กระดานสุขภาพ

การตรวจแบบ IgM สามารถแยก type ของเริมได้หรือปล่าวค่ะ ต้องไปโรงพยาบาลใหนค่ะ
Bua9*****9

27 สิงหาคม 2560 03:45:16 #1

รบกวนสอบถามค่ะ

ดิฉันเป็นเริม type1 ที่ริมฝีปากนานแล้ว และอยากรู้ว่าที่ผ่านมาเป็น type2 หรือปล่าว เนื่องจากไม่เคยมีอาการของ type2 เลยค่ะ ได้อ่านเจอว่าผู้ติดเริม type2 อาจไม่แสดงอาการเลย ดิฉันได้ไปตรวจแบบ

Herpes Simplex Virus IgM (by CLIA) ผลคือ Positive แต่ไม่สามารถแยก type ได้

เจ้าหน้าที่แลบแนะนำให้ตรวจแบบ

Herpes Simplex Virus(HSV) 1,2 PCR(EDTA-blood) Real time PCR ผลคือ

Herpes simplex virus type1...Undetectable

Herpes simplex virus type2...Undetectable

แต่จุดประสงค์ของดิฉันคือ อยากทราบว่าที่ผ่านมาดิฉันติดเริม type2 หรือปล่าว ต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลใหนค่ะ

ต้องตรวจแบบใหนค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

 

 

 

 

อายุ: 39 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 42 กก. ส่วนสูง: 154ซม. ดัชนีมวลกาย : 17.71 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

27 สิงหาคม 2560 15:35:30 #2

ก่อนอื่นต้องขออนุญาตสอบถามให้ข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัส Herpes simplex virus ก่อนนะคะ

เริม หรือ โรคเริม (Herpes simplex) เป็นโรคทางผิวหนังที่พบบ่อยอีกโรคหนึ่ง พบได้ในทุกอายุ แต่พบได้บ่อยกว่าในวัยหนุ่มสาวและในวัยผู้ใหญ่ โอกาสเกิดโรคใกล้ เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย และจัดเป็นโรคติดต่อ

โรคเริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ชื่อ เฮอร์ปี ซิมเพล็กไวรัส หรือ เรียกย่อว่า เอชเอสวี (Herpes simplex virus, HSV) ซึ่งเป็นไวรัสต่างชนิดกับโรคงูสวัดและโรคอีสุกอี ใส ถึงแม้จะก่อให้เกิดตุ่มน้ำกับผิวหนังได้คล้ายๆกัน
ไวรัส เอชเอสวี มี 2 ชนิด คือ ชนิด 1 (HSV-1) และชนิด 2 (HSV-2) โดย เอช เอสวี-1 มักเป็นสาเหตุติดเชื้อในช่องปากและริมฝีปาก ส่วนเอชเอสวี-2 มักเป็นสาเหตุติดเชื้อในอวัยวะเพศภายนอกและในช่องคลอด แต่ทั้งสองชนิดอาจเป็นสาเหตุติดเชื้อกับเนื้อเยื่อส่วนไหนก็ได้เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น ดวงตา เยื่อหุ้มสมอง และสมอง

เมื่อติดเชื้อเริมมักไม่มีอาการอะไร แต่เชื้อจะอยู่ในตัวตลอดชีวิต ในปมประสาท รอจนเมื่อร่างกายอ่อนแอลงจึงแสดงอาการ
โรคเริมเป็นแล้วเป็นอีกได้เรื่อยๆ บางครั้งอาจเกิดถึงปีละ 3 ครั้ง แต่จะค่อยๆห่างไปเมื่อสูงอายุขึ้น
โรคเริมในช่องปากหรือที่ริมฝีปากมักเกิดอาการตามหลังช่วงที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานต่ำ เช่น อาการเครียด พักผ่อนน้อย อ่อนเพลีย ถูกแสงแดดจัด หลังผ่าตัด หรือช่วงมีประจำเดือน

อาการสำคัญของโรคเริมคือ การเกิดตุ่มพองเล็กๆเจ็บ ต่อมาเกิดเป็นตุ่มน้ำอย่างรวดเร็วภายใน 1 - 2 วัน ในตุ่มมีน้ำใสๆ ตุ่มมักเกิดเป็นกลุ่มๆ ลักษณะตุ่มคล้ายของโรคงูสวัดและตุ่มโรคอีสุกอีใส แต่เกิดในตำแหน่งและมีการแพร่กระจายของตุ่มผิดกัน อาการเป็นอยู่ประมาณ 1 - 2 สัปดาห์และหายเองได้
ก่อนหน้าเกิดตุ่มพอง อาจอ่อนเพลียแต่ไม่มีอาการอื่น จึงมักไม่รู้ตัวว่า ติดโรค หรือบางคนอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดนำก่อน 1 - 3 วันเช่น ไข้สูงหรือ ไข้ต่ำ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเนื้อตัว และเมื่อเกิดในปากอาจกินอาหารแล้วเจ็บทำให้กินได้น้อย ผอมลง
โรคเริมหายได้เองภายใน 1 - 2 สัปดาห์ แต่เมื่อรักษาด้วยยาต้านไวรัสมักช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามหลังหายแล้วมักไม่เกิดเป็นแผลเป็น

ควรรีบพบแพทย์เมื่อ

  • ตุ่มพองลุกลามมาก
  • ไข้สูง ไข้ไม่ลงภายใน 1 - 3 วัน (ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ)
  • เริ่มมีอาการทางดวงตา เช่น เริ่มเจ็บตา เคืองตา น้ำตาไหล
  • ตุ่มน้ำเป็นหนอง เพราะต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งควรให้ยาโดยแพทย์
  • เมื่อกังวลในอาการ
  • รีบพบแพทย์ฉุกเฉินเมื่อมีไข้สูงร่วมกับปวดศีรษะมาก แขน/ขาอ่อนแรงชัก และ/หรือโคม่า

จากประวัติคุณมีอาการของเริมที่บริเวณริมฝีปาก ก็มักจะเป็น type 1
และอย่างที่ให้ข้อมูล คืออาการก็สามารถหายได้เอง แต่เมื่อติดเชื้อแล้ว จะมีโอกาสเป็นซ้ำถ้าภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง แพทย์ยังไม่เห็นความจำเป็นในการตรวจแยก type เนื่องจากตำแหน่งที่เป็นของคุณก็มักจะเป็น type 1 โดยมาก หากช่วงมีอาการก็หายได้เอง แค่ในช่วงมีอาการจะสามารถแพร่กระจายติดต่อผู้อื่นได้ ก็จะต้องปฏิบัตตัวไม่ให้เสี่ยงกระจายเชื่อต่อผู้อื่นเพียงเท่านั้น ดังนั้นขอแนะนำว่าอาจจะไม่ต้องกังวล และไม่จำเป็นต้องแยก type นะคะ

Bua9*****9

29 สิงหาคม 2560 05:03:58 #3

เนื่องจากดิฉันและแฟนเป็นเริมที่ริมฝีปากทั้งคู่ ทำให้เป็นกังวลมากค่ะ ถ้าจะขอเข้ารับการตรวจเพื่อดูว่าที่ผ่านมาเป็นเริม type2 หรือปล่าว ต้องเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลใหนค่ะ ต้องตรวจระบบใหนค่ะ

ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ

พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

30 สิงหาคม 2560 07:21:44 #4

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

ในการวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสเริมหรือ HSV นั้น สามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ดังนี้

1. การเพาะแยกเชื้อไวรัสเริม ตัวอย่างที่นิยมใช้คือ สวอปที่ป้ายเก็บจากตุ่มน้ำใสหรือบริเวณรอยโรคที่ปรากฏ จุ่มใส่ใน transport medium นำส่งห้องปฏิบัติการโดยการแช่น้ำแข็งทันที หรือน้ำไขสันหลัง ถ้าส่งไม่ได้ให้นำเข้าตู้เย็นเก็บที่ 2-8 องศาเซลเซียส ห้ามนำเข้าช่องแช่แข็งโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ปริมาณไวรัสลดต่ำลง เนื่องจากไวรัสเริมเป็นไวรัสที่เพาะแยกได้ง่าย และใช้รอบเวลาในการเพิ่มจำนวนสั้นมาก (13-18 ชั่วโมงต่อการเพิ่มจำนวน 1 ครั้ง) นอกจากนี้ไวรัสสามารถเพิ่มจำนวนในเซลล์เพาะเลี้ยงได้หลายชนิด เช่น เซลล์ของคน HeLa cell และ HEp-2 cell ที่นิยมใช้มากคือเซลล์จาก African green monkey kidney ชื่อ Vero cell เซลล์ติดเชื้อ HSV จะมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป เรียกว่า เกิด cytopathic effect (CPE) ซึ่งมีลักษณะค่อนข้างเฉพาะคือ จะพบเซลล์มีขนาดใหญ่ กลม วาว และมีนิวเคลียสอยู่รวมกันในเซลล์เดียว เรียกลักษณะนี้ว่า Multinucleated giant cell หรือ Polykaryotic cell การเพาะแยกไวรัสปัจจุบันก็ยังเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค เพราะผลที่ได้แสดงภาวการณ์ดำเนินของโรค ดังนั้นการเพาะแยกเชื้อจึงเป็นวิธีที่นิยมใช้อยู่ แม้ว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-7 วัน

2. การตรวจหาไวรัสแอนติเจน เนื่องจากการเพาะแยกเชื้อใช้เวลาค่อนข้างนานจึงมีการพัฒนาที่จะตรวจหาไวรัสแอนติเจนโดยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลรวดเร็วขึ้น แบ่งลักษณะการตรวจออกเป็น 2 แบบ คือ

2.1. การตรวจแบบไม่จำเพาะ ได้แก่
2.1.1. การตรวจหาอนุภาคไวรัสด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมนักเพราะต้องใช้เครื่องมือราคาแพงและต้องใช้ผู้ชำนาญพิเศษ
2.1.2. การตรวจทางเซลล์วิทยา โดยการทำ Tzanck test เก็บตัวอย่างเซลล์จากรอยโรค นำมาย้อมด้วยสี Giemsa หรือ Wright สังเกตลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ติดเชื้อที่มีการขยายขนาดและมีนิวเคลียสมากกว่าหนึ่งนิวเคลียสในเซลล์เดียวกัน

2.2. การตรวจแบบจำเพาะ ได้แก่
2.2.1. การตรวจด้วยวิธี ELISA มีการพัฒนาเป็นชุดน้ำยาสำเร็จรูปโดยหลายบริษัท ใช้ตัวอย่างส่งตรวจที่เก็บจากรอยโรค ระยะเวลาที่ใช้ในการวิเคราะห์ประมาณ 3-4 ชั่วโมง แต่พบว่าความไวค่อนข้างต่ำ แต่ความจำเพาะสูง
2.2.2. การตรวจหาเซลล์ติดเชื้อด้วยวิธี Immunofluorescent assay หรือ Immunoperoxidase assay ตัวอย่างที่ใช้เป็นเซลล์ติดเชื้อไวรัสที่เก็บจากบริเวณรอยโรค นำมาป้ายและตรึงบนสไลด์ ย้อมด้วยแอนติบอดีจำเพาะต่อไวรัสแอนติเจน โดยแอนติบอดีตัวแรกนี้อาจติดสลากเรืองแสงหรือเอ็นไซม์ สังเกตเซลล์ที่ให้การเรืองแสงภายใต้กล้องจุลทรรศน์ฟลูออเรสเซนต์ หรือใส่สารซับสเตรดเพื่อให้เกิดสีตกตะกอนในเซลล์ และสังเกตเซลล์ติดสีที่เกิดขึ้นจากกล้องจุลทรรศน์ นอกจากการย้อมโดยตรงที่กล่าวมาแล้ว ก็อาจใช้แอนติบอดีตัวที่ 2 ที่ติดสลากสารเรืองแสงหรือเอ็นไซม์ย้อมทับอีกครั้งหนึ่ง วิธีนี้ให้ผลเร็ว ความจำเพาะสูง ข้อจำกัดคือตัวอย่างต้องมีเซลล์เพียงพอ และต้องใช้ผู้ชำนาญในการอ่านผล
2.2.3. การตรวจหาสารพันธุกรรม วิธีนี้มักใช้ในกรณีที่ต้องการความรวดเร็วและความจำเพาะสูง ปัจจุบันยอมรับเป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคสมองอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HSV โดยตรวจจากตัวอย่างส่งตรวจน้ำไขสันหลัง เนื่องจากการเพาะแยกเชื้อจากน้ำไขสันหลังมีความไวเพียงร้อยละ 30 ทำให้ได้ผลลบปลอมสูง ซึ่งปัญหาหลักอยู่ที่ปริมาณไวรัสมีน้อยมาก และระยะเวลาที่เก็บตัวอย่างไม่เหมาะสม ระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ ภายใน 3 วันหลังมีอาการโรค ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์หลัง 3 วันไปแล้ว การตรวจหาสารพันธุกรรมปัจจุบันมีการตรวจหลายวิธี ได้แก่ DNA hybridization, Polymerase chain reaction (PCR), Real time PCR, in situ hybridization เป็นต้น วิธีเหล่านี้มีความไวและความจำเพาะสูง เนื่องจากมีความไวสูงมาก ทำให้มีการปนเปื้อนได้ง่ายและเกิดเป็นผลบวกปลอม ดังนั้นจำเป็นต้องมีห้องปฏิบัติการที่เหมาะสมและผู้ชำนาญในการทำการทดสอบ

3. การตรวจหาแอนติบอดีจำเพาะต่อไวรัส ตัวอย่างที่นิยมใช้คือ น้ำเหลืองซีรั่ม การตรวจพบแอนติบอดีชนิด IgM เป็นตัวบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อ ซึ่งการตรวจแอนติบอดีนี้มีความสำคัญในการวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อครั้งแรก แต่ในรายที่มีการติดเชื้อซ้ำ ร่างกายของผู้ป่วยเหล่านั้นจะมีระดับแอนติบอดีอยู่แล้ว ทำให้การตรวจหาแอนติบอดีชนิด IgG มักจะไม่ค่อยได้ประโยชน์ เพราะการตรวจพบ IgG ก็ไม่บ่งบอกภาวการณ์ติดเชื้อปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการตรวจหาการเพิ่มขึ้น 4 เท่าหรือมากกว่าของระดับแอนติบอดีชนิด IgG ในน้ำเหลืองผู้ป่วยที่เก็บ 2 ครั้ง และการตรวจพบ IgM อาจใช้เป็นตัวบ่งชี้ภาวะการติดเชื้อได้ แต่ส่วนใหญ่ในผู้ติดเชื้อซ้ำมักตรวจไม่พบ IgM วิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือ ELISA และบางห้องปฏิบัติการยังใช้วิธี Immunofluorescent assay

ความสำคัญในการจำแนกไทป์หรือชนิดของ HSV พบว่านอกจากมีความสำคัญในแง่ระบาดวิทยาแล้ว ยังช่วยในการพยากรณ์ความรุนแรงของโรค เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาระยะเวลาการให้ยารักษาโรค โดยทั่วไปพบว่า HSV-2 มักมีความรุนแรงของโรคมากกว่า HSV-1 จึงนิยมให้ยารักษาระยะนานกว่า วิธีการจำแนกไทป์ที่นิยมทำคือการใช้แอนติบอดีจำเพาะต่อไทป์ (โมโนโคลนอลแอนติบอดี) มาย้อมเซลล์ติดเชื้อไวรัสที่มาจากตัวอย่างส่งตรวจโดยตรงหรือที่ได้จากการเพาะแยกเชื้อ หรือตรวจหาแอนติบอดีจำเพาะต่อไทป์ ซึ่งปัจจุบันมีชุดน้ำยาสำเร็จรูปของบริษัทจำหน่ายแล้ว