กระดานสุขภาพ

เป็นไข้สูงมา 3 วันแล้วคะ
Mo_m*****e

11 มีนาคม 2560 16:14:09 #1

เป็นไข้สูงมา3วันแล้วคะ วันแรกสูง 40 องศา ไปโรงพยาบาลใหญ่ หมอให้แต่เกลือแร่มากิน เป็นแค่ช่วงกลางคืนนะคะ กลางวันปกติเหมือนไม่ได้ป่วยเลย วันที่2 ไปหาหมอคลีนิกแทนหมอฉีดยาให้และให้ยากลับมาทาน แต่ทานแล้วมีอาการคลื่นไส้มากคะ อ้วกไป1รอบ
อายุ: 23 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 53 กก. ส่วนสูง: 158ซม. ดัชนีมวลกาย : 21.23 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
พญ.กิติพร กวียานนท์

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป

22 มีนาคม 2560 04:49:08 #2

ไข้ (Fever หรือ Pyrexia) เป็นอาการไม่ใช่โรค (โรค อาการ ภาวะ) เป็นอาการซึ่งร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองเมื่อมีการติดเชื้อโรคหรือมีการเจ็บป่วยจากสาเหตุบางสาเหตุเช่น การอักเสบของเนื้อเยื่อจากโรคภูมิต้านตนเอง (โรคออโตอิมมูน) โดยไข้จะเกิดอยู่เพียงชั่วคราวเฉพาะในช่วงเกิดโรคหรือมีการเจ็บป่วย

สาเหตุสำคัญและพบบ่อยที่ทำให้เกิดไข้คือ จากการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆที่พบบ่อยคือ
จากเชื้อไวรัส (ไวรัส: โรคจากติดเชื้อไวรัส) เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคหัด
และจากเชื้อแบคทีเรีย (แบคทีเรีย: โรคจากติดเชื้อแบคทีเรีย) เช่น โรคไข้จับสั่น โรคไอกรน โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคฉี่หนู และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ไข้จากสาเหตุอื่นๆที่พบได้บ้างเช่น จากโรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน โรคข้ออักเสบ รูมาตอย และโรคมะเร็ง
น้อยครั้งอาจมีไข้และแพทย์หาสาเหตุไม่ได้เรียกว่า เอฟยูโอ (FUO, Fever of unknown origin) หรือ พียูโอ (PUO, Pyrexia of unknown origin)

อาการที่มักเกิดจากร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติหรือมีไข้ได้แก่

  1. หนาวสั่น
  2. เหงื่อออก
  3. ปวดศีรษะ
  4. ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตัว อาจมีปวดข้อ
  5. อ่อนเพลีย
  6. เบื่ออาหาร

เมื่อไข้สูงหรือไข้สูงเกิน อาจส่งผลต่อการทำงานของสมองได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงอาจ สับสน กระสับกระส่าย เห็นภาพหลอน และ/หรือชัก (มักพบในเด็กเล็กมากกว่าในผู้ใหญ่)

อนึ่ง นอกจากอาการดังกล่าว ไข้ยังมักเกิดร่วมกับอาการอื่นๆซึ่งแตกต่างกันตามสาเหตุของไข้เช่น ปวดท้องด้านขวาตอนล่างร้าวมาสะดือ หรือจากสะดือร้าวมาช่องท้องด้านขวาตอน ล่างเมื่อไข้เกิดจากไส้ติ่งอักเสบ หรือมีผื่นขึ้นตามตัวเมื่อไข้เกิดจากโรคหัด เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุของไข้ได้จากประวัติอาการ การตรวจร่างกายและการวัดอุณหภูมิ ร่างกาย (วิธีวัดปรอท) ซึ่งโดยทั่วไปเป็นการวัดทางปาก หลังจากนั้นจึงเป็นการตรวจต่างๆเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการไข้ ซึ่งถ้าสาเหตุเกิดจากโรคทั่วไปที่พบเป็นประจำ แพทย์มักวินิจฉัยสาเหตุเพียงจากประวัติอาการและการตรวจร่างกาย และให้การรักษาได้เลย แต่บางครั้งเมื่อแพทย์ไม่แน่ใจในสาเหตุ จึงมีการตรวจเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์เช่น การตรวจเลือดทางห้อง ปฏิบัติการ โดยเฉพาะการตรวจซีบีซี (CBC) การตรวจปัสสาวะ และเอกซเรย์ปอด เป็นต้น

ดังนั้นแนะนำให้พบแพทยืเพื่อตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของการเกิดไข้นะคะ ในเบื้องต้นคิดถึงการติดเชื้อในร่างกายค่ะ