ไอเวอร์เมคติน (Ivermectin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 กรกฎาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาไอเวอร์เมคตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาไอเวอร์เมคตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไอเวอร์เมคตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไอเวอร์เมคตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไอเวอร์เมคตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไอเวอร์เมคตินอย่างไร?
- ยาไอเวอร์เมคตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไอเวอร์เมคตินอย่างไร?
- ยาไอเวอร์เมคตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- พยาธิไส้เดือน (Ascariasis)
- โรคเท้าช้าง (Lymphatic filariasis)
- โรคหิด (Scabies)
- ยาถ่ายพยาธิ (Anthelmintic Drugs)
- ตัวจี๊ด พยาธิตัวจี๊ด (Gnathostomiasis)
- พยาธิสตรองจิลอยด์ สตรองจิลอยดิอาซิส (Strongyloidiasis)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) คือ ยารักษาโรคพยาธิ โดยมีฤทธิ์กว้างสามารถรักษาโรคพยาธิได้หลายชนิด เช่น พยาธิสตรองจิลอยด์ , พยาธิโรคเท้าช้าง , พยาธิตัวจี๊ด, พยาธิไส้เดือน, รวมไปถึงรักษาโรคหิดด้วยเช่นกัน
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ พบว่า ยานี้สามารถดูดซึมผ่านจากระบบทางเดินอาหารได้ โดยใช้เวลาประมาณ 4 ชั่ว โมงจึงทำให้ระดับความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดขึ้นที่ระดับสูงสุด ไอเวอร์เมคตินสามารถจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 93% แต่ผ่านเข้าทางน้ำนมมารดาน้อยกว่า 2% และตับจะเป็นตัวเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับอุจจาระและบางส่วนกับปัสสาวะ
องค์การอนามัยโลกมีมติให้ ยาไอเวอร์เมคติน เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของแหล่งชุมชน คณะ กรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติในหมวดยาอันตราย การใช้ยาจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ประชาชนทั่วไปไม่สมควรซื้อยามารับประทานเอง
ยาไอเวอร์เมคตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไอเวอร์เมคตินมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค:
- พยาธิสตรองจิลอยด์
- พยาธิไส้เดือน
- โรคเท้าช้าง
- พยาธิตัวจี๊ด
- โรคหิด
ยาไอเวอร์เมคตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไอเวอร์เมคติน มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะเพิ่มการดูดซึมสารประกอบคลอไรด์(Chloride)ในเซลล์ประสาทและในเซลล์กล้ามเนื้อของตัวพยาธิ ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของขั้วไฟฟ้าเคมี (Hyperpolarization) ของเซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อดังกล่าว จนส่งผลให้พยาธิตายลงในที่สุด
ยาไอเวอร์เมคตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไอเวอร์เมคตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- เป็นยาเม็ดขนาดความแรง 6 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาไอเวอร์เมคตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไอเวอร์เมคตินมีขนาดรับประทาน เช่น
ก: สำหรับโรคพยาธิตัวกลมชนิด พยาธิสตรองจิลอยด์: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งเดียว เป็นเวลา 1 - 2 วัน
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)น้ำหนักตัวมากกว่า 15 กิโลกรัม: รับประทาน 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งเดียว เป็นเวลา 1 - 2 วัน
ข: สำหรับโรคเท้าช้าง: เช่น
- ผู้ใหญ่: ขนาดรับประทานขึ้นกับชนิดของพยาธิ เช่น
- ใช้ฆ่าพยาธิชนิด Mansonella streptocerca รับประทาน 150 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมครั้งเดียว
- ใช้ฆ่าพยาธิชนิด Mansonella ozzardi รับประทาน 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมครั้งเดียว
- เด็กน้ำหนักตัวตั้งแต่ 15 กิโลกรัม: ขนาดรับประทานขึ้นกับชนิดของพยาธิเช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่
- ใช้ฆ่าพยาธิชนิด Mansonella streptocerca รับประทาน 150 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมครั้งเดียว
- ใช้ฆ่าพยาธิชนิด Mansonella ozzardi รับประทาน 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมครั้งเดียว
ค. สำหรับโรคพยาธิไส้เดือน: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 150 - 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งเดียว
- เด็กน้ำหนักตัวตั้งแต่ 15 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทาน 150 - 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งเดียว
ง. สำหรับโรคพยาธิตัวจี๊ด: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 2 วัน
- เด็กน้ำหนักตัวตั้งแต่ 15 กิโลกรัม: รับประทาน 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 2 วัน
จ. สำหรับโรคหิด (Sarcoptes scabies): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพียงครั้งเดียว และรับประ ทานซ้ำอีก 1 ครั้งหลังจาก 2 สัปดาห์ถัดมา
- เด็กน้ำหนักตัวตั้งแต่ 15 กิโลกรัม: รับประทาน 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพียงครั้งเดียว และรับประทานซ้ำอีก 1 ครั้งหลังจาก 2 สัปดาห์ถัดมา
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยาไอเวอร์เมคตินในขณะท้องว่าง (รับประทานก่อนอาหาร)
- ห้ามใช้ยานี้ในเด็กน้ำหนักตัวต่ำว่า 15 กิโลกรัม
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไอเวอร์เมคติน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ เหนื่อยหอบ
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอเวอร์เมคตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไอเวอร์เมคติน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาไอเวอร์เมคตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไอเวอร์เมคตินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้อาเจียน
- วิงเวียน
- มีผื่นคันตามตัว, ลมพิษ
- มีไข้
- ปวดข้อ, ปวดกล้ามเนื้อ
- ความดันโลหิตต่ำ
- หัวใจเต้นเร็ว
- บวมน้ำ
- เจ็บคอ คออักเสบ
- ไอ
- ปวดหัว
- การตรวจเลือด อาจพบค่า เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้ยาไอเวอร์เมคตินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไอเวอร์เมคติน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาไอเวอร์เมคติน
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่น้ำหนักตัวต่ำกว่า 15 กิโลกรัม
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในผนังหลอดเลือดในสมอง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไอเวอร์เมคตินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาไอเวอร์เมคตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไอเวอร์เมคตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การรับประทานยาไอเวอร์เมคติน ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สามารถทำให้ระบบทางเดินอาหารดูดซึมยาไอเวอร์เมคตินเพิ่มมากขึ้น จนอาจมีผลข้างเคียงติดตามมา จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การรับประทานยาไอเวอร์เมคติน ร่วมกับยาฆ่าพยาธิ/ยาถ่ายพยาธิชนิดอื่น เช่นยา Levamisole อาจทำให้ระบบทางเดินอาหารเพิ่มการดูดซึมยาไอเวอร์เมคตินมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานอย่างเหมาะสม
- การรับประทานยาไอเวอร์เมคติน ร่วมกับน้ำผลไม้ประเภทน้ำส้ม อาจลดการดูดซึมของยาไอเวอร์เมคตินได้เล็กน้อย หากไม่มีความจำเป็น ควรเลี่ยงมารับประทานร่วมกับน้ำเปล่าแทน
ควรเก็บรักษายาไอเวอร์เมคตินอย่างไร?
ควรเก็บยาไอเวอร์เมคติน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาไอเวอร์เมคตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไอเวอร์เมคติน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Vermectin (เวอร์เมคติน) | Atlantic Lab |
บรรณานุกรม
1 https://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/101#item-8689 [2021,July5]
2 https://en.wikipedia.org/wiki/Ivermectin [2021,July5]
3 https://www.mims.com/USA/drug/info/ivermectin/?type=full&mtype=generic#Dosage [2021,July5]
4 https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Vermectin/?type=brief [2021,July5]
5 https://www.drugs.com/cdi/ivermectin.html [2021,July5]