กระดานสุขภาพ

สอบถาม
Anonymous

26 สิงหาคม 2561 19:15:27 #1

ตือว่ามีอาการปวดท้อง ตื่นกลางดึก อาเจียนและมีการถ่ายท้อง(คล้ายกับอาการท้องเสีย) ถ้าในระหว่างปวดท้องไม่ถ่ายจะมีอาการตัวชา อยากทราบว่าเป็นโรคอะไรคะ มีการดูแลรักษาอย่างไร
อายุ: 21 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 56 กก. ส่วนสูง: 165ซม. ดัชนีมวลกาย : 20.57 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

28 สิงหาคม 2561 18:00:31 #2

ท้องเสีย (Diarrhea) หมายถึง การถ่ายอุจจาระเหลว หรือเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน โดยอาจถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูกเลือด ซึ่งเรียกได้อีกชื่อว่า โรคบิดหรือเป็นบิด และเมื่อท้องเสียหายได้ภายใน 2 สัปดาห์เรียกว่า ท้องเสียเฉียบพลัน เมื่อท้องเสียนาน 2 - 4 สัปดาห์เรียกว่า ท้องเสียต่อเนื่อง (Persistent diarrhea) และเมื่อท้องเสียนานมากกว่า 4 สัปดาห์ขึ้นไปเรียกว่า ท้องเสียเรื้อรัง

ท้องเสียโดยทั่วไปมักเกิดจากการกินอาหารและดื่มน้ำปนเปื้อนเชื้อโรคหรือจากรักษามือไม่สะอาด อุจจาระที่ปนเปื้อนจากมือจึงก่อให้เกิดการติดเชื้อได้จากมือสู่ปากโดยตรง หรือในการปรุงอาหารในการสัมผัสอาหาร/น้ำดื่มในขั้นตอนต่างๆ และรวมทั้งในขั้นตอนของการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งโดยทั่วไปท้องเสียจากการติดเชื้อมักเป็นท้องเสียเฉียบพลัน

อาการสำคัญจากท้องเสียคือ การถ่ายอุจจาระตั้งแต่วันละ 3 ครั้ง ส่วนอาการอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วยเช่น ปวดท้อง ปวดมวนท้อง ปวดเบ่ง อ่อนเพลีย นอกจากนั้นขึ้นกับสาเหตุเช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตัว เมื่อเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส หรือถ่ายเป็นมูกเลือด เมื่อเกิดจากติดเชื้อบิด

ทั้งนี้อาการสำคัญที่สุดและอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้รวดเร็วคือ อาการจากร่างกายขาดน้ำ (ภาวะขาดน้ำ) และสูญเสียเกลือแร่ที่ออกร่วมมาในอุจจาระ

อาการสำคัญของการขาดน้ำในผู้ใหญ่ที่สำคัญคือ

• กระหายน้ำมาก

• ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะมีสีเหลืองเข็มจัด

• ปากแห้ง ลิ้นแห้ง ผิวแห้ง เมื่อเป็นมากตาจะลึกโหล เพราะเนื้อเยื่อรอบๆตาขาดน้ำไปด้วย

• เมื่อขาดน้ำมากรุนแรงจะวิงเวียน มึนงง กระสับกระส่าย และช็อกในที่สุด

อนึ่ง อาการขาดน้ำในเด็กส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับในผู้ใหญ่ ยกเว้นในเด็กอ่อนซึ่งมักไม่มีปัสสาวะเลย กระหม่อมจะบุ๋มลึก และไม่มีน้ำตาเมื่อร้องโยเยหรือร้องไห้

แนวทาางการรักษาท้องเสียคือ การรักษาและป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยดื่มไม่ได้ หรือท้องเสียรุนแรง อาจเป็นการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ แต่ถ้ายังกิน/ดื่มได้ การรักษา คือ การดื่มน้ำหรือดื่มน้ำเกลือแร่ซึ่งเป็นยาผงละลายน้ำที่ทั่วไปเรียกว่า ยาโออาร์เอส (ORS, Oral rehydration salts) นอกจากนั้นคือ การรักษาตามสาเหตุเช่น อาจให้ยาปฏิชีวนะเมื่อเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาบรรเทาปวดท้อง หรือยาลดไข้

โดยทั่วไป แพทย์มักไม่แนะนำการกินยาหยุดท้องเสีย เพราะการถ่ายอุจจาระเป็นวิธีหนึ่งที่ร่างกายใช้กำจัดเชื้อโรคและ/หรือสารพิษจากเชื้อโรคออกจากร่างกาย อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์

การดูแลตนเอง/การพบแพทย์เมื่อท้องเสียคือ

• พักผ่อน หยุดงาน หรือหยุดเรียน

• ดื่มน้ำมากๆ ดื่มน้ำผงเกลือแร่ เมื่อถ่ายเป็นน้ำหรือรู้สึกปากแห้ง

• กินอาหารอ่อน อาหารเหลว หรืออาหารรสจืด

• ยังไม่ควรกินยาหยุดท้องเสียด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว อาจกินยาลดไข้ บรรเทาอาการปวดท้อง

• รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

• ควรรีบพบแพทย์เมื่อ

• มีอาการร่างกายขาดน้ำดังกล่าว

• อาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 2 วัน (ในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ควรพบแพทย์เมื่ออาการท้องเสียไม่ดีขึ้นภายใน 1 วัน)

• ปวดท้องมาก และ/หรือ คลื่นไส้ อาเจียน และ/หรือ ตัว/ตาเหลือง

• มีไข้สูง

• อุจจาระเป็นมูก หรือมูกเลือด หรือมีสีดำและเหนียวเหมือนยางมะตอย (อาการของการมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร)