กระดานสุขภาพ
ล้าตา เมื่อยตามาก หนักหัว เล่นคอมและมือถือแทบไม่ได้ | |
---|---|
8 มกราคม 2560 03:53:35 #1 มีอาการล้าตา และเมื่อยกระโหลกตามากค่ะ เล่นคอมกับมือถือได้แค่แป้บเดียว ก็จะมึนหัวและหนักมากๆ แทบจะลืมตาไม่ขึ้น เหมือนอยากหลับตลอด พอใช้ตาไปนานหน่อยจะรู้สึกเหมือนปวดที่กกหูตามมา ไม่ว่าจะถอดแว่นหรือใส่แว่นก็ไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นเลยค่ะ กระพริบตาบางครั้งมีตามัวบ้างแต่พอกระพริบใหม่ก็หายมัว อยากถามคุณหมอว่าอาการนี้อันตรายไหมคะ เสี่ยงเป็นต้อหรือเปล่าคะ หรือ มีอะไรที่อันตรายร้ายแรงเกี่ยวกับประสาทอะรไหมคะคุณหมอ ทรมานมากค่ะ |
|
อายุ: 23 ปี เพศ: F น้ำหนัก: 42 กก. ส่วนสูง: 162ซม. ดัชนีมวลกาย : 16.00 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9) | |
พญ.มณฑากร อภิญญาณกุลจักษุแพทย์ |
28 มกราคม 2560 18:40:13 #2 หมอขอแยกตอบคำถามทีละประเด็นนะคะ 1. เรื่องอาการเมื่อยตาค่ะ อาการปวดหัวและตึงบริเวณตาเมื่อใช้สายตานั้น อาจเกิดจากภาวะสายตาเมื่อยล้า (eye strain or asthenopia) ซึ่งทำให้เกิดอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น รู้สึกเมื่อยตา (fatique), ปวดในตาหรือรอบๆ ตา, ตามัว, ปวดหัว หรือบางครั้งเห็นภาพซ้อนได้ โดยอาการมักเกิดหลังจากการอ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์ หรือทำงานอื่นๆ ที่ต้องใช้สายตาในระยะใกล้ๆ โดยเมื่อเราในสายตาในภาวะดังกล่าว จะทำให้กล้ามเนื่อในตาที่ชื่อว่าซิลีแอรี่ (ciliary muscle ) ตึงตัวเพื่อปรับให้ภาพที่เรามองเห็นตกบนจอประสาทตา ทำให้เรามองเห็นภาพชัดในระยะใกล้ได้ ดังนั้นการพักสายตามองภาพในระยะไกล เป็นระยะๆ หลังจากการใช้สายตาในระยะใกล้ๆ เช่น การพักสายตาหลังจากอ่านหนังสือ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมงก็จะบรรเทาอาการสายตาเมื่อยล้าได้ค่ะ บางครั้งภาวะสายตาเมื่อยล้านี้ยังสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีก ที่พบมากคือ ภาวะค่าสายตาผิดปกติ เช่น มีภาวะสายตาสั้น สายตาเอียง เป็นต้น ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อมีการตึงตัวเช่นกัน เพื่อปรับระยะโฟกัสของภาพให้ตกที่จอประสาทตาพอดี หรือบางครั้งเกิดจากภาวะตาเขซ้อนเร้น (heterophoria) ก็ได้ การแก้ไขภาวะนี้นอกจากการพักสายตาดังที่กล่าวไปแล้ว อาจจำเป็นต้องตรวจค่าสายตาเพิ่มเติมว่ามีภาวะสายตาผิดปกติหรือไม่ หากมีความผิดปกติของค่าสายตาก็ทำการแก้ไขสายตา อาจแก้ไขด้วยแว่นตา คอนแทกเลนส์ หรือการผ่าตัดแก้ไขสายตา เป็นต้น รวมถึงการตรวจหาภาวะตาเขซ้อนเร้นโดยจักษุแพทย์ด้วย หากมีภาวะดังกล่าวก็ต้องทำการแก้ไขตามสาเหตุค่ะ แต่เนื่องจากเป็นทั้งขณะใส่แว่นและถอดแว่น อาจจำเป็นต้องตรวจค่าสายตาใหม่ ว่ามีค่าสายตาเปลี่ยนหรือไม่ค่ะ รวมทั้งการตรวจระยะห่างของจุดกึ่งกลางตาดำ (pupillary distance) ว่าตรงกับแว่นที่ใช้หรือไม่ เพื่อแก้ไขภาวะตาเมื่อยล้าค่ะ 2.ตาแห้ง อาการตามัว กระพริบตาแล้วดีขึ้น มักเกิดจากตาแห้งค่ะ ซึ่งไม่เกี่ยวกับต้อกระจกหรือต้อหินค่ะ ซึ่งต้อกระจกหรือต้อหินนั้นมักมีอาการตามัวตลอดค่ะ กระพริบตาไม่หายค่ะ ร่วมถึงโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทตาด้วยค่ะ ซึ่งอาการตามัวจะไม่หายไปหลังกระพริบตาค่ะ หรืออาจมีภาพซ้อนร่วมด้วยค่ะ ส่วนต้อลม ต้อเนื้อ อาจทำให้ตาแห้งได้เนื่องจากน้ำตาไม่สามารถเคลือบกระจกตาได้ทั่วถึง ซึ่งอาจสังเกตุได้จากการลองดูตาในกระจกแล้วพบมีเนื่อเยื่อที่ตาขาว หรือบางครั้งเนื้อเยื่อดังกล่าวยื่นเข้ามาในตาดำเรียกว่าต้อเนื้อค่ะ ในเรื่องการรักษานั้น จำเป็นต้องดูตามความรุนแรงของโรคว่าอยู่ในขั้นไหนค่ะ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการทำงานโดยจอคอมพิวเตอร์นั้นกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น เนื่องจากขณะที่เราจ้องจอคอมพิวเตอร์จะทำให้เรามีการกระพริบตาลดลง ทำให้น้ำตามีการระเหยมากขึ้น ดังนั้นจึงควรมีการพักสายตาเป็นระยะๆ ขณะทำงานคอมพิวเตอร์ อาจจะเป็นทำงาน 20 นาที แล้วหลับตาสักครู่ ก็จะช่วยได้ค่ะ รวมทั้งการปรับความสว่างของจอไม่ให้มีความสว่างมากเกินไปก็จะช่วยได้เช่นกันค่ะ รวมถึงการแก้ไขภาวะต่อมไขมันที่บริเวณเปลือกตาอุดตัน (Meibomian gland obstruction) 1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีลม ซึ่งจะทำให้น้ำตามีการระเหยที่เร็วมากขึ้น เช่น ในห้องแอร์บริเวณที่แอร์เป่าอยู่ หรือพัดลมก็ได้ค่ะ หากอยู่ที่แจ้งและมีลมมาก การใส่แว่นกันแดด และหมวกก็จะช่วยได้ค่ะ 2.การประคบอุ่นและนวดเปลือกตา ทำได้โดยการใช้เจล หรือไข่ต้ม ที่มีความอุ่นประมาณวางไว้หลังมือแล้วทนได้ ประคบเปลือกตาในขณะหลับตา ประมาณ 4 นาที จากนั้นนวดตาโดยเปลือกตาบนให้นวดจากบนลงล่าง เปลือกตาล่างให้นวดจากล่างขึ้นบนค่ะ จากนั้นเช็ดตา อาจใช้ผลิตภัณฑ์เช็ดตาสำเร็จรูป หรือใช้แชมพูเด็กสูตรที่ไม่ระคายเคืองผสมน้ำ อาจใช้น้ำ 1/2-1 แก้วแล้วผสมแชมพู 1-2 หยด นำสำลีหรือไม้พันสำลีชุบผลิตภัณฑ์เช็ดตาสำเร็จรูป หรือน้ำผสมแชมพู เช็ดเปลือกตาจากหัวตาไปหางตาค่ะ เน้นที่ต่ำแหน่งของต่อมไขมันที่เปลือกตาซึ่งจะอยู่ถัดจากขนตาเข้ามาข้างในเล็กน้อย หากทำได้ลำบากอาจเน้นบริเวณขนตาแทนก็ได้ค่ะ ถ้าเช็ดแล้วรู้สึกเจ็บ แสดงว่าเราเช็ดในต่ำแหน่งลึกเกินไป อาจไปโดนเยื่อบุตาข้างใน ซึ่งเป็นอันตรายได้ค่ะ ทำวันละ 1-2 ครั้งค่ะ 3.หากมีอาการมากอาจช่วยได้โดยการใช้น้ำตาเทียมค่ะ 4.ในรายที่เป็นมากอาจทำได้โดยการใช้ยากินร่วมด้วย ซึ่งควรให้จักษุแพทย์ตรวจก่อนค่ะ 5.อาหารเสริมจำพวก โอเมกา 3 ก็อาจช่วยได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยถึงประสิทธิภาพที่ชัดเจน และควรระวังผลข้างเคียงหากมีการรับประทานมากเกินไปด้วยค่ะ |
Drea*****k