กระดานสุขภาพ

มีไข้ต่ำ
Domi*****i

2 มกราคม 2561 03:39:56 #1

ขับรถตากลม หนาวมากๆ พอหลังจากวันนั้นมีอาการเหมือนมีไข้ ไม่ค่อยปวดหัว แต่รู้ตัวร้อน มึนๆ หัว วิงเวียน อ่อนเพลีย ทานยาสมุนไพรคูลแคป ฟ้าทะลายโจร แต่ก็ยังรู้สึกหัวยังร้อนอุ่นๆ มีไข้ต่ำ มึนหัววิงเวียนอยู่ เป็นมาร่วม 2 สัปดาห์แล้วคับ
อายุ: 42 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 66 กก. ส่วนสูง: 175ซม. ดัชนีมวลกาย : 21.55 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

5 มกราคม 2561 18:16:49 #2

ไข้ (Fever หรือ Pyrexia) เป็นอาการไม่ใช่โรค (โรค อาการ ภาวะ) เป็นอาการซึ่งร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองเมื่อมีการติดเชื้อโรคหรือมีการเจ็บป่วยจากสาเหตุบางสาเหตุเช่น การอักเสบของเนื้อเยื่อจากโรคภูมิต้านตนเอง (โรคออโตอิมมูน) โดยไข้จะเกิดอยู่เพียงชั่วคราวเฉพาะในช่วงเกิดโรคหรือมีการเจ็บป่วย

อุณหภูมิปกติของร่างกายเกิดจากการทำงานของอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะกล้ามเนื้อและตับ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งเป็นสมองส่วนอยู่ลึกของสมองใหญ่ ทั้งนี้การควบคุมอุณหภูมิของร่ายจะโดยการกำจัดความร้อนที่เกิดในร่างกายออกทางเหงื่อ (ทางผิวหนัง) และทางการหายใจ (ทางปอด)

เมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อโรคหรือจากบางสาเหตุ (เช่น มีเลือดออกในสมอง) จะส่งผลกระตุ้นให้สมองไฮโปธาลามัสตอบสนองด้วยการปรับอุณหภูมิร่างกายให้สูงขึ้น เนื้อเยื่อที่จะทำหน้าที่เพิ่มอุณหภูมิของร่างกายตามคำสั่งของสมองคือ กล้ามเนื้อและหลอดเลือด โดยหลอดเลือดจะหดตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนแพร่กระจายออกทางผิวหนังและทางปอด ซึ่งการหดตัวของหลอดเลือดนอกจากส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นแล้ว จะส่งผลให้ผู้มีไข้รู้สึกหนาวจากมีการลดปริมาณของเลือดที่หล่อเลี้ยง นอกจากนั้นกล้ามเนื้อต่างๆจะหดเกร็งจึงก่ออาการหนาวสั่น ซึ่งทั้งหมดคือ อาการไข้ขึ้น แต่เมื่อการกระตุ้นสมองไฮโปธาลามัสลดลง สมองไฮโปธาลามัสจะตอบสนองด้วยการปรับลดอุณหภูมิร่างกาย หลอดเลือดจะกลับมาขยาย เนื้อเยื่อต่างๆได้รับเลือดเพิ่มขึ้น อุณหภูมิในเนื้อเยื่อเหล่านั้นจึงเพิ่มขึ้น ร่างกายจึงขับความร้อนออกทางเหงื่อ ดังนั้นจึงเกิดอาการเหงื่อออกเมื่อไข้ลดลง

สาเหตุสำคัญและพบบ่อยที่ทำให้เกิดไข้คือ จากการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆที่พบบ่อยคือ

จากเชื้อไวรัส (ไวรัส: โรคจากติดเชื้อไวรัส) เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคหัด

และจากเชื้อแบคทีเรีย (แบคทีเรีย: โรคจากติดเชื้อแบคทีเรีย) เช่น โรคไข้จับสั่น โรคไอกรน โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคฉี่หนู และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ไข้จากสาเหตุอื่นๆที่พบได้บ้างเช่น จากโรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน โรคข้ออักเสบ รูมาตอย และโรคมะเร็ง
น้อยครั้งอาจมีไข้และแพทย์หาสาเหตุไม่ได้เรียกว่า เอฟยูโอ (FUO, Fever of unknown origin) หรือ พียูโอ (PUO, Pyrexia of unknown origin)

  • อาการที่มักเกิดจากร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติหรือมีไข้ได้แก่
  • หนาวสั่น
  • เหงื่อออก
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตัว อาจมีปวดข้อ
  • อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • เมื่อไข้สูงหรือไข้สูงเกิน อาจส่งผลต่อการทำงานของสมองได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงอาจ สับสน กระสับกระส่าย เห็นภาพหลอน และ/หรือชัก (มักพบในเด็กเล็กมากกว่าในผู้ใหญ่)

อนึ่ง นอกจากอาการดังกล่าว ไข้ยังมักเกิดร่วมกับอาการอื่นๆซึ่งแตกต่างกันตามสาเหตุของไข้เช่น ปวดท้องด้านขวาตอนล่างร้าวมาสะดือ หรือจากสะดือร้าวมาช่องท้องด้านขวาตอน ล่างเมื่อไข้เกิดจากไส้ติ่งอักเสบ หรือมีผื่นขึ้นตามตัวเมื่อไข้เกิดจากโรคหัด เป็นต้น

รักษาไข้

  • การลดไข้ โดยทั่วไปคือ การกินยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) และการเช็ดตัวเมื่อมีไข้สูง (อ่านเพิ่มเติมใน วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้) แต่ในบางครั้งเมื่อมีไข้ต่ำๆอาจไม่จำเป็น ต้องกินยาลดไข้ เพราะเมื่อรักษาสาเหตุไข้ก็จะลงกลับเป็นปกติเอง
  • การรักษาสาเหตุ คือ การรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ซึ่งขึ้นกับแต่ละสาเหตุเช่น ผ่าตัด เมื่อเกิดจากโรคไส้ติ่งอักเสบให้ยาปฏิชีวนะเมื่อเกิดจากโรคติดเชื้อแบคทีเรียเช่น โรคไอกรน หรือโรคฉี่หนู และรักษาโรคมะเร็งเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง
  • การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น รักษาอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อย ด้วยยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอล หรือให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อผู้ป่วยอ่อนเพลียมากหรือขาดน้ำ (ภาวะขาดน้ำ) เป็นต้น

การดูแลตนเองเมื่อมีไข้ที่สำคัญคือ การรู้อุณหภูมิของร่างกายเพราะเป็นตัวบอกความรุน แรงของโรค ดังนั้นจึงควรวัดอุณหภูมิร่างกาย (วิธีวัดปรอท) เสมออย่างน้อยทุก 6 - 8 ชั่วโมง หรือเมื่อสงสัยว่าไข้ขึ้นหรือไข้สูง (เช่น ปวดศีรษะมากขึ้น ซึมลง หรือกระสับกระส่ายมาก)

การดูแลตนเองในเรื่องอื่นๆได้แก่

พักผ่อนให้มากๆ หยุดงาน หยุดเรียน จนกว่าไข้ลงแล้วอย่างน้อย 1 - 2 วัน

กินอาหารอ่อน รสจืด หรืออาหารน้ำ/อาหารเหลว (ประเภทอาหารทางการแพทย์) กินครั้งละน้อยๆ แต่ให้บ่อยขึ้น
จิบน้ำ ดื่มน้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างน้อย 8 - 10 แก้วต่อวัน ดื่มครั้งละน้อยๆตลอดทั้งวัน เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ (ภาวะขาดน้ำ) ซึ่งจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไข้ลงช้า

สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆที่ระบายความร้อนได้ดีเช่น ผ้าฝ้ายอ

เช็ดตัวบ่อยๆเมื่อมีไข้สูงโดยเฉพาะบริเวณที่เป็นตำแหน่งของหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่เช่น ซอกลำคอและข้อพับต่างๆ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้)

กินยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) ไม่ควรกินยาแอสไพริน เพราะอาจเกิด การแพ้ยาแอสไพรินจนเกิดอันตรายได้

รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อความแข็งแรงของร่างกาย และลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นเมื่อไข้เกิดจากการติดเชื้อ)
ควรรีบพบแพทย์เสมอเมื่อ

  • ไข้สูง ไข้ไม่ลงภายใน 2 - 3 วันโดยเฉพาะเมื่อไข้สูงขึ้นทั้งๆที่ดูแลตนเองแล้ว แต่ถ้าในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น เด็กอ่อน เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ (เช่น เบาหวาน โรคติดเชื้อเอชไอวี) ควรพบแพทย์ภายใน 2 วันหรือถ้าอาการมากควรพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง
  • มีไข้ต่อเนื่องหรือขึ้นๆลงๆนานเกิน 3 - 4 วัน
  • ไข้ลงแล้ว 2 - 3 วันแล้วย้อนกลับมามีไข้อีก
  • เมื่อกังวลในอาการไข้

ควรพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงถ้ามีอาการรุนแรงอื่นๆร่วมด้วยเช่น ปวดศีรษะมาก หรือคลื่นไส้อาเจียนมาก หรือมีผื่นขึ้นตามตัว กระสับกระส่าย ไอรุนแรง ตากลัวแสง ไข้สูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส และ/หรือร่วมกับมีอาการทางปัสสาวะเช่น ปวดเบ่ง ปวดแสบเมื่อสุดปัสสาวะ
ควรพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินเมื่อมีไข้ร่วมกับ

  • ปวดศีรษะรุนแรง อาจร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน
  • คอบวมมาก หายใจไม่ออก แน่น อึดอัด
  • หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ตัวเขียว มือเท้าเขียวคล้ำ
  • สับสน กระสับกระส่ายมาก
  • ไอเป็นเลือด
  • ปวดท้องมากโดยเฉพาะปวดบริเวณสะดือ และ/หรือช่องท้องด้านขวาตอนล่าง
  • อาเจียนรุนแรงตลอดเวลา
  • ชัก
  • คอแข็งร่วมกับปวดศีรษะมากและ/หรือแขน/ขาอ่อนแรง
  • อาการอื่นๆที่รุนแรง