กระดานสุขภาพ

การแพ้อาหาร
Anonymous

6 เมษายน 2561 02:10:29 #1

คือว่าแพ้แอลกอฮอล์ค่ะ เคยดื่มแล้วผื่นคันขึ้น 5 วันกว่าจะหายแต่แอลกอฮอล์ล้างแผลไม่แพ้นะคะ แล้วมีอยู่ช่วงนึงคือกินแอลกอฮอล์บ่อยมากๆ อาการแพ้ก็ลดลงเหลือ 2 วัน แล้วหลังจากนั้นก็ไม่เป็นผื่นคันจากการกินแอลกอฮอล์อีกเลย แต่จากที่ไม่เคยแพ้อากาศเย็นก็แพ้ อยู่ในห้องแอร์นานๆผื่นก็ขึ้น แล้วไม่แน่ใจว่าแพ้นมถั่วเหลืองด้วยหรือเปล่า หลังเวลากินประมาณครึ่งชม.หรือหนึ่งชม. จะรู้สึกเหมือนคอแห้งๆคันๆคอ หลังจากที่แพ้อากาศกับนมถั่วเหลืองก็เป็นๆหายๆมาตลอด 5 เดือนได้แล้วค่ะ แต่ไม่ได้กินแอลกอฮอล์มา 3-4 เดือนแล้ว ล่าสุดมีอาการปวดขาด้วยค่ะบริเวณต้นขาเหนือหัวเข่าปวดข้างๆ เหมือนๆกับตอนขาอักเสบจากการออกกำลังกาย แต่ไม่ได้ออกกำลังกายเลยค่ะช่วงนี้อย่างมากคือเดินขึ้นบันได ปวดมา 7 วันแล้วค่ะ บวกกับช่วงนั้นอยู่ในห้องแอร์นานด้วย ทำให้บริเวณที่ปวดมีผื่นแดงขึ้นเป็นทางยาว จับแล้วเจ็บ อยากทราบว่าเกี่ยวกับอาการแพ้ไหมคะ แล้วแพ้อากาศกับนมถั่วเหลืองจะหายแพ้ได้ไหม แต่ก่อนก็ไม่เคยแพ้
อายุ: 19 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 44 กก. ส่วนสูง: 153ซม. ดัชนีมวลกาย : 18.80 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

10 เมษายน 2561 06:56:22 #2

โรคภูมิแพ้คือโรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายต่อสารกระตุ้นที่ในภาวะปกติแล้วจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายเช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรพืช แต่ในโรคภูมิแพ้ร่างกายจะเกิดการตอบสนอง อย่างมากผิดปกติต่อสารเหล่านั้นจึงทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้(Allergen) นั้นเช่น

ถ้าเป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก เมื่อเราหายใจเข้าไปทางจมูก สารก่อภูมิแพ้จะไปสัมผัสกับเยื่อบุโพรงจมูกแล้วทำให้เกิดการอักเสบในโพรงจมูกเกิดอาการคัดจมูก จาม มีน้ำมูกใสๆ และคันจมูก

ถ้าเป็นโรคหืด เมื่อหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าไปถึงหลอดลมก็จะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลม แล้วหลอดลมก็จะตอบสนองด้วยการหดเกร็ง เกิดอาการของหลอดลมตีบขึ้น

ทั้งนี้อาจใช้เวลาก่อนเกิดอาการเป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมงก็ได้หลังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้

ในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ยังมักมีแนวโน้มที่จะเกิดการตอบสนองไวกว่าปกติต่อสิ่งกระตุ้นที่ไม่ใช่ สารก่อภูมิแพ้ได้เช่น ความเย็น ความร้อน ความกดอากาศต่ำ ฝนและ/หรือความชื้น ซึ่งภาวะนี้อาจอยู่นานเป็นวันหรือเป็นเดือนก็ได้และสามารถเกิดอาการได้โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้เกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม โดยพบว่าถ้าบิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้จะทำให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณ 30 - 50% แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้จะมีผลให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงประมาณ 50 - 70% ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลยมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพียงประมาณ 10% เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัจจัยทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นการกำจัดและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองต่างๆเช่น ควัน บุหรี่ ไรฝุ่น ในผู้ป่วยและครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ (ซึ่งมีความเสี่ยงสูง) จะสามารถลดอาการของโรค หรือป้องกันไม่ให้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นได้

ชนิดของโรคภูมิแพ้อาจแบ่งตามระบบของร่างกายออกได้เป็น 5 กลุ่มคือ

1. โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจได้แก่ โรคหืด (Asthma)

2. โรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศ (Allergic rhinitis)

3. โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergic skin disease)

4. โรคภูมิแพ้ทางตา (Eye allergy)

5. โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรงที่มีอาการหลายระบบ (Anaphylaxis)

สำหรับโรคภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergic skin disease): ที่พบบ่อยได้แก่ ลมพิษและผื่นผิวหนังอัก เสบจากภูมิแพ้
โดยผู้ป่วยที่เป็นลมพิษจะเริ่มด้วยอาการคัน หลังจากนั้นจะมีอาการบวมเป็นได้ทั้งตัวโดยเฉพาะที่ถูกเกาหรือกดรัด มักเป็นๆหายๆ อาการบวมอาจจะเป็นแบบตุ่มนูนที่มีขนาดแตกต่างกัน ส่วนใหญ่อาจดูคล้ายตุ่มยุงกัด แต่บางแห่งจะดูคล้ายแผนที่โดยตรงกลางผื่นสีจะจางและไม่นูน ผื่นลมพิษนี้อาจมีลักษณะแตกต่างไป ในบางครั้งจะรวมกันเป็นปื้นหนา หรืออาจมีจุดขาวซีดๆตรงกลางขณะที่ขอบโดย รอบจะหนานูนแดง ผื่นลมพิษจะเห่อเร็วและผื่นนั้นมักจะหายภายใน 4 - 6 ชั่วโมงโดยไม่มีร่องรอยหลงเหลือ แล้วก็จะย้ายไปขึ้นบริเวณอื่นได้อีก โดยมากผื่นจะหายไปใน 24 ชั่วโมง ถ้าเป็นนานเกิน 24 ชั่วโมงให้นึกว่าอาจจะเป็นโรคอื่น ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการบวมของหนังตา ริมฝีปาก อวัยวะเพศ และทางเดินหายใจร่วมด้วย

ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้มักเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุขวบปีแรก โดยประมาณ 80 - 90% ของเด็กที่เป็นโรคนี้มักมีอาการก่อนอายุ 7 ปี โดยผู้ป่วยจะมีอาการผื่นคันตามลำตัวและหน้า เป็นๆหายๆ ผิวแห้งอักเสบ และมีอาการกำเริบเป็นระยะๆเมื่อได้รับสารกระตุ้น ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้จะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะโรคหืดเมื่อเด็กโตขึ้น

สาเหตุที่สำคัญของโรคภูมิแพ้ทางผิวหนังในเด็กได้แก่แพ้อาหาร โดยอาหารที่พบว่าแพ้ได้บ่อย ในเด็กไทยคือ ไข่ นมวัว อาหารทะเล และแป้งสาลี

หลักการดูแลผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีหลักการทั่วไปคือ

  • ควบคุมสิ่งแวดล้อมและสารก่อภูมิแพ้
  • ให้การรักษาด้วยยา

การควบคุมสิ่งแวดล้อมและสารก่อภูมิแพ้ ได้มีการสำรวจผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยพบว่า มักจะแพ้ไรฝุ่นฝุ่นบ้านเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาได้แก่ แมลงสาบ ละอองเกสรพืช และขนสัตว์ ถ้าทำได้แนะนำให้ทำการทดสอบผิวหนังในผู้เป็นโรคภูมิแพ้ทุกคน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าแพ้อะไร จะได้หลีกเลี่ยงได้ถูกต้องและยังใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาทำการรักษาด้วยการฉีดวัคซีนอีกด้วย ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่ไม่ได้รับการทดสอบผิวหนัง หรือไม่สามารถทำการทดสอบได้ก็ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ซึ่งที่พบบ่อยคือ

1. ไรฝุ่น

  • จัดห้องนอนให้โล่ง ไม่ควรมีพรม ตุ๊กตา และผ้าม่าน
  • ซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 30 นาทีอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
  • คลุมที่นอน หมอน หมอนข้างด้วยผ้าใยสังเคราะห์ชนิดพิเศษซึ่งสามารถกันไม่ให้ตัวไรฝุ่นลอด ผ่านขึ้นมาได้

2. แมลงสาบ

  • ขจัดแหล่งอาหารของแมลงสาบโดยทิ้งขยะและเศษอาหารในถุงหรือถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
  • ใช้ยาฆ่าแมลงสาบและกับดักแมลงสาบ

3. สัตว์เลี้ยง

  • ไม่ควรเลี้ยงสัตว์มีขนเช่น สุนัข แมว นก กระต่าย
  • ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรให้สัตว์เลี้ยงอยู่นอกบ้านและอาบน้ำให้ทุกสัปดาห์
  • ใช้เครื่องดูดฝุ่นและเครื่องกรองอากาศ

4. เกสรหญ้า

  • ควรตัดหญ้าและวัชพืชบริเวณบ้านบ่อยๆเพื่อลดจำนวนเกสร
  • ไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สดหรือแห้ง ไว้ในบ้าน
  • ในช่วงที่มีละอองเกสรมาก ควรปิดประตูหน้าต่างและใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศ
  • ทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเช้าเพราะละอองเกสรจะปลิวมากช่วงตอนเย็น
  • นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสารระคายเคืองต่างๆที่อาจทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบได้แก่ ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย กลิ่นฉุน น้ำหอม ควันธูป และฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ การออกกำลังกายสม่ำเสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็มีความสำคัญ โดยพบว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มักมีอาการแย่ลงเมื่อมีภาวะเครียดและอดนอน ดังนั้นควรดูแลสุขภาพตัวเองไม่ให้เครียดมากและควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ในกรณีมีอาการโรคหืดกำเริบจากการออกกำลังกาย การพ่นยาขยายหลอดลมก่อนการออกกำลังกาย15 - 30 นาทีจะช่วยป้องกันการหอบระหว่างออกกำลังกายได้

การให้การรักษาด้วยยา เราอาจแบ่งการรักษาโรคภูมิแพ้ออกได้เป็น 3 ระดับเพื่อความเข้าใจง่ายๆ ดังนี้

1. ยาบรรเทาอาการต่างๆเช่น ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน(Antihistamine) และยาขยายหลอดลม

2. ยาต้านการอักเสบเช่น ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกหรือสูดทางปาก

3. การใช้วัคซีนภูมิแพ้ เป็นการรักษาโดยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกายเริ่มจากปริมาณน้อยๆและเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆจนร่างกายเกิดความชินต่อสารก่อภูมิแพ้นั้น ซึ่งผู้ป่วยที่ควรรับการรักษาโดยวิธีฉีดวัคซีนภูมิแพ้คือ ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้นหรือมีผลข้างเคียงจากยา โดยก่อนจะเลือกรักษาด้วยการฉีดวัคซีน จำเป็นต้องทราบก่อนว่าแพ้อะไรเพื่อจะได้นำสารที่แพ้มาฉีดเป็นวัคซีน ซึ่งการรักษาโดยวิธีนี้ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และผู้ป่วยต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์แนะนำอย่างน้อย 3 - 5 ปี

สิ่งสำคัญในการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้คือหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ การใช้ยาตามแพทย์แนะนำสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายตามแพทย์แนะนำให้สม่ำเสมอ

ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อมีอาการมากขึ้นหรือใช้ยาไม่ได้ผลดี ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุว่ามีอะไรแทรกซ้อนหรือไม่และเพื่อปรับการรักษา