กระดานสุขภาพ
สอบถามเรื่องอาการปวดเข่าจากการเล่นบาสเกตบอลครับ | |
---|---|
17 พฤศจิกายน 2555 14:25:35 #1 รบกวนสอบถามหน่อยครับ ผมเป็นนักบาสเกตบอล เล่นมาตั้งแต่อายุ 13 ตอนนี้ อายุ 27 ปี เมื่อก่อนนน.น้อย ประมาณ 57 สูง176 ครับ ผมเป็นคนกระโดดสูง และใส่รองเท้านันยางเล่นมาแต่เด็ก ช่วงต้นปี55 ผมต้องการเพิ่มน้ำหนัก จึงเล่นเวธและกินเวย์โปรตีน น้ำหนักขึ้นมาจาก 57เป็น 67 และหันมาใส่รองเท้าบาสกีฬาที่ช่วยในการเล่นบาสแล้ว แต่ปรากฏว่า พักหลังมีอาการปวดหัวเข่าซ้าย ปวดแบบแปล๊บๆเหมือนรู้สึกร้อนๆ ทำให้กระโดดไม่ขึ้นเหมือนเดิม และรู้สึกเจ็บแม้แต่เวลาเดิน โดยเฉพาะเวลาขึ้นบันได บางทีลองขยับขาขึ้นลงรู้สึกได้ยินเสียงครืดๆคราดๆในการขยับขา เมื่อลงกดลูกสะบ้า พบว่ามีอาการเจ็บในมุมด้านในด้านขวา อาการบาดเจ็บ น่าจะเป็นตรงส่วนไหนครับ |
|
อายุ: 27 ปี เพศ: M น้ำหนัก: 66 กก. ส่วนสูง: 176ซม. ดัชนีมวลกาย : 21.31 (ค่ามาตรฐานคนเอเชีย=18.5-22.9) | |
ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว) |
18 พฤศจิกายน 2555 15:21:23 #2 ฟังจากปัญหาของของคุณ PicassoBoii คือเป็นนักบาสเกตบอล ได้เพิ่มน้ำหนักขึ้นมาเกือบ 10 กิโลกรัมในช่วงปีนี้ ปัจจุบันมีอาการปวดเข่าซ้ายทั้งในขณะการเล่นบาสเกตบอลและการเดินในชีวิตประจำวัน มีเสียงที่ข้อเข่า กดเจ็บที่ลูกสะบ้า ขณะนี้เล่นบาสเกตบอลได้ไม่ดีเหมือนเดิมเพราะกระโดดได้ไม่สูงเช่นเดิม ฟังจากอาการของคุณ PicassoBoii อาการที่น่าจะมีปัญหามากที่สุด คือ เอ็นข้อเข่า (patellar tendon) บาดเจ็บ อาจเป็นแค่การอักเสบ หรือบาดเจ็บ ผมคงบอกไม่ได้อาจจะต้องไปตรวจกับแพทย์นะครับ อาจมีการบาดเจ็บที่กระดูกอ่อนของกระดูกสะบ้า (patellar cartilage) ด้วยครับจากข้อมูลที่คุณแจ้งมาว่ากดลูกสะบ้าแล้วมีอาการเจ็บมุมด้านในด้านขวาเพราะการกดของลูกสะบ้าต่อกระดูกหน้าแข้ง หากกระดูกอ่อนทางด้านหลังของกระดูกสะบ้าซึ่งช่วยกระจายแรงกดให้เป็นบริเวณกว้างออกไปมีการบาดเจ็บ การกระจายแรงจะไม่ดี ทำให้รู้สึกเจ็บได้ครับ ในทางปฏิบัติแนะนำให้คุณ PicassoBoii ไปตรวจกับศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (หมอกระดูก) เพื่อประเมินการบาดเจ็บและทำการรักษาอย่างเหมาะสมก่อน หลังจากที่การบาดเจ็บนั้นหายสนิท คุณ PicassoBoii ค่อยมาสนใจกับประสิทธิภาพการกระโดดกับการเล่นบาสเกตบอลอีกครั้งครับ เรื่องของการเพิ่มน้ำหนักและการฝึกกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเล่นกีฬาเป็นเรื่องที่ดีและเหมาะสมกับการเล่นกีฬาครับ แต่ในกรณีของคุณ PicassoBoii ที่มีการเพิ่มน้ำหนักขึ้นเกือบ 20% ในเวลาแค่ไม่ถึงปี เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาการบาดเจ็บกับข้อเข่าได้ครับ เพราะแม้ว่ากล้ามเนื้อจะมีขนาดเพิ่มขึ้นได้จากการเพิ่มน้ำหนักและการฝึกกล้ามเนื้อด้วยน้ำหนัก (weight or resistance training) แต่น้ำหนักตัวที่เยอะขึ้นอย่างรวดเร็วและมาก อาจมากเกินสัดส่วนของกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ข้อเข่าต้องออกแรงในการกระโดดมากขึ้นเพื่อให้กระโดดได้สูงเช่นเดิม ขณะลงสู่พื้นแรงกระแทกที่เกิดกับข้อเข่าก็สูงขึ้นไปตามสัดส่วนน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นด้วยครับ |
Pica*****7 |
18 พฤศจิกายน 2555 16:34:03 #3 ขอบคุณมากครับ ตอบได้หายข้องใจเลยครับ แนะนำโรงพยาบาลที่เหมาะกับนักกีัฬาหน่อยสิครับ
|
ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว) |
19 พฤศจิกายน 2555 06:52:21 #4 ขอตอบคุณ PicassoBoii70087 ว่า อาการของคุณไม่หนักมากครับ จริงๆพบศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ทั่วไป ก็น่าจะดูแลรักษาอาการบาดเจ็บของคุณได้แล้วละครับ ในทางจรรยาบรรณแพทย์ ผมไม่เหมาะที่จะแนะนำโรงพยาบาลไหน หรือ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์คนไหนผ่านสื่อ เพื่อให้ผู้ป่วยไปรับการรักษาครับ หากอยากจะหาหมอที่ดูแลได้เฉพาะทางยิ่งขึ้นให้หาข้อมูลจากทาง search engine ใน internet คำว่า ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะข้อเข่าครับ ในกรณีที่การบาดเจ็บเข่าซับซ้อน แพทย์กลุ่มนี้จะดูแลการบาดเจ็บเข่าได้ดีขึ้นครับ ส่วนเรื่องโรงพยาบาลที่เหมาะกับนักกีฬา คุณ PicassoBoii70087 สามารถค้นทาง search engine เช่นกันครับ เช่น ศูนย์การแพทย์กีฬา หรือ ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่ดูแลด้านเวชศาสตร์การกีฬาทุกท่านไม่ใช่จะเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาโรคข้อทุกข้อได้เสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ต้องมีการผ่าตัด ดังนั้นในกรณีของคุณ PicassoBoii70087 การบาดเจ็บไม่มาก และผมประเมินแล้วว่าไม่น่าจะจำเป็นต้องทำการผ่าตัดรักษา ผมจึงแนะนำให้ไปหาศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ทั่วไปก่อน หากจำเป็นต้องทำการรักษาพิเศษที่แพทย์ท่านนั้นไม่สามารถดูแลได้ ท่านก็จะส่งไปพบผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นที่เหมาะสมต่อไป |
Pica*****7 |
20 พฤศจิกายน 2555 06:10:24 #5 ขอบคุณมากสำหรับคำตอบครับ และขออภัยที่ผมลืมตัวถามไป ไม่นึกให้ถี่ถ้วนเสียก่อน รบกวนถามต่ออีกนิดครับ หลังจากที่ผมเริ่มน้ำหนักขึ้นมา ภายในปี 55 นี้ 1. ผมก็เกิดข้อเท้าพลิก ข้างขวา ถ้าจำไม่ผิดประมาณ 6 พ.ค. 55 พลิกนอกนะครับ แรงพอสมควรไปหาหมอก็ได้ยาทาน ยาทามาแล้ว ปัจจุบันยังรู้สึกเจ็บ ตึง อยู่บ้าง แต่รู้สึกกับข้อตาตุ่มด้านใน ไม่ทราบว่ามันจะหายมั้ยครับ และมันปกติหรือเปล่า เพราะเคยอ่านในอินเทอร์เน็ต เค้าว่ากันว่า เส้นเอ็นฉีกหายช้า 2. นอกจากพลิกข้างขวา ผมก็มาพลิกข้างซ้ายอีก เดือนกันยายน แต่ไม่เป็นอะไรมาก แต่ปรากฏว่าวันที่ 16 พ.ย. ผมก็พลิกซ้ำอีกที่เดิม พลิกนอกเช่นเดิมของข้างซ้าย ผมมีปัญหาอะไรหรือเปล่า ทำไมพลิกบ่อยจัง
*เพิ่มเติม:พลิกครั้งแรกผมใส่รองเท้าของadidas พลิกครั้งที่ 2 ใส่รองเท้าของnikeครับ |
ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว) |
20 พฤศจิกายน 2555 17:09:04 #6 ปัญหาข้อเท้าแพลงหรือการบาดเจ็บของเอ็นข้อเท้าที่เกิดกับคุณ PicassoBoii70087 นี้เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาที่มีการวิ่งหลายชนิดเลยครับ เมื่อรวมกับปัจจัยน้ำหนักตัวของคุณ PicassoBoii70087 ที่เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว ลักษณะธรรมชาติของกีฬาบาสเกตบอลที่มีการกระโดดแล้ว ถือได้ว่าเป็นการบาดเจ็บที่เกิดได้บ่อยครั้งทีเดียว ควรที่จะมีการป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นในครั้งต่อๆไปครับ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเช่นนี้ในอนาคต การบาดเจ็บของเอ็นข้อเท้าส่วนมากกว่า 90% เป็นด้านนอกครับเพราะเอ็นที่ยึดกระดูกด้านนอก ลักษณะการยึดเกาะมีความแข็งแรงน้อยกว่าการยึดเกาะของเอ็นที่ยึดกระดูกด้านใน ปัญหาสำคัญก็คือ เมื่อเกิดการบาดเจ็บแล้วมักมีการบาดเจ็บซ้ำๆได้บ่อยๆ หากเป็นเรื้อรัง ในที่สุดสามารถทำให้เกิดอาการข้อเท้าไม่มั่นคง (ankle instability) ส่งผลทำให้เกิดการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนในข้อเท้าระยะยาวได้ด้วย สาเหตุก็เนื่องมาจากข้อเท้าของคนเรามีเส้นประสาทไปเลี้ยงเพื่อให้ข้อเท้ารับรู้ว่าขณะนี้ข้อเท้ามีการเอียงมากน้อยเพียงใด ถ้าร่างกายสามารถรับรู้การเอียงของข้อเท้าได้ดี ร่างกายก็จะปรับชดเชยการลงน้ำหนักให้ข้อเท้าทั้งสองได้รับเท่าๆกัน และข้อเท้ากลับมาอยู่ในระนาบขนานกับพื้นราบได้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะที่บาดเจ็บบางครั้งทำให้เส้นประสาทที่มาเลี้ยงที่ข้อเท้าบาดเจ็บจนถึงฉีกขาด เส้นประสาทเหล่านี้สามารถฟื้นตัวงอกใหม่ได้แต่เส้นประสาทที่ฟื้นตัวนี้จะควบคุมการลงน้ำหนักของข้อเท้าไม่ดีเท่าเดิม ในกรณีของคุณ PicassoBoii70087 ถือได้ว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นซ้ำในอนาคตค่อนข้างเยอะ ควรทำการฝึกกล้ามเนื้อและระบบประสาทที่เลี้ยงข้อเท้าก่อนกลับไปเล่นในระดับเดิมครับ การฝึกกล้ามเนื้อทำได้โดยการใช้พวกยางยืด เช่น Therapeutic Band ใช้ฝึกในการพลิกข้อเท้าออก เพื่อต้านการบาดเจ็บที่เกิดจากการพลิกข้อเท้าเข้าใน ในขณะเกิดการบาดเจ็บครับ ไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนครับ ใช้หลักการฝึก resistance training ก็ได้ครับ ทำเป็นเซท เซทละ 10 ครั้ง วันละ 3 เซท
รูปประกอบอ้างอิงจาก: http://www.realsolutionsmag.com/ezine/79/issue79b.asp
ส่วนในการฝึกระบบประสาทของข้อเท้า คือ แนะนำใช้การฝึกการยืนบนพื้นไม่มั่นคง เช่นบน wobble board มาใช้ในการฝึกครับ การฝึกบน wobble board นั้น ขณะฝึกร่างกายจะมีการเอียงตัวค่อนข้างมาก ทำให้เส้นประสาทที่ข้อเท้ากลับมาเรียนรู้ท่าทางของร่างกายและข้อเท้าขณะมีการลงน้ำหนักเท้าทั้งสองข้างที่ไม่เท่ากัน จะทำให้เส้นประสาทที่ฟื้นฟูใหม่เรียนรู้การลงน้ำหนักของร่างกายและปรับตัวทำงานในการกระจายน้ำหนักให้ดีขึ้น การฝึกยังไม่มีแบบแผนที่ใช้กันทั่วไปที่เหมือนกันหมด แนะนำให้ยืนฝึกครั้งละ 2-3 นาที วันละ 2-3 ครั้งครับ
รูปประกอบอ้างอิงจาก: http://www.technogym.com/gb/products/functional-training/functional-training/kinesis/wobble-board/2095
สำหรับกรณีของคุณ PicassoBoii70087 เนื่องจากเคยมีการบาดเจ็บซ้ำมาแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ ก่อนกลับไปเล่นบาสเกตบอล ผมแนะนำให้ฝึกกล้ามเนื้อและระบบประสาทของข้อเท้าอย่างน้อย 1 เดือน ก่อนกลับไปเล่นบาสเกตบอลหนักระดับเดิมครับ
|
Bua.*****e |
26 พฤศจิกายน 2555 14:29:53 #7 ในกรณีดังกล่าวข้างบนนี้ ควรพัก1เดือนนี่ 1เดือนหลังบาดเจ็บหรือหลังจากหายเจ็บแล้วบำบัดอีก1เดือนครับ อย่างข้อเท้าข้างขวาที่พลิกมานี่ครึ่งปีแล้วยังเจ็บๆอยู่เลยครับ. ปล.ผมใช้ไอดีแฟนมาตอบน่ะครับยังเป็นคนถามคนเดิม |
ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว) |
26 พฤศจิกายน 2555 15:29:39 #8 ตอบคุณ PicassoBoii70087 เพื่อให้เข้าใจชัดเจนถูกต้องยิ่งขึ้นนะครับ การพักหลังบาดเจ็บอาจมีการพักระยะสั้นไม่เกิน 1-2 สัปดาห์เพื่อรอให้อาการบาดเจ็บทุเลาลง รวมกระทั่งการบวมรอบข้อเท้าให้ลดลง จนเริ่มเคลื่อนไหวข้อเท้าได้โดยไม่เจ็บและตึงมากครับ หลังจากนั้นไม่ควรพักแล้วครับ แต่จะต้องฝึกความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบข้อเท้าและระบบประสาทรอบข้อเท้าครับ ซึ่งที่ผมบอกก็คือ การฝึกความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบข้อเท้าและระบบประสาทรอบข้อเท้า อย่างน้อยควรทำการฝึกเป็นเวลา 1 เดือนก่อนที่คุณ PicassoBoii70087 จะกลับไปเล่นบาสเกตบอลในระดับเดิมอีกครั้งครับ อย่างไรก็ตามถ้าการบาดเจ็บค่อนข้างรุนแรงมากหรือเรื้อรังในกรณีของคุณ PicassoBoii70087 ระยะเวลาการฝึกก่อนกลับไปเล่นในระดับเดิมอาจต้องใช้เวลาถึง 2 เดือนเพื่อป้องกันการบาดเจ็บเอ็นข้อเท้าด้านนอกซ้ำครับ ณ เวลานี้แนะนำว่าถ้ามีอาการเจ็บเล็กน้อย อาจเนื่องจากเส้นประสาทที่บาดเจ็บรับความรู้สึกการเคลื่อนไหวของข้อไม่ดี ทำให้บางช่วงข้อพลิกมากไป อาจเจ็บได้ คุณ PicassoBoii70087 สามารถเริ่มการฝึกความแข็งแรงกล้ามเนื้อและระบบประสาทได้เลยครับ ถ้าทำแล้วประมาณ 1-2 เดือนอาการเจ็บดีขึ้น เช่น เจ็บน้อยลง ไม่เป็นถี่เช่นเดิม การเคลื่อนไหวข้อเท้าได้เต็มช่วงการเคลื่อนไหว เมื่อเคลื่อนไหวข้อเท้าเต็มแรงไม่รู้สึกว่าข้อหลวม เป็นต้น ก็ถือว่าการฝึกได้ผล อาจเริ่มกลับไปเล่นบาสเกตบอลได้ แต่ไม่ควรหักโหมในช่วงแรก เช่น ควรปรับเวลาเล่นให้สั้นลงกว่าที่เคยเล่นและความหนักน้อยกว่าที่เคยเล่น หากเล่นไปแล้ว 2-4 สัปดาห์ ไม่มีปัญหาอะไร จึงควรกลับไปเล่นหนักระดับเดิมเต็มที่ครับ |
Pica*****7 |
27 พฤศจิกายน 2555 02:34:20 #9 ครับ เข้าใจสำหรับคำตอบยิ่งขึ้นเลยครับ มีคำถามอีกนิดนึงครับ 1.ปัจจุบันมันพลิกนอกอ่ะนะครับ แต่กลับรู้สึกเจ็บด้านในตรงตาตุ่มแทนน่ะครับ อยากทรายว่าทำไม เป็นทั้งขาซ้ายและขวาเลยครับ 2.ผมลืมบอกรายละเอียดไปว่า ผมทำงานเป็นครูครับ ต้องยืนและเดินเป็นประจำ แต่ก็พันผ้าไว้ตลอดครับ แบบนี้ผมจะหายช้ามั้ยครับ |
ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว) |
27 พฤศจิกายน 2555 16:28:56 #10 ขอตอบปัญหาทั้งสองข้อของคุณ PicassoBoii70087 ดังนี้ครับ
|
Pica*****7 |
28 พฤศจิกายน 2555 03:48:42 #11 อุปกรณ์ฝึกออกกำลังกายใช่แบบที่ภาพประกอบมั้ยครับ ยางยืดกับบอร์ดที่มีครึ่งวงกลมด้านล่าง สงสัยจะหาซื้อยากมาก -*- ซุปเปอร์สปอร์ต ที่ตามพวกเดอะมอล เซ็นทรัล มีมั้ยครับ
|
ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว) |
29 พฤศจิกายน 2555 16:52:10 #12 ขอตอบคำถามคุณ PicassoBoii70087 เกี่ยวกับการหาซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกกล้ามเนื้อรอบข้อเท้าและระบบประสาทรอบข้อเท้าตามที่ถามมาดังนี้ครับ ในรูปที่คุณ PicassoBoii70087 ส่งมารูปที่เป็นยางยืดที่ใช้เพื่อออกกำลังกายกล้ามเนื้อรอบข้อเท้า ยางยืดลักษณะดังรูปสามารถใช้ในการฝึกความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบข้อเท้าได้ครับ ซึ่งน่าจะหาซื้อได้ไม่ยากเพราะอุปกรณ์นี้เป็นอุปกรณ์สำหรับออกกำลังกาย ร้านที่ขายอุปกรณ์ออกกำลังกายทั่วไปน่าจะหาซื้อได้ครับ แต่ผมไม่เคยดูที่ซุปเปอร์สปอร์ต จึงตอบไม่ได้ครับว่าที่ซุปเปอร์สปอร์ต มีขายหรือไม่ ส่วนรูปที่คุณ PicassoBoii70087 ส่งมาเป็นบอร์ดครึ่งวงกลม ดูจากภาพแล้วไม่น่าจะช่วยในการฝึกระบบประสาทรอบข้อเท้าได้เหมาะสมนักครับ เพราะบริเวณแกนกลางไม่นูนมากนัก การที่จะทำให้บอร์ดนี้มีการเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งทำได้ไม่มากนัก ทำให้เส้นประสาทรอบข้อเท้าไม่สามารถเรียนรู้การทรงตัวที่มีเอียงหรือพลิกข้อเท้าได้เหมือนกรณีที่ข้อเท้าพลิกทำให้มีการบาดเจ็บของเอ็นข้อเท้า ซึ่งจะส่งผลให้เป็นการป้องกันการบาดเจ็บในการที่จะเกิดข้อเท้าแพลงในอนาคตได้ไม่ดีนัก อุปกรณ์นี้ประเภท wobble board นี้ผมยอมรับว่าหาซื้อได้ไม่ง่ายนักครับ เพราะไม่ใช่อุปกรณ์ที่ใช้ออกกำลังกายทั่วไป แต่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ฝึกเพื่อป้องกันการบาดเจ็บของข้อเท้า อาจต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศครับ โดยลอง search ด้วยคำว่า wobble board หรือ balance board จำได้ว่าเกือบ 10 ปีที่แล้วนิสิตที่เรียนในหลักสูตรเวชศาสตร์การกีฬากับผมต้องสั่ง wobble board มาจากต่างประเทศเพื่อทำวิจัยครับ อย่างไรก็ตาม หากหาซื้อไม่ได้จริงๆ คุณสามารถหาซื้อ Bosu ball หรือ balance disc ดังรูป ผมเห็นอุปกรณ์เหล่านี้อยู่ในฟิตเนสหลายแห่ง น่าจะหาซื้อได้ไม่ยาก อย่างไรก็ตาม การเอียงของข้อเท้าและร่างกายขณะฝึกจะทำได้ไม่มากเท่ากับกรณีของ wobble board ดังนั้นผลของการฝึกเพื่อป้องกันข้อเท้าแพลงขณะเล่นกีฬา เช่น บาสเกตบอลในกรณีของคุณ PicassoBoii70087 อาจได้ผลในการฝึกเพื่อป้องกันบาดเจ็บไม่ดีเท่ากรณีของ wobble board ครับ Bosu ball รูปประกอบอ้างอิงจาก: http://www.fitnessgiant.com/badipoandbo.html
Balance disc รูปประกอบอ้างอิงจาก: http://www.fitnessgiant.com/badipoandbo.html |
Pica*****7 |
30 พฤศจิกายน 2555 02:18:20 #13 รูปอาจจะไม่ชัด ขอรบกวนคุณหมอนิดนึงครับ http://wowfitness.ibuy.co.th/383108/Wobble+Board+++PR-252+/ อุปกรณ์ตามลิ้งนั้นใช่หรือไม่ครับ wobble board
ผมลองใช้ผ้ายืดดูก่อน ทำตามท่าที่ใช้ยางยืดน่ะครับ เจ็บมากแทบร้องไห้แน่ะครับ 555+ สู้แรงต้านไม่ไหวน่ะครับ |
ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว) |
30 พฤศจิกายน 2555 16:16:52 #14 ตอบปัญหาคุณ PicassoBoii70087 เรื่องอุปกรณ์ที่ส่งรูปมาให้ดูจาก link ของ website ที่ให้มาแม้ว่าใน website จะตั้งชื่อเป็น wobble board อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของอุปกรณ์ที่จะใช้ในการฝึกเพื่อผลต่อข้อเท้าของคุณ PicassoBoii70087 คือคุณสมบัติการทำงานของอุปกรณ์นั้น อย่างที่ผมได้แนะนำแล้วว่า อุปกรณ์ดังกล่าวจะไม่ช่วยให้มีการเคลื่อนไหวของข้อเท้าได้มากพอในลักษณะของการลงน้ำหนักตัวกับข้อเท้าในลักษณะที่ใกล้เคียงกับการเกิดการบาดเจ็บของข้อเท้า ดังนั้นผลของการฝึกเมื่อใช้อุปกรณ์ดังกล่าวไม่น่าจะให้ผลที่ดีนักหากจะนำไปใช้ฝึกระบบประสาทของข้อเท้าครับ ส่วนเรื่องของการที่คุณ PicassoBoii70087 ใช้ผ้ายืดแทนยางยืดนั้น ผ้ายืดน่าจะไม่มีความยืดหยุ่นเท่ายางยืด รวมทั้งแถบผ้าที่น่าจะใหญ่กว่าจะออกแรงต้านมาก ข้อเท้าจึงต้องใช้แรงมากครับ ยังไงการฝึกไม่แนะนำให้มีความรู้สึกเจ็บขณะฝึกครับ แนะนำให้เคลื่อนไหวข้อเท้าให้แค่รู้สึกมีความตึง แต่ไม่เจ็บ ถ้าเริ่มมีอาการเจ็บข้อเท้า ให้หยุดทำทันที ดังนั้นการบิดของข้อเท้าให้ไปถึงจุดที่บิดมากที่สุดที่ยังไม่รู้สึกเจ็บครับ |
Pica*****7 |
2 ธันวาคม 2555 14:39:27 #15 ถ้าเป็นอย่างนั้น ตามที่คุณหมอบอกมา ผมคงยังไม่สามารถที่จะออกกำลังได้ เนื่องจากแค่พยายามบิดข้อเท้าให้สุด(บิดเองไม่ได้ใช้มือหรือเครื่องช่วยบิด) ผมก็ยังรู้สึกเจ็บเลย ลองใช้มือช่วยดึงนี่อยู่ในระดับเจ็บมากครับ
รบกวนถามอีกเรื่องครับ(ถามเยอะมาก รบกวนจริงๆครับ) มีพี่บอกว่าอยากหายเจ็บเร็วๆให้ใช้แช่น้ำอุ่นสลับน้ำเย็น จะหายไวขึ้นจริงหรือไม่ครับ ปัจจุบันผมแช่แต่น้ำอุ่นครับ |
Pica*****7 |
2 ธันวาคม 2555 14:41:29 #16 ลืมไปเรื่องนึงครับ ปกติควรแช่น้ำอุ่นประมาณกี่นาทีครับ |
ผศ.ดร.นพ. ภาสกร วัธนธาดา(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา และการวิเคราะห์การเคลื่อนไหว) |
3 ธันวาคม 2555 15:29:23 #17 ขอตอบคำถามคุณ PicassoBoii70087 เรื่องการออกกำลังกายข้อเท้าก่อนนะครับ การที่คุณ PicassoBoii70087 พยายามบิดข้อเท้าให้สุดโดยไม่ได้ใช้มือหรือเครื่องช่วยบิดแล้วเจ็บ ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ควรจะออกกำลังข้อเท้าเลย แต่การบิดสุดช่วงการเคลื่อนไหวของข้อเท้านั้นเป็นการเคลื่อนไหวของข้อเท้าที่มากเกินไปในเวลานี้ การออกกำลังกายข้อเท้ายังควรทำอยู่ครับ แต่ควรบิดข้อเท้าให้น้อยลงกว่านี้ แค่รู้สึกตึงๆ หรืออึดอัดแต่ไม่เจ็บครับ ส่วนคำถามเรื่องการแช่น้ำอุ่นสลับน้ำเย็นนั้น ขอตอบว่ายังไม่เป็นที่แนะนำในการรักษาการบาดเจ็บของเอ็นข้อเท้าที่เป็นมาตรฐานนะครับ ขณะนี้การรักษาที่เป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับนั้น คือ RICE ซึ่งเป็นตัวย่อของ
ขออธิบายหลักการวิธีการแช่น้ำอุ่นสลับกับน้ำเย็นในการรักษาผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บของเอ็นข้อเท้าซึ่งมีผู้ให้การรักษาและได้ผลดีกับผู้ป่วยบางคน ว่าหลักการคือ การแช่น้ำอุ่นนั้นจะทำให้เส้นเลือดขยาย ส่วนการแช่น้ำเย็นนั้นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว การทำสลับกันจะทำให้เกิดกลไกที่เรียกว่า pumping effect คือการขยายสลับกับการบีบตัวของเส้นเลือดทำให้เป็นการบีบเอาของเหลวที่คั่งส่งผลทำให้ข้อเท้าบวมนั้นไหลออกจากบริเวณที่มีการบาดเจ็บซึ่งเชื่อว่าจะทำให้หายจากอาการบวมและการบาดเจ็บที่เร็วขึ้นครับ อย่างไรก็ตาม มีรายละเอียดในการปฏิบัติดังต่อไปนี้ครับ เลือกน้ำร้อนที่ร้อนที่สุดและน้ำเย็นที่เย็นที่สุดที่สามารถแช่เท้าแล้วทนได้เป็นเวลาอย่างน้อย 2 นาที เริ่มการจุ่มเท้าลงในภาชนะที่บรรจุน้ำร้อนก่อน 2 นาทีครับ หลังจากจุ่มเสร็จ ยกเท้าออกจากภาชนะที่บรรจุน้ำร้อน แล้วพยายามเคลื่อนไหวข้อเท้าให้มากที่สุดที่ไม่มีอาการเจ็บครับ หลังจากนั้นสลับไปจุ่มเท้าในภาชนะที่บรรจุน้ำเย็น 2 นาทีครับ ในช่วงนี้พยายามให้ข้อเท้ามีการเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด เมื่อครบเวลายกเท้าออกจากภาชนะที่บรรจุน้ำเย็น จุ่มเท้าลงไปในภาชนะที่บรรจุน้ำร้อนอีกครั้ง ทำสลับกันไปมาอย่างนี้ 3-4 เที่ยว โดยหากข้อเท้าของคุณ PicassoBoii70087 ยังมีอาการบวมอยู่ให้จบการจุ่มเท้าลงในภาชนะบรรจุน้ำเย็นเพื่อลดการบวมของข้อเท้า แต่ถ้าข้อเท้าของคุณ PicassoBoii70087 นั้นไม่มีอาการบวมแล้วให้จบการจุ่มเท้าลงในภาชนะที่บรรจุน้ำร้อนเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตและช่วยการเคลื่อนไหวของข้อเท้าครับ การจุ่มเท้าในน้ำร้อนและน้ำเย็นตามที่กล่าวมานี้สามารถทำซ้ำได้วันละ 3-4 ครั้งครับ |
Pica*****7 |
4 ธันวาคม 2555 07:04:11 #18 ตามRiceที่คุณหมอกล่าวมา ผมเองก็ได้ทำตามนั้นครับ(รำคาญมากตรงตัวeนี่ละครับ เป็นคนชอบนอนตะแคง) สำหรับการแช่น้ำจะไปลองปฏิบัติดูตามนั้นครับ ขอบพระคุณคุณหมอมากครับ ขอไปลองปฏิบัติดูซัก 1 อาทิตย์ ได้ผลอย่างไรจะมาตอบครับ |
Pica*****7