ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 ตุลาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์อย่างไร?
- ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์อย่างไร?
- ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- นิ่วในไต (Kidney stone)
- กระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- เบาจืด (Diabetes insipidus)
- โรคแอดดิสัน (Addison disease)
บทนำ
ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) เป็นยาขับปัสสาวะ ที่จัดอยู่ในกลุ่มสารไทอะไซด์ (Thiazide: กลุ่มสารขับปัสสาวะกลุ่มหนึ่ง) หลายสถานพยาบาลอาจเรียกย่อๆว่า ยาเอชซีทีแซด (HCTZ)
องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ เป็นยาสำหรับสาธารณสุขขั้นพื้น ฐานในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยจัดยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ หมวดยาขับปัสสาวะ และเป็นยาอันตราย
หน้าที่หลักของยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ คือ การยับยั้งหรือชะลอการดูดน้ำกลับเข้าร่าง กายที่กรวยไต ส่งผลให้ปริมาณเลือดในร่างกายลดลง เลือดที่ไหลเวียนเข้าหัวใจเพื่อสูบฉีดไป เลี้ยงร่างกายก็ลดลงเช่นเดียวกัน และยังมีกลไกอื่นอีกที่สนับสนุนเหตุผลข้างต้น เช่นทำให้ความดันโลหิตลดลง
หลังจากรับประทานยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ และยาดูดซึมทางระบบทางเดินอาหารเข้ากระแสเลือด ปริมาณยามากกว่า 95% ไม่ได้ถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี ร่างกายใช้เวลาประ มาณ 5.6 - 14.8 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับน้ำปัสสาวะ
การใช้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ ที่ถูกต้องเหมาะสมปลอดภัยและเป็นผลดีต่อผู้ป่วย ควร ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา และไม่ควรไปหาซื้อมารับประทานเอง
ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย
- ป้องกันภาวะนิ่วในไต
- รักษาโรคกระดูกพรุน
- รักษาภาวะ/โรคเบาจืด
ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ จะออกฤทธิ์ที่กรวยไต โดยลดปริมาณเลือดที่จะไหลเวียนเข้าไต อีกทั้งยังลดการดูดกลับของเกลือโซเดียมเข้าสู่ร่างกาย ด้วยกลไกดังกล่าว ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์จึงสามารถลดความดันโลหิตสูงและขับน้ำออกจากร่างกายได้ในที่สุด
ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ จัดจำหน่ายในรูปแบบ เช่น
- ชนิดยาเดี่ยวขนาดความแรง 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด และ
- จัดจำหน่ายเป็นประเภทยาผสมกับยาอื่น เช่น ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง บางชนิด (แต่มิได้นำมากล่าวอ้างในบทความนี้)
ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ มีขนาดรับประทาน เช่น
ก. ในผู้ใหญ่:
- รักษาความดันโลหิตสูง: เช่น รับประทานเริ่มต้นที่ 12.5 มิลลิกรัม วันละครั้งหลังอาหารเช้า และแพทย์อาจปรับเพิ่มการรับประทานเป็น 25 - 100 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทาน
- ลดอาการบวมน้ำของร่างกายในภาวะมีโรคหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย: เช่น รับประทาน 25 -100 มิลลิกรัมต่อวันหลังอาหารเช้า หากอาการดีขึ้น แพทย์อาจปรับลดลงเป็น 25 - 50 มิลลิกรัมต่อวัน ในกรณีที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจปรับขนาดในช่วงแรกๆได้สูงสุดถึง 200 มิลลิกรัมต่อวัน
- รักษาโรคเบาจืดที่มีโรคไตร่วมด้วย: เช่น ขนาดรับประทานเริ่มต้นได้สูงถึง 100 มิลลิกรัมต่อวัน
ข. ในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก):
- รักษาโรคเบาจืดที่มีภาวะโรคไตร่วมด้วยในผู้ป่วยเด็ก: เช่น ขนาดรับประทานเริ่มต้น1 - 2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวันโดยแบ่งรับประทาน และเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปี สามารถรับประทานยานี้ได้สูงถึง 3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์หลังอาหาร และขนาดรับประทานที่เหมาะโดย เฉพาะในเด็ก สมควรต้องขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ HCTZ / สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า
ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (อาการข้างเคียง/ผลข้าง เคียง) เช่น
- ทำให้ร่างกายเสียสมดุลของน้ำและเกลือแร่
- รู้สึกระคายเคืองในทางเดินอาหาร
- เบื่ออาหาร
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- ความดันโลหิตต่ำ
- ปากคอแห้ง
- กระหายน้ำ
- ท้องเสีย หรือ ท้องผูก
- ตัวซีด
- ตับอ่อนอักเสบ และ
- อาจมีอาการของโรคเกาต์ กำเริบ
มีข้อควรระวังการใช้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์อย่างไร?
ข้อควรระวังการใช้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยแพ้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ และแพ้ยาซัลโฟนาไมด์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ปัสสาวะไม่ออก
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่มีภาวะตับ - ไตบกพร่องอย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยด้วยโรคต่อมไร้ท่อที่ชื่อ โรคแอดดิสัน (Addison's disease)
- ห้ามใช้ยานี้ใน หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ที่กำลังควบคุมระดับเกลือแร่ในเลือด และในผู้สูงอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ร่วมกับยารักษาอาการทางจิตประสาท/ยาจิตเวช อาจทำให้ยารักษาอาการทางจิตฯมีระดับปริมาณในกระแสเลือดสูงขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะท้องเสีย อาเจียน ง่วงนอน ตัวสั่น กระหายน้ำ ยารักษาอาการทางจิตดังกล่าว เช่นยา Lithium
- การใช้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ร่วมกับ ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่างๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้น วิงเวียน เป็นลม อ่อนเพลีย สับสน ง่วงนอน กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ซึ่งภายหลังรับประทานยานี้ ถ้ามีอาการดังกล่าวควรต้องรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะดังกล่าว เช่นยา Amidarone
- การใช้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดภาวะ ปวดหัว วิงเวียน เป็นลม จึงห้ามรับประทานร่วมกัน
- อาจทำให้เกิดภาวะของเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatraemia ) เมื่อใช้ร่วมกับ ยากันชัก เช่นยา Carbamazepine
- อาจเพิ่มความเสี่ยงของความเป็นพิษต่อร่างกายเมื่อใช้ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ร่วมกับ
- ยารักษาโรคเกาต์ เช่นยา Allopurinol หรือ
- ยาปฏิชีวนะบางตัว เช่นยาTetracycline
ควรเก็บรักษายาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์อย่างไร?
สามารถเก็บยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- บรรจุยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด
- เก็บยาในที่ที่พ้นแสง/แสงสว่าง/ แสงแดด หลีกเลี่ยงความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ และ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไร?
ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์/ HCTZ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dichlotride (ไดคลอไทรด์) | M & H Manufacturing |
Diric (ไดริก) | The Forty-Two |
Diuret-P (ไดยูเรท-พี) | P P Lab |
Dragotab (ดราโกแท็บ) | K.B. Pharma |
HCTZ/Hydrochlorothiazide T.O. (เอชซีทีแซด/ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ ที.โอ.) | T.O. Chemicals |
Hychlozide (ไฮคลอไซด์) | Pharmasant Lab |
Hydrochlorothiazide GPO (ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ จีพีโอ) | GPO |
Hydrochlorothiazide Union Drug (ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ ยูเนียน ดรัก) | Union Drug |
Hydrochlorthiazide (ยาไฮโดรคลอร์ไทอะไซด์) | BJ Benjaosoth |
Hydrozide Atlantic (ไฮโดรไซด์) | Atlantic Lab |
Hydrozide Medicine Products (ไฮโดรไซด์ เมดิซีน โพรดักส์) | Medicine Products |
Urazide (ยูเรไซด์) | A N H Products |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Hydrochlorothiazide#Medical_uses [2020,Oct10]
2. 2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fhydrochlorothiazide%2f [2020,Oct10]
3. http://www.drugs.com/drug-interactions/hydrochlorothiazide.html [2020,Oct10]
4. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a682571.html#storage-conditions [2020,Oct10]