กระดานสุขภาพ

อาการตัวร้อนช่วงหลังเที่ยงคืน
Anonymous

9 กันยายน 2560 08:12:33 #1

คุณแม่มีอาการตัวร้อนช่วงหลังเที่ยงคืน บางคืนเป็นมาก บางคืนเป็นน้อย ให้ทานยาพาราก็ไม่ดีขึ้น และไม่ยอมไปพบหมอ ควรจะให้ทานยาอะไรคะ

อายุ: 93 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 70 กก. ส่วนสูง: 170ซม. ดัชนีมวลกาย : 24.22 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

12 กันยายน 2560 09:17:11 #2

ไข้ (Fever หรือ Pyrexia) เป็นอาการไม่ใช่โรค (โรค อาการ ภาวะ) เป็นอาการซึ่งร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองเมื่อมีการติดเชื้อโรคหรือมีการเจ็บป่วยจากสาเหตุบางสาเหตุเช่น การอักเสบของเนื้อเยื่อจากโรคภูมิต้านตนเอง (โรคออโตอิมมูน) โดยไข้จะเกิดอยู่เพียงชั่วคราวเฉพาะในช่วงเกิดโรคหรือมีการเจ็บป่วย

ในการวินิจฉัยว่าเป็นไข้หรือมีอาการไข้ที่แน่นอนคือ การวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไปรู้จักกันในนามของปรอทวัดไข้ เพราะใช้สารปรอทที่บรรจุอยู่ในท่อหลอดแก้วเป็นตัวบอกค่าอุณหภูมิ ทั้งนี้ที่นิยมที่สุดคือ การวัดที่ใต้ลิ้นหรือเรียกว่า ‘อมปรอท’ แต่วิธีนี้ไม่สามารถใช้กับคนที่ไม่สามารถอมปรอทได้เช่น เด็กอ่อน เด็กเล็ก หรือผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ซึ่งคนไข้ในกลุ่มนี้มักวัดปรอททางรักแร้ (หนีบปรอทไว้ใต้รักแร้) หรือสอดปรอทวัดไข้ทางทวารหนัก นอกจากนั้นในปัจจุบันยังมีเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายชนิดใหม่ๆที่สะดวกกว่าปรอทวัดไข้ แต่ราคาแพงกว่าเช่น เครื่องวัดอุณหภูมิฯผ่านทางรูหู เครื่องวัดอุณหภูมิฯทางผิว หนัง และเครื่องวัดอุณหภูมิฯสำหรับคนหมู่มากเมื่อมีการระบาดของบางโรค เป็นต้น

อุณหภูมิปกติของร่างกายไม่คงที่ แต่แปรเปลี่ยนได้เสมอประมาณ 0.5 - 1 องศาเซลเซียส (Celsius) ในแต่ละวัน ทั้งนี้ขึ้นกับหลายปัจจัยเช่น ช่วงเวลาของวัน (อุณหภูมิร่างกายจะต่ำสุดในช่วงประมาณ 6 โมงเช้าและจะสูงสุดในช่วงประมาณ 4 โมงเย็น) ในผู้หญิงช่วงตกไข่ (อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้น) ขณะเล่นกีฬา (อุณหภูมิจะสูงขึ้น) อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม (ถ้าอา กาศร้อนอุณหภูมิของร่างกายจะสูงขึ้น และเมื่ออากาศเย็นอุณหภูมิของร่างกายก็จะต่ำลง) อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นเมื่อใส่เสื้อผ้าหนาๆโดยเฉพาะในเด็กอ่อน หรือขึ้นกับตำแหน่งการวัดอุณหภูมิ (อุณหภูมิจะสูงสุดเมื่อวัดผ่านทางทวารหนัก และอุณหภูมิจะต่ำสุดเมื่อวัดทางผิวหนัง)

อย่างไรก็ตาม ยอมรับกันในทุกวงการและในทางการแพทย์ว่า อุณหภูมิปกติของร่างกาย คือ 37 องศาเซลเซียสหรือองศาซี (℃) หรือ 98.6 องศาฟาเรนไฮต์ (Fahrenheit) หรือองศาเอฟ (℉) แต่ประเทศไทยนิยมใช้องศาเซลเซียสมากกว่าองศาฟาเรนไฮต์ ดังนั้นในบทความนี้ต่อไป เมื่อกล่าวถึงอุณหภูมิของร่างกายจะกล่าวเฉพาะเป็น “องศาเซลเซียส” เท่านั้น

อุณหภูมิที่ถือว่าเป็นไข้หรือมีไข้โดยทั่วไปคือสูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ถ้าสูงไม่เกิน 38 องศาเซลเซียสเรียกว่า “ไข้ต่ำ (Low grade fever)” แต่ถ้าสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส เรียกว่า “ไข้สูง (High grade fever)” และถ้าสูงเกิน 41.5 องศาเซลเซียสเรียกว่า “ไข้สูงเกิน(Hyperpyrexia)” ซึ่งจัดว่าอันตรายที่สุด มักเกิดจากการติดเชื้อโรคชนิดมีความรุนแรงสูงมากในกระแสโลหิต (กระแสเลือด) หรือที่เรียกว่าภาวะพิษเหตุติดเชื้อ แต่ที่ได้พบบ่อยคือเกิดจากภาวะมีเลือดออกในสมอง

อนึ่ง อุณหภูมิของร่างกายจัดเป็นหนึ่งในสัญญาณชีพ (Vital sign) ซึ่งแสดงถึงการมีชีวิต และเป็นตัวบอกถึงการเจ็บป่วย ซึ่งเมื่อเราเจ็บป่วยและไปพบแพทย์ การตรวจพื้นฐานตั้งแต่แรกสำหรับผู้ป่วยทุกคนคือ การตรวจวัดสัญญาณชีพซึ่งได้แก่

อุณหภูมิร่างกาย (Temperature หรือ T)
ชีพจร (Pulse หรือ P)
ความดันโลหิต/ความดันเลือด (Blood pressure หรือ BP/บีพี)
และอัตราการหายใจ (Respiratory rate หรือ R หรือ RR/อาร์อาร์)

สาเหตุสำคัญและพบบ่อยที่ทำให้เกิดไข้คือ จากการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆที่พบบ่อยคือ

- จากเชื้อไวรัส (ไวรัส: โรคจากติดเชื้อไวรัส) เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคหัด
และจากเชื้อแบคทีเรีย (แบคทีเรีย: โรคจากติดเชื้อแบคทีเรีย) เช่น โรคไข้จับสั่น โรคไอกรน โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคฉี่หนู และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ไข้จากสาเหตุอื่นๆที่พบได้บ้างเช่น จากโรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน โรคข้ออักเสบ รูมาตอย และโรคมะเร็ง

น้อยครั้งอาจมีไข้และแพทย์หาสาเหตุไม่ได้เรียกว่า เอฟยูโอ (FUO, Fever of unknown origin) หรือ พียูโอ (PUO, Pyrexia of unknown origin)

รักษาไข้ได้อย่างไร?

- การลดไข้ โดยทั่วไปคือ การกินยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) และการเช็ดตัวเมื่อมีไข้สูง (อ่านเพิ่มเติมใน วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้) แต่ในบางครั้งเมื่อมีไข้ต่ำๆอาจไม่จำเป็น ต้องกินยาลดไข้ เพราะเมื่อรักษาสาเหตุไข้ก็จะลงกลับเป็นปกติเอง
- การรักษาสาเหตุ คือ การรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ซึ่งขึ้นกับแต่ละสาเหตุเช่น ผ่าตัด เมื่อเกิดจากโรคไส้ติ่งอักเสบให้ยาปฏิชีวนะเมื่อเกิดจากโรคติดเชื้อแบคทีเรียเช่น โรคไอกรน หรือโรคฉี่หนู และรักษาโรคมะเร็งเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง
- การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น รักษาอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อย ด้วยยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอล หรือให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อผู้ป่วยอ่อนเพลียมากหรือขาดน้ำ (ภาวะขาดน้ำ) เป็นต้น

  • การดูแลตนเองเมื่อมีไข้ที่สำคัญคือ การรู้อุณหภูมิของร่างกายเพราะเป็นตัวบอกความรุน แรงของโรค ดังนั้นจึงควรวัดอุณหภูมิร่างกาย (วิธีวัดปรอท) เสมออย่างน้อยทุก 6 - 8 ชั่วโมง หรือเมื่อสงสัยว่าไข้ขึ้นหรือไข้สูง (เช่น ปวดศีรษะมากขึ้น ซึมลง หรือกระสับกระส่ายมาก)
  • การดูแลตนเองในเรื่องอื่นๆได้แก่
  • พักผ่อนให้มากๆ หยุดงาน หยุดเรียน จนกว่าไข้ลงแล้วอย่างน้อย 1 - 2 วัน
  • กินอาหารอ่อน รสจืด หรืออาหารน้ำ/อาหารเหลว (ประเภทอาหารทางการแพทย์) กินครั้งละน้อยๆ แต่ให้บ่อยขึ้น
  • จิบน้ำ ดื่มน้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างน้อย 8 - 10 แก้วต่อวัน ดื่มครั้งละน้อยๆตลอดทั้งวัน เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ (ภาวะขาดน้ำ) ซึ่งจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไข้ลงช้า
  • สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆที่ระบายความร้อนได้ดีเช่น ผ้าฝ้ายอ
  • เช็ดตัวบ่อยๆเมื่อมีไข้สูงโดยเฉพาะบริเวณที่เป็นตำแหน่งของหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่เช่น ซอกลำคอและข้อพับต่างๆ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้)
  • กินยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) ไม่ควรกินยาแอสไพริน เพราะอาจเกิด การแพ้ยาแอสไพรินจนเกิดอันตรายได้
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อความแข็งแรงของร่างกาย และลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นเมื่อไข้เกิดจากการติดเชื้อ)
  • ควรรีบพบแพทย์เสมอเมื่อ
    • ไข้สูง ไข้ไม่ลงภายใน 2 - 3 วันโดยเฉพาะเมื่อไข้สูงขึ้นทั้งๆที่ดูแลตนเองแล้ว แต่ถ้าในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น เด็กอ่อน เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ (เช่น เบาหวาน โรคติดเชื้อเอชไอวี) ควรพบแพทย์ภายใน 2 วันหรือถ้าอาการมากควรพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง
    • มีไข้ต่อเนื่องหรือขึ้นๆลงๆนานเกิน 3 - 4 วัน
    • ไข้ลงแล้ว 2 - 3 วันแล้วย้อนกลับมามีไข้อีก
    • เมื่อกังวลในอาการไข้
  • ควรพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงถ้ามีอาการรุนแรงอื่นๆร่วมด้วยเช่น ปวดศีรษะมาก หรือคลื่นไส้อาเจียนมาก หรือมีผื่นขึ้นตามตัว กระสับกระส่าย ไอรุนแรง ตากลัวแสง ไข้สูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส และ/หรือร่วมกับมีอาการทางปัสสาวะเช่น ปวดเบ่ง ปวดแสบเมื่อสุดปัสสาวะ
  • ควรพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินเมื่อมีไข้ร่วมกับ
    • ปวดศีรษะรุนแรง อาจร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน
    • คอบวมมาก หายใจไม่ออก แน่น อึดอัด
    • หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ตัวเขียว มือเท้าเขียวคล้ำ
    • สับสน กระสับกระส่ายมาก
    • ไอเป็นเลือด
    • ปวดท้องมากโดยเฉพาะปวดบริเวณสะดือ และ/หรือช่องท้องด้านขวาตอนล่าง
    • อาเจียนรุนแรงตลอดเวลา
    • ชัก
    • คอแข็งร่วมกับปวดศีรษะมากและ/หรือแขน/ขาอ่อนแรง
    • อาการอื่นๆที่รุนแรง