กระดานสุขภาพ

คุกเข่าไม่ได้
Ploy*****8

25 พฤศจิกายน 2559 09:25:10 #1

สวัสดีคะคุณหมอ มีเรื่องจะมาปรึกษาคะ คือน้องของหนูมีปัญหาเรื่องหัวเข่าคือตอนนั้นน้องเล่นบาสอยู่ดีๆกระดูกที่หัวเข่ามันดังก๊อกแล้วก้ปวดเดินไม่ค่อยได้เพราะเสียวตรงหัวเข่าแล้วตรงหัวเข่าก้บวมขึ้นเรื่อยๆคะทุกวันนี้ก้นั้งคุกเข่าไม่ได้เพราะมันเสียวมากแต่เดินได้นะเพราะไปหาหมอแถวบ้านมาหมอบอกว่ากระดูกอ่อนอักเสบรักษาไม่ได้มันจะหายเองตอนอายุ25ปีแต่ตรงหัวเข่ามันจะบวมขึ้นเรื่อยๆแต่ทุกวันนี้ก้ยังปวดอยู่กินยาก้ไม่หายหนูอยากทราบจะมีวิธีอื่นรักษาได้ไหมคะ
อายุ: 15 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 45 กก. ส่วนสูง: 160ซม. ดัชนีมวลกาย : 17.58 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9)
นพ. ฤทธิ์ อภิญญาณกุล

แพทย์ออโธปิดิกส์

20 ธันวาคม 2559 11:05:17 #2

เข้าใจว่าเจ้าของคำถามถามให้น้องสาว ซึ่งมีอายุ 15 ปี หากถูกต้องตามข้อมูลนี้ อาการปวดและบวมบริเวณหัวเข่าหลังจากเล่นกีฬาบาสเก็ตบอลและมีการบาดเจ็บเกิดขึ้น อาจมีสาเหตุได้ดังต่อไปนี้ครับ
1 การบาดเจ็บหรือฉีกขาดของเอ็นไขว้หน้า(Anterior cruciate ligment injury or rupture) มักจะเกิดการฉีกขาดขณะมีการบิดหรือหมุน(Rotatory injury)ของข้อเข่า(ในบางคน อาจไม่มีประวัติการบาดเจ็บในลักษณะบิดหรือหมุน) ในผู้ป่วยบางรายอาจจะรู้สึกหรือได้ยินเสียง”ป๊อบ”(Pop sound)ขณะที่มีการบาดเจ็บร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักจะมีอาการขึ้นทันทีและไม่สามารถเล่นกีฬาต่อได้เนื่องจากมีอาการบวมและ/หรือปวด อาจจะมีอาการเข่าบวมได้นานถึง 2-8 สัปดาห์ หากกลับไปเล่นกีฬาที่ต้องใช้ความมั่นคงของข้อเข่าสูง เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล วิ่งซิกแซก อาจพบอาการข้อเข่าหลวมหรือคลอนตามมาได้ครับ บางรายอาจพบอาการปวดบริเวณด้านหน้าเข่า(Anterior knee pain) โดยไม่พบอาการข้อเข่าหลวมก็ได้ และมีอาการปวดมากขึ้นเวลานั่งยอง นั่งคุกเข่า หรือนั่งพับเพียบได้
2 เอ็นสะบ้าด้านในฉีกขาด(Medial patellofemoral ligment-MPFL injury) อาจพบร่วมกับข้อสะบ้าเคลื่อนหลุด(Patellae dislocation)ขณะที่มีการบาดเจ็บหรือไม่ก็ได้ มักจะมีอาการปวดตรงตำแหน่งด้านในของกระดูกสะบ้า ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เกาะของเอ็นเส้นนี้นั่นเอง อาจจะมีอาการปวดมากขึ้นเวลานั่งยอง นั่งคุกเข่า หรือนั่งพับเพียบได้
3 เอ็นประกับเข่าบาดเจ็บ(Medial/Lateral collateral ligament injury) มักจะพบอาการปวดหรือเจ็บตรงตำแหน่งด้านข้างใน หรือ ด้านนอกเข่า เวลาเดินลงน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม ภาวะการบาดเจ็บนี้มักพบร่วมกับการบาดเจ็บของเอ็นไขว้เข่าฉีกขาด และมักจะไม่มีอาการปวดตรงตำแหน่งด้านหน้าเข่า
4 การบาดเจ็บของกระดูกสะบ้า(Patellar fracture) หรือจุดเกาะเอ็นของกระดูกอ่อนสะบ้า(Avulsion fracture)
5 ข้อสะบ้าอักเสบจากการบาดเจ็บ(Traumatic patellofemoral arthritis) ซึ่งอาจจะเป็นการวินิจฉัยของแพทย์ผู้ตรวจร่างกายน้องสาวเจ้าของกระทู้ครับ โดยทั่วไปอาการปวดบวมข้อเข่ามักจะดีขึ้นได้เองภายใน 2-8 สัปดาห์ การดูแลและปฏิบัติตัวในขั้นต้น สามารถทำได้ดังต่อไปนี้ครับ
· ประคบเย็นตรงตำแหน่งข้อเข่าข้างที่มีอาการบ่อย ๆ
· สามารถใช้ยาทา หรือ ยานวด(topical NSAIDs) ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ
· อาจใช้อุปกรณ์ดามข้อเข่า(Knee brace or knee support)
· ใช้ยาพาราเซตามอล ยาต้านอักเสบกลุ่ม NSAIDs ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรือตามคำแนะนำของแพทย์
เนื่องจากสาเหตุของอาการปวด และการบาดเจ็บมีได้หลายประการ แนะนำว่าหากลองรับประทานยา และประคบเย็น นาน 2-4 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เฉพาะทางออร์โธปิดิกส์ซ้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อประเมินหาโครงสร้างที่ได้รับการบาดเจ็บในข้อครับ และอาจจะต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมทางรังสีต่อไป