กระดานสุขภาพ

รบกวนสอบถามความเสี่ยงในเรื่องพิษสุนัข (แมว) บ้าครับ
Salu*****g

3 ธันวาคม 2560 12:16:01 #1

สวัสดีครับ ผมขอรบกวนสอบถามสักเล็กน้อยนะครับ ขอแยกเป็นกรณีๆนะครับ

 

๑. เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี ๓๐ พ.ย. คนในบ้านผมเอาขันน้ำแข็งไปตีหัวแมว (แมวเป็นแมวที่บ้านเองครับ) เบาๆ ๑ ที แล้วนำขันน้ำแข็งนั้นไปแช่ใส่กระติกเพื่อให้น้ำแข็งละลายไว้ใช้ดิ่ม ผมทราบเหตุการณ์เลยไม่ดื้นน้ำนั่น ผมเลยอยากทราบว่า หากแมวตัวนั้นได้มีตัวเลียมาเลียหัวให้แล้ว สัมผัสกับอากาศ เชื่อพิษสุนัขบ้านในน้ำลายจะตายไปไหมครับ แล้วถ้าหากมีเชื้อแล้วเชื้อเกิดไปปนเปื้อนในน้ำเย็น เชิ้อจะตายไหมครับ หรือปนกับน้ำครึ่งกระติกเชื้อจะตาบไหมครับ แล้วถ้าหากเรากินน่้ไในกระติกประมาณเย็นวันศุกร์ เราสามารถติดเชื้อได้ไหมครับ แล้วจะฉีดยาทันไหมครับ

 

๒.หากปากเรามีแผลร้อนใน แล้วโดยน้ำลานแมวจริงๆ หรือน้ำลายแมวที่โดนอากาศไปแล้ว เราจะสามารถติดเชื้อได้ไหมครับ

 

ขอบพระคุณครับ 

ป.ล.แมวตัวนั้นเป็นแมวที่บ้านเอง ไม่มีทีท่าว่าจะเป็นโรงพิษสุนัขบ้าครับ ผมสังเกตมาตลอดเลย แค่กังวลใจนิดๆครับ ขอบพระคุณครับ

อายุ: 24 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 95 กก. ส่วนสูง: 187ซม. ดัชนีมวลกาย : 27.17 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
Salu*****g

3 ธันวาคม 2560 12:25:06 #2

เพิิมเติมอีกหน่อยครับ น้ำที่ดื่มวันศุกร์ตอนเย็นอาจเป็นน้ำใหม่ เพราะกระติกไม่ใหญ่เลยครับ 

พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

5 ธันวาคม 2560 12:26:55 #3

โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น

 

  • สัตว์ในตระกูลสุนัข ทั้งสุนัขบ้านและสุนัขป่า (หมาป่า หมาจิ้งจอก หมาใน)
  • สัตว์ตระกูลแมว ทั้งแมวบ้านและแมวป่า
  • สัตว์ในตระกูลหนู ทั้งหนูบ้าน หนูนา หนูป่าหลายชนิด
  • นอกจากนี้ยังมี ค้างคาว วัว ควาย แพะ แกะ ม้า ลิง กระรอก พังพอน สกั๊ง ก็เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน

 

ในประเทศที่พัฒนาแล้วแทบไม่พบว่าสุนัขและสัตว์เลี้ยงในบ้านชนิดอื่นๆเป็นสาเหตุของโรค เนื่องจากมีการควบคุมการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงอย่างเข้มงวด ไม่มีสัตว์จรจัด สัตว์ที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ (มากกว่า 90%) จึงเป็นสัตว์ป่า เช่น แรคคูน สกั๊ง สุนัขจิ้งจอก และที่สำคัญคือค้างคาว ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย สุนัขยังคงเป็นสาเหตุที่สำคัญ โดย 96% ของผู้ป่วยไทยติดเชื้อมาจากสุนัขอีก 3 - 4 % มาจากแมว

 

คนจะติดเชื้อจากสัตว์เหล่านี้ได้โดย

  • จากการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัดข่วนหรือเลียผิวหนังที่มีบาดแผล โดยเชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าอยู่จะเข้าสู่ผิวหนังที่มีบาดแผล นอกจากนี้ เชื้อโรคอาจเข้าสู่ร่างกายผ่านเยื่อบุต่างๆคือ ปาก เยื่อบุตา ได้เช่นกัน
  • จากการหายใจเอาละอองไอน้ำที่มีเชื้อโรคอยู่ซึ่งพบได้น้อยมากมาก เช่น การเข้าไปในถ้ำที่มีค้างคาวอยู่กันเป็นล้านๆตัว หรือเจ้าหน้าที่ในห้องแลปที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสชนิดนี้
  • มีรายงานว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจากการเปลี่ยนถ่ายกระจกตาประมาณ 8 รายจากทั่วโลก และจากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะอื่นๆประมาณ 3 ราย ซึ่งอาจเกิดจากผู้ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยในตอนแรก

 

ข้อบ่งใช้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าคือ ใช้สำหรับป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในเด็กและในผู้ใหญ่ ทั้งแบบป้องกันล่วงหน้าก่อนถูกสัตว์กัด (Pre-exposure vaccination) หรือใช้หลังสัมผัสโรค/เมื่อถูกสัตว์กัด/สัตว์เลียแผล (Post-exposure vaccination) ดังนี้

 

1. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า (Pre-exposure vaccination) มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าดังนี้

  • บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อพิษสุนัขบ้าเช่น บุคลากรในห้องทดลองและผู้ทำการค้นคว้าวิจัยหรือทำงานด้านการผลิตเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า จึงแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อนี้ควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันล่วงหน้า เมื่อทำการฉีดวัคซีนตามตารางที่กำหนดแล้ว ให้ทำการตรวจสอบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ภูมิคุ้มกันฯโรคนี้ทุกๆ 6 เดือนเพื่อคงระดับภูมิคุ้มกันฯให้อยู่ในช่วงการป้องกันโรคนี้ โดยระดับภูมิคุ้มกันฯในเลือดที่สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้คือ 0.5 ยูนิต/มิลลิลิตร กรณีพบว่าระดับภูมิคุ้มกันฯต่ำกว่าเกณฑ์ควรรับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้ากระตุ้นภูมิคุ้มกันฯซ้ำ 1 เข็ม
  • บุคคลที่มีความเสี่ยงแต่ต่ำกว่ากลุ่มแรกได้แก่ สัตวแพทย์ ผู้ช่วยสัตวแพทย์ ผู้ดูแลสัตว์/สัมผัสสัตว์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ บุรุษไปรษณีย์ ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเช่น เดียวกันและควรตรวสอบภูมิคุ้มกันฯทุก 1 ปี
  • บุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าทั้ง 2 กลุ่มได้แก่ นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้และเด็กที่อาศัยอยู่ในเขตโรคนี้ระบาด ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่อาจไม่จำเป็นต้องตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันฯ

ประโยชน์ของการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสนี้ มีประโยชน์หลายประการเช่น ในผู้ที่จำเป็นต้องสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำ การฉีดวัคซีนฯเพื่อป้องกันจะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันโรคฯสูงพอที่ป้องกันการติดเชื้อฯในกรณีที่ไปสัมผัสโรคฯที่อาจไม่รู้ตัว อีกทั้งยังทำให้การรักษาภายหลังสัมผัสโรคฯมีค่าใช้จ่ายลดลงและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น เพราะผู้ป่วยที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน กรณีได้รับบาดเจ็บจากสัตว์สามารถรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ากระตุ้นเพิ่มเติมอีก 1 - 2 ครั้งเท่านั้นและไม่จำเป็นต้องให้ยาอิมมูโนโกลบุลิน แม้การสัมผัสโรคจะรุนแรงคือเกิดบาดแผลที่มีเลือดไหล

 

2. การฉีดวัคซีนนี้ป้องกันหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า (Post-exposure vaccination) มีจุด ประสงค์เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรคฯ

ขนาดและตารางเวลาในการฉีดวัคซีนสำหรับป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในเด็กและในผู้ใหญ่จะเหมือนกัน ดังนั้นจึงสามารถปฏิบัติตามตารางเวลาในการฉีดวัคซีนได้ทั้งผู้ป่วยเด็กและผู้ป่วยผู้ใหญ่ โดยวิธีการฉีดวัคซีนจะแตกต่างกันตามจุดประสงค์ในการฉีดดังนี้

1. การฉีดแบบป้องกันล่วงหน้า (Pre-exposure immunization) ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่: แนะ นำให้ฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 3 เข็มโดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ณ วันที่ 0 (เข็มที่ 1), ณ วันที่ 7 (เข็มที่ 2) และ ณ วันที่ 21 หรือ 28 (เข็มที่ 3) เมื่อฉีดครบทั้งสิ้น 3 เข็มถือว่าครบวัคซีนชุดแรก (Primary vaccination) โดยวันที่ฉีดอาจคลาดเคลื่อนได้บ้างเล็กน้อย 1 - 2 วัน

2. การฉีดวัคซีนกระตุ้นหลังได้รับวัคซีนแบบป้องกันล่วงหน้าทั้งในเด็กและผู้ใหญ่: ภายหลังได้รับวัคซีนชุดแรก (Primary vaccination) ครบ 1 ปีแล้ว ให้ทำการฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีก 1 เข็ม จากนั้นกระตุ้นซ้ำทุกๆ 5 ปี ทั้งนี้อาจพิจารณาการฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสูง ซึ่งจะทำการฉีดเข็มกระตุ้นซ้ำเมื่อทำการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันแล้วต่ำกว่า 0.5 ยูนิต/มิลลิลิตร

3. การฉีดแบบป้องกันหลังสัมผัสโรค (Post-exposure immunization) ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่: วิธีการฉีดวัคซีนสำหรับการป้องกันหลังสัมผัสโรคคือ ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular) หรือฉีดเข้าในผิวหนัง (Intradermal) โดยให้ฉีดวัคซีนในช่วง 14 วันแรกภายหลังสัมผัสโรคเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค ดังนั้นผู้ป่วยควรมารับวัคซีนให้ตรงตามตารางเวลาที่กำหนดเสมอ กรณีมาผิดนัดโดยทั่วไปจะทำการฉีดวัคซีนเข็มต่อไปเลยโดยไม่ต้องเริ่มการฉีดวัคซีนใหม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตามขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ร่วมด้วย

3.1 วิธีฉีดสำหรับป้องกันหลังสัมผัสโรคทั้งในเด็กและผู้ใหญ่:

ก.กรณีฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular):

  • ในรายที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน จะต้องฉีดวัคซีนเข้ากล้ามฯทั้งสิ้น จำนวน 5 เข็มโดยฉีดวัคซีนครั้งละ 1 เข็ม (0.5 มิลลิลิตรหรือ 1 มิลลิลิตรแล้วแต่วัคซีนแต่ละชนิด) ณ วันที่ 0 (เข็มที่ 1), ณ วันที่ 3 (เข็มที่ 2), ณ วันที่ 7 (เข็มที่ 3), ณ วันที่ 14 (เข็มที่ 4) และ ณ วันที่ 28 หรือ 30 (เข็มที่ 5)
  • ในรายที่เคยได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันล่วงหน้ามาก่อนโดยได้รับวัคซีนครบตามจำนวนแล้ว สามารถฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 1 เข็มในกรณีที่ได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข็มสุดท้ายมาน้อยกว่า 6 เดือน โดยฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ 1 เข็ม (0.5 มิลลิลิตรหรือ 1 มิลลิลิตรแล้วแต่วัคซีนแต่ละชนิด) ณ วันที่ 0 (เข็มที่ 1) เพียงครั้งเดียวเท่านั้น, และกรณีได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข็มสุดท้ายมานานกว่า 6 เดือน (โดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วยได้รับมานานเท่าใดก็ตาม) ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข้ากล้ามเนื้อทั้งหมดจำนวน 2 เข็มคือ ฉีด ณ วันที่ 0 (เข็มที่ 1) และ ณ วันที่ 3 (เข็มที่ 2) และไม่จำเป็นต้องฉีดยาอิมมูโนโกลบุลินป้องกันเชื้อพิษสุนัขบ้า

 

ข. กรณีฉีดเข้าในผิวหนัง (Intradermal): การฉีดด้วยวิธีนี้มีข้อจำกัดโปรดศึกษาหัวข้อ “วิธีบริหารวัคซีนฯ” เพิ่มเติม

    • ในรายที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อนเลย จะต้องฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนัง ทั้งสิ้นจำนวน 4 ครั้ง/ชุด โดยฉีดเข้าในผิวหนังบริเวณต้นแขนทั้ง 2 ข้างข้างละ 1 จุด (รวม 2 จุด) โดยปริมาณวัคซีนที่ฉีดเข้าแต่ละจุดคือ 0.1 มิลลิลิตร ณ วันที่ 0 (ครั้งที่ 1, 2 จุด), ณ วันที่ 3 (ครั้งที่ 2, 2 จุด), ณ วันที่ 7 (ครั้งที่ 3, 2 จุด) และ ณ วันที่ 28 (ครั้งที่ 4, 2 จุด)
    • ในรายที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันฯล่วงหน้าครบตามจำนวนมาก่อนแล้ว สามารถฉีดวัคซีนฯหลังสัมผัสโรคเข้าในผิวหนังจำนวน 1 เข็มในกรณีที่ได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข็มสุดท้ายมาน้อยกว่า 6 เดือน โดยฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเข้าในผิวหนังปริมาณ 0.1 มิลลิลิตรจำนวน 1 จุด ณ วันที่ 0 (เข็มที่ 1) เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
    • กรณีได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข็มสุดท้ายมานานกว่า 6 เดือน (โดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วยได้รับมานานเท่าใดก็ตาม) ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข้าในผิวหนังปริมาณ 0.1 มิลลิลิตรจำนวน 2 เข็มคือ ฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนังจำนวน 1 จุด ณ วันที่ 0 (เข็มที่ 1) ณ วันที่ 3 (เข็มที่ 2) และไม่จำเป็นต้องฉีดยาอิมมูโนโกลบุลินป้องกันเชื้อพิษสุนัขบ้า

 

3.2 กรณีผู้ป่วยมีการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าซ้ำในช่วงที่กำลังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอยู่: ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีก เพราะพบว่าขณะนั้นผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันเพียงพอในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอยู่แล้วและไม่จำเป็นต้องฉีดยาอิมมูโนโกลบุลินป้องกันเชื้อพิษสุนัขบ้า