กระดานสุขภาพ

ปวดใต้ซี่โึครงซ้ายและขวา
Anonymous

2 กันยายน 2560 17:17:45 #1

สวัสดี ครับ คุณ หมอ ผมมีเรื่องจะปรึกษาครับ คือผมเรียนจบใหม่ๆก็ได้ทำงานที่ต้องเข้ากะ ทำงานประมาณหนึ่งปีก็มีอาการเจ็บที่ใต้ซี่โครงขวา เจ็บเหมือนมีอะไรมากระแทก และปวดอยู่ตลอดเวลา ไม่ปวดเฉพาะเวลานอนแล้วหลับเท่านั้น ไปปรึกษาหมอๆบอกว่ากินข้าวไม่ตรงเวลา ก็กินยาเกี่ยวกับโรคกระเพาะมาโดยตลอดระยะเวลา10ปี แต่ไม่ดีขึ้นเลย จึงตัดสินใจส่องกล้องและสแกนคอมพิวเตอร์ ผลออกมาก็ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ หมอก็เลยให้ยาคลายเครียดมากินแต่ก็ไม่ได้ดีขึ้น ตอนนี้ปวดมากครับ ต้องนอนให้หลับอยางเดียวถึงจะบรรเทาแต่ถ้าตื่นขึ้นเมื่อไหร่ก็จะเจ็บตลอดทั้งวันครับ อยากทราบว่าผมเป็นอะไรครับ จะมีทางรักษาให้หายไหมครับ
อายุ: 35 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 70 กก. ส่วนสูง: 180ซม. ดัชนีมวลกาย : 21.60 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

4 ตุลาคม 2560 08:41:20 #2

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการปวดท้องได้จาก ประวัติลักษณะอาการปวด ตำแหน่งที่เกิดอาการ อาการร่วมอื่นๆ ร่วมกับ การตรวจร่างกายและอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เพื่อดูการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย การตรวจภาพช่องท้องด้วยเอกซเรย์ธรรมดา หรือ อัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การส่องกล้องตรวจอวัยวะในช่องท้องและอาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

  • วินิจฉัยจากลักษณะอาการปวดท้อง เช่น
  • เมื่อปวดแบบปวดบิด เป็นพักๆ มักเกิดจากโรคของอวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อ เช่น ลำไส้ หรือ ท่อไต
  • เมื่อปวดเป็นพักๆ ปวดแน่น อาการหายไปเมื่อผายลม หรือ เรอ หรืออาการปวดเคลื่อนที่ได้ มักเกิดจากการมีก๊าซในกระเพาะอาหาร และ/หรือ ลำไส้
  • เมื่อปวดแสบ ใต้ลิ้นปี่ และอาการปวดดีขึ้นเมื่อกินอาหาร หรือ อาการปวดสัมพันธ์กับการกินอาหาร มักเกิดจากโรคของกระเพาะอาหาร หรือ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร
  • อาการปวดร้าว เช่น ปวดร้าวขึ้นอก หรือ ขึ้นในบริเวณกระดูกกราม แพทย์มักนึกถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • เมื่อปวดเฉพาะจุด หรือ กดเจ็บเฉพาะจุด มักเกิดจากการอักเสบของอวัยวะในตำแหน่งนั้น เช่น โรคตับอักเสบ หรือ โรคไส้ติ่งอักเสบ
  • เมื่อปวดท้องเหนือกระดูกหัวหน่าว ปวดเบ่งปัสสาวะ หรือปวดแสบเมื่อสุดปัสสาวะ มักเกิดจากโรคของกระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • เมื่อปวดเบ่งอุจจาระ มักเกิดจากโรคของลำไส้ใหญ่ เช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบ หรือ ท้องเสีย
  • ตำแหน่งที่ปวดท้อง คือ

โดยทั่วไปมักแบ่งตำแหน่งของช่องท้องได้เป็น 7 ส่วน คือ เมื่อใช้สะดือเป็นจุดศูนย์กลาง จะแบ่งช่องท้องเป็น ช่องท้องส่วนบน(ส่วนอยู่เหนือสะดือ) และช่องท้องส่วนล่าง (ส่วนอยู่ต่ำกว่าสะดือ) ซึ่งเมื่อร่วมกับการแบ่งช่องท้องตามยาว จากเส้นสมมุติกลางลำตัว ที่จะแบ่งช่องท้องเป็นซีกซ้าย และซีกขวา ดังนั้นเมื่อร่วมการแบ่งด้วยสะดือ และเส้นแบ่งกลางลำตัวเข้าด้วยกัน ช่องท้องจะแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนด้านซ้ายตอนบน ส่วนด้านซ้ายตอนล่าง ส่วนด้านขวาตอนบน และส่วนด้านขวาตอนล่าง และเพิ่มอีก 3 ส่วน คือ ส่วน หรือ บริเวณ ใต้ลิ้นปี่ หรือ ยอดอก(Epigastrium) บริเวณรอบสะดือ และบริเวณเหนือกระดูกหัวหน่าว(กระดูกตรงกลางด้านหน้า และอยู่ล่างสุดชองช่องท้อง) ซึ่งเมื่อมีอาการปวดท้องในตำแหน่งเหล่านี้ มักเป็นตัวชี้นำว่า น่ามีโรคของอวัยวะต่างๆที่อยู่ในตำแหน่งเหล่านี้
เมื่อปวดท้องด้านซ้ายตอนบน (อวัยวะที่อยู่ในช่องท้องส่วนนี้ คือ กระเพาะอาหาร ม้าม ลำไส้ ตับอ่อน และไตซ้าย) โรคที่เป็นสาเหตุ อาจเป็น กระเพาะอาหาร ม้าม ลำไส้ที่อยู่ในส่วนด้านซ้ายตอนบน ตับอ่อน(ซึ่งอาการปวดมักร้าวไปด้านหลัง เพราะตับอ่อนอยู่ติดทางด้านหลัง) และไตซ้าย เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ การบาดเจ็บของม้ามจากถูกกระแทก ตับอ่อนอักเสบ ลำไส้อักเสบ ไตอักเสบ หรือ นิ่วในไต

  • เมื่อปวดท้องด้านซ้ายตอนล่าง (อวัยวะที่อยู่ในช่องท้องส่วนนี้ คือ ลำไส้ และในผู้หญิง จะมีปีกมดลูกซ้าย และรังไข่ซ้าย) โรคที่เป็นสาเหตุ อาจเกิดจากโรคของลำไส้ในส่วนด้านซ้ายตอนล่าง ปีกมดลูก และรังไข่ซ้าย เช่น ลำไส้อักเสบ ปีกมดลูก หรือ รังไข่ด้านซ้ายอักเสบ
  • เมื่อปวดท้องด้านขวาตอนบน โรคอาจเกิดจาก ตับ ท่อน้ำดี ถุงน้ำดีลำไส้ส่วนที่อยู่ในช่องท้องด้านขวาตอนบน และไตขวา
  • เมื่อปวดท้องด้านขวาตอนล่าง โรคอาจเกิดจาก ไส้ติ่ง ลำไส้ส่วนด้านขวาตอนล่าง ปีกมดลูก หรือ รังไข่ขวา
  • เมื่อปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ มักเกิดจากโรคกระเพาะอาหาร
  • เมื่อปวดรอบๆสะดือ มักเกิดจากโรคของไส้ติ่ง
  • เมื่อปวดบริเวณเหนือหัวหน่าว มักเกิดจากโรคของกระเพาะปัสสาวะหรือ ของมดลูก
  • อาการร่วมอื่นๆ อาการปวดท้องอาจเกิดร่วมกับอาการอื่นๆได้ ที่พบบ่อย คือ
  • คลื่นไส้ อาเจียน มักเกิดจากโรคของ ลำไส้ หรือ ตับ หรือ ลำไส้อุดตัน
  • อาการไข้ มักเกิดจากมีการอักเสบ เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ
  • อาเจียนเป็นเลือด มักเกิดจากโรคของกระเพาะอาหาร เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร
  • ไม่ผายลม มักเกิดจากลำไส้อุดตัน เช่น จากท้องผูกมาก หรือ มีก้อนเนื้ออุดตันในลำไส้
  • อุจจาระเป็นเลือด มักเกิดจากโรคของลำไส้ใหญ่ด้านซ้ายล่าง เช่น มีแผลอักเสบ
  • อุจจาระดำเหมือนยางมะตอย มักเกิดจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร
  • การคลำได้ก้อนเนื้อ มักเกิดจากโรคมะเร็ง หรือโรคเนื้องอกรังไข่
  • ร่วมกับมีอาการทางปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดเบ่งปัสสาวะมักเกิดจากโรคของกระเพาะปัสสาวะ หรือ ไตหรือ ต่อมลูกหมาก เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไตอักเสบ หรือ นิ่วในไต
  • เมื่อปวดร้าวไปด้านหลัง อาจเป็นโรคของ ตับอ่อน หรือ ไต หรือ ท่อไตเช่น ตับอ่อนอักเสบ นิ่วในไต หรือ นิ่วในท่อไต
  • ตัว ตาเหลือง อาจเป็นโรคของ ตับ ท่อน้ำดี ถุงน้ำดี เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ โรคถุงน้ำดีอักเสบ
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือ ตกขาว มักเกิดจากโรคของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เช่น โรคของ ช่องคลอด ปากมดลูก ปีกมดลูก และมดลูก เช่น ช่องคลอดอักเสบ ปากมดลูกอักเสบ หรือ มะเร็งปากมดลูก

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการปวดท้อง และการพบแพทย์ คือ

  • พักผ่อน
  • ลดปริมาณอาหารแต่ละมื้อลง กินเฉพาะอาหารอ่อน หรือ อาหารเหลว อาหารน้ำ รสจืด (อ่านเพิ่มเติมใน ประเภทอาหารทางการแพทย์)
  • เมื่ออาการปวดท้องสัมพันธ์กับอาหาร อาจกินยาลดกรด หรือ ยาเคลือบกระเพาะ
  • กินยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol) หลีกเลี่ยงยาแก้ปวดในกลุ่มเอนเสดส์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโปรเฟน(Ibuprofen) เพราะเป็นกลุ่มยาที่มีผลข้างเคียงก่อการอักเสบของเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหาร จึงอาจยิ่งเพิ่มอาการปวดท้อง
  • ควรรีบพบแพทย์เมื่อปวดท้องร่วมกับ
    • แน่นอึดอัดท้อง ต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์
    • ท้องอืด ท้องเฟ้อ และผอมลง
    • มีภาวะซีดร่วมด้วย เพราะอาจจากมีเลือดออกครั้งละน้อยๆจนสังเกตไม่เห็นจากมีแผลเรื้อรังในกระเพาะอาหารหรือ ในลำไส้
    • ปวดท้องต่อเนื่อง อาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 วัน
    • คลื่นไส้ อาเจียน และ/หรือ ไม่ผายลม ไม่ถ่ายอุจจาระ/ท้องผูก
    • ท้องเสีย ไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังดูแลตนเอง
    • มีไข้ร่วมด้วย และอาการไข้ และอาการปวดท้องไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง
    • ปัสสาวะมีเลือดปน (อ่านเพิ่มเติมใน ปัสสาวะเป็นเลือด) หรือ แสบขัด หรือ มีคล้ายเม็ดทราย หลุดปนมาด้วย
    • อุจจาระมีเลือดปนบ่อย (อ่านเพิ่มเติมใน อุจจาระเป็นเลือด)
    • ปวดประจำเดือนมากจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
    • เมื่ออาการปวดท้องไม่ดีขึ้น หรือ อาการปวดท้องเลวลงหลังดูแลตนเอง
    • เมื่อกังวลในอาการปวดท้อง
  • ควรพบแพทย์ฉุกเฉินเมื่อปวดท้องร่วมกับ
    • เพิ่งได้รับอุบัติเหตุที่ช่องท้อง
    • มีไข้ (ได้ทั้งไข้ต่ำ หรือ ไข้สูง) โดยเฉพาะเมื่อปวด/เจ็บท้องเพียงจุดเดียว อาจร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน
    • คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับ ไม่ผายลม และ/หรือ ท้องผูก
    • อาเจียนเป็นเลือด
    • อุจจาระเป็นเลือด
    • ปวดท้องมากไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 ชั่วโมง
    • ท้องแข็ง กดเจ็บมาก อาจเพียงตำแหน่งเดียว หรือ ทั่วทั้งช่องท้อง
    • ปวดแน่นหน้าอก ร้าวไปแขน และ/หรือ กระดูกกราม ซึ่งมักเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ