กระดานสุขภาพ

มีปัญหางงหัวง่ายค่ะ (มีประวัติเลือดจางเล็กน้อย และ A1C ต่ำ)
Anonymous

27 พฤษภาคม 2561 03:41:44 #1

ขอรบกวนสอบถามคุณหมอค่ะ พอดีเมื่อวันอังคารพี่ไปตรวจร่างกายประจำปีมา เป็นการตรวจครั้งแรก พอตรวจครบทุกอย่าง หมอก็สรุปผลให้ฟัง มี 3 เรื่อง ที่ไม่ปกติ 1. หัวใจเต้นช้า (ตรวจ EKG ได้ 51 แต่พอดีพี่เล่นกีฬาประจำ ก็เลยไม่ผิดปกติ) 2. พี่เป็นโลหิตจางเล็กน้อย (ช่วงเรียนไม่เคยมีปัญหาค่ะ บริจาคเลือดได้ทุก 3 เดือนตลอด.... เพิ่งมาเป็นช่วงที่ทำงานค่ะ ที่เวลาไปบริจาคแล้วเลือดลอยจนเจ้าหน้าที่ให้กลับ) 3. พี่ค่าน้ำตาลหลังอดอาหาร 11 ชั่วโมง ได้ค่า 97 (หมอบอกปกติ เพราะไม่เกิน 100).... แต่พี่ A1C ต่ำกว่าปกติ พี่ได้ 4.7.... ตอนนั้นพี่ก็ไม่ได้ถามหมอ เพราะไม่ค่อยรู้ว่ามันคือค่าอะไร เพิ่งมาหาข้อมูลเพิ่มทีหลัง คือเวลาออกกำลังกาย พี่ค่อนข้างแข็งแรง ไม่เหนื่อยง่าย แต่หิวบ่อย.... และบางช่วงของการดำเนินชีวิตประจำวันพี่จะมีอาการงงหัวง่ายค่ะ ไม่อน่ใจว่าอันนี้มาจากเลือดจาง หรือว่าน้ำตาลต่ำหรือเปล่า รบกวนสอบถามคุณหมอค่ะ ว่าพี่ควรปฏิบัติตัวอย่างไร หรือควรไปตรวจอะไรเพิ่มหรือเปล่าคะ
อายุ: 40 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 68 กก. ส่วนสูง: 167ซม. ดัชนีมวลกาย : 24.38 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

1 มิถุนายน 2561 16:13:23 #2

น้ำตาลสะสมในเลือด หรือน้ำตาลสะสม (Hemoglobin AIc หรือ Glycated hemoglobin หรือ Glycosylated hemoglobin ย่อว่า HbA1c) คือ ปริมาณน้ำตาลกลูโคส(น้ำตาล)ที่จับอยู่กับสารโปรตีนของฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดง ที่เรียกว่า Glycated hemoglobin ซึ่งเม็ดเลือดแดงทั่วไปจะชีวิตอยู่ได้ประมาณ 100-120 วัน ดังนั้นค่าน้ำตาลกลูโคสที่ตรวจได้จากเม็ดเลือดแดงจึงเป็นค่าน้ำตาลที่สะสมอยู่ในฮีโมโกลบินนานประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งเป็นค่าที่ช่วยการวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยเป็นเบาหวานหรือไม่ ได้แม่นยำกว่าการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่ผู้ป่วยงดอาหารนานประมาณ 8 ชั่วโมงขึ้นไป ที่เรียกว่า Fasting blood sugar(FBS) หรือ Fasting plasma glucose (FPG) หรือ Fasting glucose test (FGT) หรือ Fasting capillary blood glucose (FCG)

การตรวจค่าน้ำตาลสะสมจะได้จากการตรวจเลือด แต่ในบางห้องปฏิบัติการอาจตรวจได้จากเลือดจากปลายนิ้ว ซึ่งการตรวจนี้ไม่ต้องมีการเตรียมตัว ตรวจได้เลยโดยไม่ต้องงดอาหารหรือเครื่องดื่มหรือยา โดยค่าปกติจะขึ้นกับแต่ละห้องปฏิบัติการ แต่ทั่วไปคือ น้อยกว่า 5.7% แต่การวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน ค่านี้จะต้องสูงตั้งแต่ 6.5%ขึ้นไป ส่วนค่าสำหรับผู้เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน(Prediabetes)คืออยู่ในช่วง 5.7-6.4%

ดังนั้นเราใช้ค่าของ HbA1c ในเรื่องของการติดตามหรือวินิจฉัยภาวะเบาหวานค่ะ ไม่ได้นำมาใช้เรื่องการบอกว่า มีภาวะน้ำตาลต่ำค่ะ