักเสบ (NSAIDs) ใช้บรรเทาอาการที่ไม่รุนแรง แต่หากมีอาการรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาแก้ปวด นอกจากนั้น ยารักษาโรคที่มีส่วนประกอบของโอปิออยด์ (Opioid) เช่น ยาทรามาดอล (Tramadol) ยาออกซิโคโดน (Oxycodone) อาจทำให้ผู้ป่วยติดใช้ยาได้ โดยยาประเภทนี้จะสั่งโดยแพทย์เท่านั้นและจะใช้เมื่อการรักษาชนิดอื่นไม่ได้ผล

• ยาต้านชัก เช่น ยากาบาเพนติน (Gabapentin) และยาพรีกาบาลิน (Pregabalin) ถูกพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในการรักษาโรคลมชักหรือโรคลมบ้าหมู โดยอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ เช่น เวียนศีรษะ ง่วงซึม เป็นต้น

• ยาใช้เฉพาะที่ เช่น ยาครีมแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งจะช่วยลดอาการที่เกิดจากประสาทส่วนปลายอักเสบ ซึ่งการใช้ยาครีมอาจทำให้ผิวหนังแสบและเกิดการระคายเคือง แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หรือยาลิโดเคน (Lidocaine) แบบแผ่นแปะ เป็นอีกทางเลือกในการรักษาที่ช่วยลดอาการปวดโดยแปะแผ่นแปะลงบนผิวหนังบริเวณที่มีอาการ แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม เวียนศีรษะ ชา เป็นต้น

• ยาแก้ซึมเศร้า ยากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic) เช่น ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) ยาด็อกเซปิน (Doxepin) ยานอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline) นำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานของสารเคมีในสมองและไขสันหลังที่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด นอกจากนั้น ยังมียาที่นำมาใช้รักษาอาการเจ็บปวดของปลายประสาทอักเสบที่มีสาเหตุมากจากโรคเบาหวาน เช่น ยาเอสเอ็นอาร์ไอ (Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitor: SNRI) และยาเวนลาฟาซีน (Venlafaxine) แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง คลื่นไส้ ง่วงซึม เวียนศีรษะ เบื่ออาหารและท้องผูก

การบำบัด

การบำบัดเพื่อช่วยบรรเทาอาการปลายประสาทอักเสบอาจทำได้โดยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

• การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาทผ่านทางผิวหนังเพื่อลดความเจ็บปวด (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation: TENS) นำขั้วไฟฟ้าติดไว้บนผิวหนัง และส่งกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ความถี่หลายรูปแบบ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้วิธีนี้เป็นเวลา 30 นาทีต่อวัน เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน

• การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง (Plasma Exchange) และการบำบัดรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (Intravenous Immune Globulin) เป็นขั้นตอนที่จะช่วยยับยั้งระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะมีประโยชน์กับผู้ป่วยที่มีปัญหาภาวะการอักเสบบางชนิด การเปลี่ยนถ่ายน้ำเหลือง จะเป็นการนำเลือดออก นำแอนติบอดี้และโปรตีนออกจากเลือด และนำเลือดที่ถูกกรองแล้วกลับเข้าไปในร่างกาย ส่วนการบำบัดรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลิน ผู้ป่วยจะได้รับโปรตีนในระดับสูงที่ทำหน้าที่เหมือนกับแอนติบอดี้

• กายภาพบำบัด สำหรับผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอ การกายภาพบำบัดจะช่วยพัฒนาการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจต้องใช้เครื่องช่วยพยุง ไม้เท้า นั่งรถเข็นคนพิการ หรือเครื่องช่วยเดิน

• การผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากการกดทับที่เส้นประสาท เช่น การกดทับจากเนื้องอก อาจมีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อลดแรงกดทับ

ภาวะแทรกซ้อนของปลายประสาทอักเสบ ภาวะแทรกซ้อนของปลายประสาทอักเสบที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

• เกิดบาดแผลที่ผิวหนังและแผลไหม้ โดยผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกถึงอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงหรืออาการเจ็บบริเวณที่เกิดบาดแผลดังกล่าวเนื่องจากอาการชา

• เกิดการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเท้าหรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายที่ไร้ความรู้สึกจากปลายประสาทอักเสบอาจเกิดการบาดเจ็บโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรตรวจสอบบริเวณดังกล่าวอยู่เสมอและรักษาแผลหรือการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นก่อนจะนำไปสู่การติดเชื้อ โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

• หกล้ม เพราะเมื่อร่างกายอ่อนแอและไร้ความรู้สึกของอาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลและทำให้ผู้ป่วยหกล้มได้ง่าย

การป้องกันปลายประสาทอักเสบ

การป้องกันปลายประสาทอักเสบ มีวิธีดังนี้

• รักษาและควบคุมโรคที่สาเหตุ วิธีป้องกันปลายประสาทอักเสบที่มีประสิทธิภาพ เป็นการรักษาและควบคุมโรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นปลายประสาทอักเสบ เช่น โรคเบาหวาน ติดสุรา หรือโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)

• เลือกใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี เช่น

• รับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชและโปรตีนที่มีไขมันต่ำให้มาก เพราะจะช่วยรักษาสุขภาพของเส้นประสาท รวมไปถึงป้องกันการขาดวิตามิน บี 12 โดยรับประทานเนื้อวัว เนื้อปลา ไข่ อาหารไขมันต่ำและธัญพืชเสริม นอกจากนั้น หากเป็นผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ รับประทานธัญพืชเสริม เพราะเป็นแหล่งของวิตามิน บี 12 แต่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริมวิตามิน บี 12 ก่อน

• ออกกำลังกายเป็นประจำ หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยออกกำลังกายได้ ก็ควรออกครั้งละอย่างน้อย 30 นาที-1 ชั่วโมง อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์

• หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาท ได้แก่ กิจกรรมที่ทําซ้ำ ๆ อยู่ในท่าทางจำกัด สัมผัสกับสารเคมีที่เป็นพิษ สูบบุหรี่และดื่มสุรามากเกินไป