ไอโซไนอาซิด (Isoniazid)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ไอโซไนอาซิด (Isoniazid) หรืออีกชื่อหนึ่งที่คุ้นเคยกันในวงการแพทย์คือ INH (Isonicotinylhydrazine) ถูกสังเคราะห์ขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และบริษัทโรช (Roche) ได้นำออกมาจำหน่ายในปีค.ศ.1952 (พ.ศ. 2495) เพื่อใช้รักษาวัณโรค ที่ต่างประเทศ จะมีรูปแบบการจัดจำหน่ายทั้งในรูปแบบของยาเม็ด ยาน้ำเชื่อม และยาฉีด หลังจากได้รับยาเข้าสู่ร่างกาย ยาจะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ ระดับยาในกระแสเลือดจะลดลงครึ่งหนึ่ง (Half life) ในทุกๆ 0.5 -1.6 ชั่วโมง และถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านทางปัสสาวะและอุจจาระ ไอโซไนอาซิดจัดเป็นยาอันตรายจึงต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ยาไอโซไนอาซิดมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไอโซไนอาซิด

สรรพคุณของยาไอโซไนอาซิด คือ มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ M.tuberculosis (Mycobacterium tuberculosis) และ M.bovis (Mycobacterium bovis) ซึ่งเป็นสาเหตุของ วัณโรค ยานี้จึงถูกนำมาใช้ ทั้งในแง่ของการรักษาและป้องกันวัณโรค และมักจะพบเห็นมีการ ใช้ยาปฎิชีวนะตัวอื่นร่วมในการรักษาด้วย

ยาไอโซไนอาซิดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไอโซไนอาซิดจะไปยับยั้งการสังเคราะห์ Mycolic acid ซึ่งเป็นสารสำคัญในการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ส่งผลให้ผนังเซลล์ของแบคทีเรียถูกทำลาย และทำให้เชื้อแบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและการกระจายพันธุ์ในที่สุด

ยาไอโซไนอาซิดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไอโซไนอาซิด ในประเทศไทยมีรูปแบบจำหน่ายที่เป็น ยาเดี่ยวชนิดเม็ดขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม รูปแบบยาผสมชนิดเม็ดขนาด 75, 80 และ 100 มิลลิกรัม

ยาไอโซไนอาซิดมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาไอโซไนอาซิด คือ
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 3 – 4 ครั้ง
- เด็ก: รับประทาน 10 – 20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน

ทั้งนี้ ควรรับประทานยานี้ ในช่วงท้องว่างหรือก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง เพื่อทำให้การดูดซึมยาดีขึ้น หากมีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหารมาก แพทย์อาจอนุโลมให้รับประทานยาพร้อมอาหารได้ ขนาดการรับประทาน รวมถึงระยะเวลาของการให้ยา ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ห้ามปรับเปลี่ยนการรับประทานด้วยตนเอง

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไอโซไนอาซิด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไอโซไนอาซิด อาจส่งผลให้อา การของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลาย ประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ความพิ การแต่กำเนิดกรณีบริโภคช่วงตั้งครรภ์

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไอโซไนอาซิด สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า

ยาไอโซไนอาซิดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) คือ ยาไอโซไนอาซิดอาจก่อให้เกิดอาการผื่นคัน เกิดภา วะตับอักเสบและทำงานผิดปกติ, โลหิตจาง (Sideroblastic anemia), เกิดพยาธิสภาพที่ปลายประสาทรวมไปถึงระบบประสาทส่วนกลาง, ท้องผูก, คลื่นไส้ อาเจียน, ปวดศีรษะ, นอนไม่หลับ เป็นต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาไอโซไนอาซิดอย่างไร?

ยาไอโซไนอาซิดมีข้อควรระวังในการใช้ คือ

  1. ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยด้วยโรคตับ
  2. ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยด้วยโรคไต ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง
  3. ระวังการใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ภาวะให้นมบุตร ด้วยยามีผลกระทบต่อทารกได้
  4. -ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาไอโซไนอาซิด) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไอโซไนอาซิดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

การใช้ยาไอโซไนอาซิดร่วมกับยาแก้ปวด ยาลดไข้ บางตัว สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ อาทิเช่น ตับทำงานผิดปกติ (ตับอักเสบ) มีไข้ หนาวสั่น ปวดบวมตามข้อต่อต่างๆ อ่อน เพลีย อาจมีภาวะตกเลือด มีผื่นคัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลือง ยาแก้ปวดลดไข้ดัง กล่าว เช่น Acetaminophen (พาราเซตามอล/Paracetamol)

การใช้ไอโซไนอาซิดร่วมกับยาคลายความวิตกกังวล หรือยานอนหลับบางกลุ่ม สามารถทำให้รู้สึกง่วงนอนมากยิ่งขึ้น และอาจเกิดอาการหายใจลำบาก ยากลุ่มดังกล่าว เช่น Diazepam, Chlordiazepoxide, Midazolam เป็นต้น

การใช้ไอโซไนอาซิดร่วมกับยาต้านเบาหวาน สามารถส่งผลให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น โดยไอโซไนอาซิดจะไปบดบังและลดการทำงานของยาต้านเบาหวานข้างต้น แพทย์สม ควรต้องปรับเปลี่ยนการรับประทานยาทั้ง 2 ตัวให้กับคนไข้ ยาต้านเบาหวานดังกล่าว เช่น ยาอิน ซูลิน (Insulin)

การใช้ไอโซไนอาซิดร่วมกับยาลดไขมันในเส้นเลือด อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายในระ บบเส้นประสาท เช่น มีอาการชา ปวดแสบร้อน หรือรู้สึกเสียวบริเวณมือและเท้า ยาลดไขมันในเส้นเลือดดังกล่าว เช่น Lovastatin, Simvastatin

การใช้ยาไอโซไนอาซิดร่วมกับยารักษาวัณโรคบางตัว สามารถส่งผลกระทบต่อตับจนก่อให้มีอาการไข้ หนาวสั่น ปวดตามข้อ บวมตามร่างกาย อ่อนเพลีย อาจพบอาการตกเลือด ผื่นคัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ตัวเหลือง หากพบอาการข้างต้นจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ เพื่อขอปรับขนาดการรับประทาน ยารักษาวัณโรคดังกล่าว เช่น Rifampicin

ควรเก็บรักษายาไอโซไนอาซิดอย่างไร?

สามารถเก็บยาไอโซไนอาซิด ในอุณหภูมิห้อง บรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดดและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาไอโซไนอาซิดมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไอโซไนอาซิดในประเทศไทย มีชื่อการค้าและชื่อบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อทางการค้า บริษัทผู้ผลิต
Antimic (แอนไทมิก)Chew Brothers
Isoniazid A.N.H. (ไอโซไนอาซิด เอ. เอ็น.เฮท)A N H Products
Isoniazid Atlantic (ไอโซไนอาซิด แอทแลนติค)Atlantic Lab
Isoniazid BJ Benjaosoth (ไอโซไนอาซิด บีเจ เบญจโอสถ) BJ Benjaosoth
Isoniazid GPO (ไอโซไนอาซิด จีพีโอ)GPO
Isoniazid Patar (ไอโซไนอาซิด พาตาร์)Patar Lab
Rifampyzid (ไรแฟมไพซิด)Pond’s Chemical
Rifater (ไรฟาเตอร์)Sanofi-aventis
Rimcure 3-FDC (ริมเคียว 3-เอฟดีซี)Sandoz

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Isoniazid [2014.April10].
2. https://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=isoniazid [2014,April10].
3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Isoniazid%20Atlantic/?q=isoniazid&type=brief [2014,April10].
4. http://www.drugs.com/drug-interactions/isoniazid.html [2014,April10].
5. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a682401.html#storage-conditions [2014,April10].