กระดานสุขภาพ
สอบถามผลเสียจากการดื่มแอลกอฮอล์ | |
---|---|
7 มีนาคม 2560 16:26:28 #1 สอบถามครับว่าหากดื่มแอลกอฮอล์ 40 ดีกรี ปริมาณมากๆจนสลบจำเหตุการณ์ได้บ้างไม่ได้บ้างจะมีผลเสียต่อระบบประสาทหรือต่อร่างกายอย่างไรบ้างครับ ดื่มจนสลบเพียงครั้งเดียวครับ นอกนั้นนานๆถึงจะดื่มทีครับไม่มากเท่าครั้งนี้ ดื่มปีละประมาณ 2-3 ครั้งครับ
|
|
อายุ: 22 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 63 กก. ส่วนสูง: 167ซม. ดัชนีมวลกาย : 22.59 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9) | |
พญ.กิติพร กวียานนท์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว/เวชศาสตร์ทั่วไป |
20 มีนาคม 2560 10:22:33 #2 พิษภัยของแอลกอฮอล์ โรคตับ ตับถือเป็นอวัยวะที่เสี่ยงต่อพิษภัยของแอลกอฮอล์อย่างมาก ระยะเวลา และปริมาณของแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไป มีผลโดยตรงต่อตับ ยิ่งถ้าดื่มนานต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า ๑๐ ปี ขึ้นไป ยิ่งมีโอกาสที่ตับจะเกิดปัญหาจากแอลกอฮอล์ได้ แม้กระนั้นก็ตาม ในบางรายอาจใช้เวลาไม่ถึง ๑๐ ปี หากปริมาณที่บริโภคนั้นค่อนข้างสูง โดยทั่วไปแอลกอฮอล์ จะทำให้เกิดอันตรายต่อตับในผู้หญิงได้ง่าย กว่าในผู้ชาย แม้จะดื่มในปริมาณที่น้อยกว่า ก็ตาม ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยทางด้านฮอร์โมนบางชนิด โรคตับที่เกิดจากผลของแอลกอฮอล์ แบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ โรคไขมันสะสม ในตับจากแอลกอฮอล์ โรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ และโรคตับแข็ง โรคไขมันสะสมในตับจากแอลกอฮอล์ ภาวะนี้พบได้เป็นส่วนใหญ่ในผู้ที่ดื่มจัด แต่ถ้าหยุดดื่มแล้ว จะสามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ ภาวะนี้เกิดจากความผิดปกติของการเผาผลาญ และการสร้างไขมัน อันเป็นผลมาจากแอลกอฮอล์ ทำให้เกิดการสะสมของไขมันในเซลล์ตับ ทำให้เซลล์บวม ตับโต บางครั้งอาจมีอาการกดเจ็บร่วมด้วย โดยทั่วไปภาวะนี้มักไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็น ทำให้เป็นผลเสียต่อผู้นั้น เนื่องจากไม่มีสัญญาณคอยบ่งเตือนว่า ร่างกายกำลังมีปัญหา ทั้งๆ ที่ความผิดปกติกำลังดำเนินอยู่ แต่ถ้าเกิดภาวะนี้อย่างรุนแรง ก็จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ที่เรียกว่า ดีซ่าน ท้อง บวมน้ำ และบวมตามแขนขาร่วมด้วยได้ ผู้ที่เกิดภาวะนี้ อาจยังไม่รุนแรงถึงขั้นกลายเป็นโรคตับแข็ง ซึ่งต่างจากผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ ที่มีวามเสี่ยงสูงมาก ที่จะกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด โรคตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับ ทำให้เกิดการเสื่อม และการตายของเซลล์ การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของเซลล์ต่างๆ เหล่านี้ มีผลทำให้โครงสร้างของเซลล์ตับผิดรูปร่าง ซึ่งเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งที่นำไปสู่โรคตับแข็ง อาการของผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบนี้จะแตกต่างกันไป ตั้งแต่ไม่มีอาการ มีอาการในระดับน้อย จนถึงอาการรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิตได้ โดยทั่วไปแล้วอาการมักประกอบด้วยปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน น้ำหนักลด อึดอัดในท้อง และตัวเหลืองตาเหลือง บางรายมีไข้สูงร่วมด้วย เมื่อตรวจร่างกายมักจะพบว่ามีตับโตและ กดเจ็บ ประมาณ ๑ ใน ๓ จะพบม้ามโต ในรายที่เป็นรุนแรงจะพบภาวะท้องบวมน้ำ เลือดออก แขนขาบวม และมีอาการสับสน เนื่องจากสมองร่วมด้วยได้ ถึงแม้ว่าเมื่อหยุดบริโภคแอลกอฮอล์ไปแล้ว จะทำให้อาการตัวเหลืองตาเหลือง ท้องบวมน้ำ หรือภาวะสับสนดีขึ้นก็ตาม แต่หากยังบริโภคแอลกอฮอล์ต่อไปอีก ก็จะนำไปสู่การอักเสบของตับต่อไปได้เรื่อยๆ ในบางรายกว่าจะฟื้นตัวจากการอักเสบต้องใช้เวลานานมากประมาณ ๖ เดือน หรือมากกว่า ภาวะนี้จัดได้ว่าเป็นภาวะเบื้องต้นที่นำไปสู่การเกิดตับแข็งในโอกาสต่อไป โรคตับแข็ง ถ้าการบริโภค แอลกอฮอล์ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เซลล์ตับจะมีการถูกทำลายมากขึ้น ในที่สุด ตับจะฝ่อ เกิดภาวะที่เรียกว่า ตับแข็ง ส่วนใหญ่แล้ว ใช้เวลานานประมาณ ๑๐ ปี ผู้ที่เกิดภาวะนี้ จะมีอาการเบื่ออาหารผ่ายผอม ลักษณะแบบคนขาดอาหาร อ่อนเพลีย เลือดออกง่าย เกิดรอย ช้ำตามตัวได้ง่าย เมื่อเกิดภาวะตับแข็ง จะทำให้การไหลเวียนของโลหิตในตับ เป็นไปด้วยความลำบาก ทำให้ความดันในหลอดเลือดสูงขึ้น เกิดเส้นเลือดโป่งพอง อาจเป็นในบริเวณหลอดอาหาร ซึ่งเสี่ยงต่อการอาเจียนออกมาเป็นเลือด นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดภาวะน้ำในช่องท้องมากขึ้น ท้องจะบวมน้ำ โดยปกติแล้วตับจะทำหน้าที่กำจัดของเสียในร่างกาย เมื่อเกิดภาวะตับแข็ง จะทำให้ตับทำหน้าที่นี้ได้ไม่ดี ผลที่ตามมาก็คือ ภาวะตับวาย และการทำงานของสมองสับสนได้ ถึงแม้ว่าโรคตับแข็งจะเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม ร่วมไปกับการหยุดดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด อาจทำให้การดำเนินของโรคหยุด ลงได้ ส่งผลให้สภาพการทำงานของร่างกายที่ดีขึ้น ระบบทางเดินอาหาร แอลกอฮอล์มีผลโดยตรงต่อหลอดอาหารและ กระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบ เป็นแผล คลื่นไส้ อาเจียน รวมถึงอาเจียนเป็นเลือดได้ ยิ่งถ้าเกิดตับแข็ง ซึ่งทำให้หลอดเลือดของหลอดอาหารโป่งพอง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น โอกาสที่จะอาเจียนเป็นเลือดจำนวนมาก จนถึงแก่ชีวิตก็ยิ่งสูงตามไปด้วย นอกจากนี้ การบริโภคแอลกอฮอล์จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง จะมีผลต่อตับอ่อนได้ ทำให้เกิดอาการปวดท้องอย่าง รุนแรง และอาจนำไปสู่ความเสียหายต่อ ตับอ่อนอย่าง ถาวรได้ ระบบโลหิต แอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากจะมีผลต่อการทำงานของเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นระบบภูมิต้านทานอย่างหนึ่งของร่างกาย ทำให้สมรรถภาพในการกำจัดเชื้อโรคเสื่อมถอยลง มีผลทำให้เกิดสภาพร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่าย และรุนแรง นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังมีผลต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดอีกด้วย ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง และการแข็งตัวของเลือดผิดปกติไป โรคหลอดเลือดในสมองและหลอดเลือดหัวใจ แอลกอฮอล์จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่บริโภคตั้งแต่ ๓ ดริงก์ต่อวัน ซึ่งหากยังมีการบริโภคอย่างต่อเนื่องในลักษณะเช่นนี้ไปนานๆ จะเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ นอกจากนี้แล้ว แอลกอฮอล์ยังทำให้คอเลสเทอรอล และไตรกลีเซอไรด์เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตัน ทั้งในสมองและหัวใจ อีกทั้งแอลกอฮอล์ยังเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง บางครั้งอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายอย่างถาวรได้ ประมาณว่า ๑ ใน ๓ ของผู้ป่วยที่เป็นโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นผลมาจากการบริโภค แอลกอฮอล์ในปริมาณที่มาก อาจทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติได้ แม้ในผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคหัวใจมาก่อนก็ตาม มะเร็ง อัตราการเกิดมะเร็งจะพบได้สูงในผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะโรคมะเร็งของหลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของตับ ลำไส้ใหญ่ และปอดด้วย โดยสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง อาจเกิดจากการที่แอลกอฮอล์ มีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเสื่อมลง และจากการที่แอลกอฮอล์เป็นพิษต่ออวัยวะเหล่านี้โดยตรง ถึงแม้จากการศึกษาจะพบว่า สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในผู้ที่ติดเหล้า จะเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจก็ตาม แต่การเสียชีวิตจากโรคมะเร็งในคนเหล่านี้ ก็มีอยู่จำนวนไม่น้อยทีเดียว สถิติที่ได้จากการศึกษาต่างๆ พบว่า ผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ ๑.๕ ดริงก์ต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้ ๑.๔ เท่า และการดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ ๔ ดริงก์ต่อวัน ในทั้งเพศหญิงและชายจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของหลอดอาหาร และช่องปากประมาณ ๓ เท่า หากปริมาณการดื่มเพิ่มขึ้นเป็น ๗ - ๘ ดริงก์ต่อวัน ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเหล่านี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น ๕ เท่า โดยสรุปแล้ว คาดการณ์ได้ว่า ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ จะพบการเกิดโรคมะเร็งของระบบต่างๆ สูง เป็น ๑๐ เท่าของคนปกติทั่วไป การนอนหลับ หลายคนมีความเชื่อว่า แอลกอฮอล์ช่วยทำให้หลับสบาย และหลายคนบริโภคแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยให้ตนเองหลับได้ดีขึ้นเป็นประจำ ความจริงแล้ว แอลกอฮอล์มีผลต่อการนอนหลับมากกว่าที่คิด คือ แอลกอฮอล์ ทำให้เกิดความรู้สึกง่วงได้จริง เมื่อเริ่มดื่มในช่วงแรกๆ หลังจากนั้น เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกาย และถูกเผาผลาญโดยตับ จะทำให้เกิดสารเคมีตัวใหม่ ซึ่งสารเคมีตัวนี้ มีผลกระตุ้นสมองทำให้เกิดการตื่น ดังนั้น ในครึ่งคืนแรกของการนอนอาจจะหลับได้เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ แต่คุณภาพการนอนในช่วงครึ่งคืนหลัง จะถูกรบกวนอย่างมาก และเมื่อมีการใช้แอลกอฮอล์เป็นประจำทุกวัน จะก่อให้เกิดภาวะติดแอลกอฮอล์ขึ้น นั่นคือ เมื่อไม่ได้ดื่ม หรือลดปริมาณการดื่มลง จะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ฝันร้าย กระสับกระส่าย จนต้องหันมาพึ่งแอลกอฮอล์ เพื่อระงับอาการเหล่านี้ จนกลายเป็นวงจรของการติดแอลกอฮอล์ไป นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังทำให้สมอง ที่เกี่ยวข้องกับการนอนนั้นเสื่อมลง ทำให้คุณภาพการนอนด้อยตามไปด้วย แม้ว่าจะหยุดดื่มแล้วก็ตาม จึงสรุปได้ว่า การบริโภคแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยการนอนหลับนั้น กลับจะยิ่งเพิ่มปัญหาให้เกิดโรคนอนไม่หลับตามมาได้ ระบบประสาท ประมาณร้อยละ ๑๐ ของผู้ที่ดื่มจัด จะเกิดอาการชา ปวด หรือเจ็บตามปลายมือปลายเท้าทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นผลโดยตรงของแอลกอฮอล์ และภาวะพร่องวิตามินที่มีต่อระบบปลายประสาท ในบางคนอาจมีอาการลักษณะนี้อย่างถาวรได้ แม้จะหยุดดื่มไปแล้ว ก็ตาม โรคจิตประสาทหลอน ผู้ที่บริโภคแอลกอฮอล์จนติดนั้น อาจเกิดอาการหูแว่ว ได้ยินเสียงคนมาพูดต่อว่า ทำให้เกิดอาการหวาดกลัว หวาดระแวง ควบคุมตัวเองไม่ได้ หรืออาจมีอาการสับสน เพ้อ จำเวลา สถานที่ และบุคคลไม่ได้ จำกลางวันสับสนกับกลางคืน จำคนรอบข้างใกล้ชิดไม่ได้ ประสาทหลอน เห็นภาพต่างๆ ที่ทำให้กลัว อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นหลังจากหยุดหรือลดปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ลง ภายใน ๑ - ๓ วัน บางรายอาจเกิดอาการชักนำมาก่อน ถ้าเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น จะเป็นตัวบ่งบอกว่า สมองได้รับพิษจากแอลกอฮอล์ถึงระดับที่รุนแรงแล้ว นอกจากนี้ ภาวะขาดแอลกอฮอล์อาจทำให้เกิดอาการหูแว่วเพียงอย่างเดียวได้ โดยมีอาการประสาทหลอนคิดว่า มีคนคอยจ้องที่จะทำร้าย ก่อให้เกิดอาการหวาดระแวง กลัวถูกฆ่า และควบคุมตัวเองไม่ได้ ถึงขั้นทำร้ายตัวเอง หรือจับผู้อื่นเป็นตัวประกัน อาการทางจิตต่างๆที่กล่าวมานี้ พบได้สูงถึงร้อยละ ๑๐ ของผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ โรคสมองเสื่อม จากการที่วิตามินบี ๑ ลดน้อยลง เนื่องจากการบริโภคแอลกอฮอล์ และจากการที่แอลกอฮอล์มีพิษต่อเซลล์สมองโดยตรง ทำให้ผู้ติดแอลกอฮอล์เกิดอาการสมองเสื่อมได้ โดยความจำจะบกพร่องอย่างชัดเจน การตัดสินใจ และการใช้เหตุผลผิดพลาด หรือบกพร่องไป ทักษะในการคิดก็เสื่อมลงตามตัวไปด้วย ในบางรายหากได้รับการรักษาไม่ทัน อาจทำให้กลายเป็นโรคสมองเสื่อมอย่างถาวร ได้ นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังไปมีผลต่อสมองส่วนเล็กที่เรียกว่า ซีรีเบลลัม (cerebellum) ทำให้สมองส่วนนี้เสื่อมลง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการทรงตัว ทำให้การยืน และการเดินไม่มั่นคง ระบบสืบพันธุ์ สำหรับผู้ชาย การดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง มีผลทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมลงได้ ในบางรายจะทำให้ลูกอัณฑะ และท่อนำเชื้อฝ่อ ทำให้ปริมาณน้ำอสุจิ และตัวอสุจิ ลดลง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเป็นหมัน ส่วนในผู้หญิง การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำ อาจส่งผลให้ไม่มีประจำเดือน รังไข่มีขนาดเล็กลง เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีบุตรยาก นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดการแท้งบุตรในขณะตั้งครรภ์ได้ ผลของแอลกอฮอล์ต่อเด็กในครรภ์ ได้พบความสัมพันธ์อย่างชัดเจน ระหว่างผลเสียของการดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์ กับความผิดปกติของทารก ที่คลอดจากมารดาที่ติดแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์สามารถผ่านรกไปสู่เด็กในครรภ์ได้ง่าย ซึ่งอาจมีผลทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์มารดา และเกิดการแท้งได้ นอกจากนี้ ทารกที่คลอดจากมารดาซึ่งดื่มแอลกอฮอล์อาจพบความผิดปกติต่างๆ เหล่านี้ได้ เช่น ภาวะปัญญาอ่อน กะโหลกศีรษะเล็ก น้ำหนักแรกคลอดต่ำ และน้ำหนักตัวในช่วงพัฒนาการน้อยผิดปกติ ร่างกายเล็ก มีความผิดปกติของใบหน้า และในขณะที่เด็กโตขึ้น สามารถพบปัญหาทางพฤติกรรมต่างๆ เช่น สมาธิสั้น มีความบกพร่องในการใช้สติปัญญา นอกจากนี้ ยังสามารถพบความผิดปกติของหัวใจโดยกำเนิดได้ โดยความผิดปกติต่างๆ เหล่านี้ จะเกิดขึ้นอย่างถาวร และเนื่องจากข้อมูลในปัจจุบันนี้ยังไม่พบว่า มีปริมาณแอลกอฮอล์ ในระดับปลอดภัย ที่จะไม่ทำให้เกิดผลต่างๆ ต่อทารกในครรภ์ ดังนั้น การดื่มแอลกอฮอล์ ในระหว่างการตั้งครรภ์ จึงควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง โรคพิษสุราเรื้อรัง เมื่อบริโภคแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องในปริมาณที่มากจะทำให้เกิด “การติด” ขึ้น โดยการติดนั้น แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ ติดทางกาย และติดทางใจ ลักษณะของการติดทางกาย จะสังเกตได้ เมื่อมีการหยุดดื่ม หรือลดปริมาณการดื่มลงภายใน ๒๔ ชั่วโมง คือ จะเกิดอาการกระสับกระส่าย หงุดหงิด มือสั่น นอนไม่หลับ ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน และในบางคนจะได้ยินเสียงแว่ว ประสาทหลอน สับสน และชักได้ ส่วนลักษณะของการติดทางใจนั้น จะสังเกตได้ว่า มีอาการของความอยากอยู่เรื่อยๆ ขาดไม่ได้ ต้องพยายามหามาบริโภค แม้ว่าจะเสี่ยงต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็ตาม เมื่อผู้นั้นเกิดการติดแอลกอฮอล์แล้วก็จะกลายเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังในที่สุด โดยแอลกอฮอล์เริ่มไปมีผลต่ออวัยวะที่สำคัญต่างๆของร่างกายตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นสมอง ตับ หัวใจ และหลอดเลือด ทำให้เกิดโรคตับแข็ง ความจำเสื่อม และโรคหัวใจ การตัดสินใจและความมีเหตุผลลดลง ขาดสติ ซึ่งมีผลต่อความรับผิดชอบ และหน้าที่การงานอย่างมาก |
Anonymous