ไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 กันยายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาไอทราโคนาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาไอทราโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไอทราโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไอทราโคนาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไอทราโคนาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไอทราโคนาโซลอย่างไร?
- ยาไอทราโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไอทราโคนาโซลอย่างไร?
- ยาไอทราโคนาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อรา (Fungal infection)
- กลาก (Tinea)
- เกลื้อน (Pityriasis versicolor)
- โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot)
- สังคัง โรคสังคัง (Tinea cruris)
- เอดส์ (AIDS)
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
- กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Flu-like Syndrome)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole หรือ Sporanox) คือ ยาต้านเชื้อราที่มีฤทธิ์กว้าง ครอบคลุมโรคเชื้อราได้หลากหลายชนิด และสามารถต่อต้านเชื้อราชนิดที่ดื้อกับยาต้านเชื้อราอื่นๆได้ เช่น เชื้อ Aspergillus, Candida/ โรคแคนดิไดอะซิส, และ Cryptococcus, เป็นต้น
ยาไอทราโคนาโซล ถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) โดยการบริหารยา/การใช้ยากับผู้ป่วยมีทั้งประเภทรับประทานและประเภทยาฉีด
มีการรายงานโดยวงการแพทย์ ได้ทดลองนำเอายาไอทราโคนาโซลมาทดลองรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) พบว่าผู้ชายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะที่ 2 เมื่อได้รับยาไอทราโคนาโซล 600 มิลลิกรัม/วัน มีการชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งอย่างมีนัยสำคัญ และถือเป็นความก้าวหน้าของวงการแพทย์อีกประการหนึ่ง
ส่วนการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) ของยานี้พบว่า ยาไอทราโคนาโซลสามารถดูดซึมได้จากระบบทางเดินอาหารประมาณ 55% การรับประทานยานี้พร้อมอาหารจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมยาได้ดีมากขึ้น และเมื่อยาผ่านเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 99.8% ตับจะเป็นอวัยวะที่เปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ธรรมชาติของยาไอทราโคนาโซลไม่สามารถผ่านเข้าในสมองหรือในน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังได้ ทำให้ยาไม่สามารถเข้าไปทำลายเชื้อราที่เกิดกับเยื่อหุ้มสมอง จึงถือเป็นข้อจำกัดประการหนึ่งของการใช้ยานี้ และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 21 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้บรรจุยาไอทราโคนาโซลอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และมีวัตถุประสงค์ของการรักษาโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อรา Penicillosis marneffei, Cryptococcosis, Vaginal candidiasis, และ Dermatomycoses
ยาไอทราโคนาโซลจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยากับผู้ป่วย จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ไม่แนะนำให้ซื้อยามารับประทานเอง
ยาไอทราโคนาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไอทราโคนาโซลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาโรคเชื้อราประเภทต่างๆหลากหลายชนิด เช่น Vulvovaginal candidiasis, Oropharyngeal candidiasis, Pityriasis Versicolor, Dermatophyto sis, Tinea manuum, Tinea pedis, Tinea corporis, Tinea cruris, Fungal keratitis, Fungal nail infection, Oral Candidiasis , Systemic aspergillosis, Candidosis cryptococcosis, Histoplas mosis, Sporotrichosis, Paracoccidioidosis, Blastomycosis, Chromomycosis
ยาไอทราโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ไอทราโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าไปลดการสังเคราห์สาร Ergosterol โดยการรบกวนการทำงานของ Cytochrome P450/เอนไซม์ใช้ในการสร้างผนังเซลล์(เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ) การขาด Ergosterol ซึ่งเป็นสาระสำคัญของผนังเซลล์ของเชื้อราจะทำให้เกิดการซึมผ่านหรือการรั่วไหลของสารภายในเซลล์ของเชื้อรา เป็นเหตุให้เชื้อราหยุดการแพร่พันธุ์ในที่สุด
ยาไอทราโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไอทราโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาแคปซูล ขนาด 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาน้ำ ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
ยาไอทราโคนาโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไอทราโคนาโซลมีขนาดรับประทาน: เช่น
1. สำหรับการติดเชื้อราในช่องคลอด (Vulvovaginal candidiasis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 7 วัน หรือ ตามแพทย์แนะนำ
2. สำหรับการติดเชื้อราหลอดอาหาร (Esophageal candidiasis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาชนิดน้ำ 200 มิลลิกรัม/วัน อาจแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง โดยอมค้างไว้ใน ปากประมาณ 20 วินาทีก่อนกลืน ระยะเวลาใช้ยาขึ้นกับแพทย์แนะนำ
3. สำหรับการติดเชื้อราช่องปาก (Oral candidiasis): เช่น
- ผู้ใหญ่ : รับประทานยาชนิดน้ำ 200 มิลลิกรัม/วัน อาจแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง โดย อมค้างไว้ในปากประมาณ 20 วินาทีก่อนกลืน ระยะเวลาใช้ยาขึ้นกับแพทย์แนะนำ
4. สำหรับการติดเชื้อราในคอหอยส่วนปาก (Oropharyngeal candidiasis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 100 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 15 วัน หรือขึ้นกับแพทย์แนะนำ
5. สำหรับการติดเชื้อราที่ผิวหนังชนิดโรคเกลื้อน Pityriasis versicolor: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 7 วัน หรือขึ้นกับแพทย์แนะนำ
6. สำหรับการติดเชื้อราที่ผิวหนังชนิดสังคัง (Tinea cruris) และชนิด โรคกลาก(Tinea corporis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 100 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 15 วัน หรือรับประทาน 200 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 7 วัน หรือขึ้นกับแพทย์แนะนำ
7. สำหรับการติดเชื้อราที่เล็บ (Nail fungal infections): เช่น
- ผู้ใหญ่: ขนาดยา และระยะเวลาที่ใช้ยา ขึ้นกับว่าเป็นการติดเชื้อที่เล็บมือหรือเล็บเท้า ร่วมกับความรุนแรงของการติดเชื้อ ดังนั้นจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การติดเชื้อราที่เล็บมือ: รับประทานยา 200 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
- การติดเชื้อราที่เล็บเท้า: รับประทานยา 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
- ระยะเวลาใช้ยานานประมาณ 3 เดือน ซึ่งบางคนในช่วง 3 เดือนนี้อาจมีการหยุดพักใช้ยาเป็นระยะๆ
8. สำหรับป้องกันการติดเชื้อราในผู้ป่วยโรคเอดส์: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัม/วัน หากจำเป็นอาจเพิ่มเป็น 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง ระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นกับแพทย์แนะนำ
9. สำหรับเชื้อราที่เท้า Tinea pedis และ Tinea manuum: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 100 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 30 วัน หรือรับประทาน 200 มิลลิกรัมเช้า - เย็นเป็นเวลา 7 วัน หรือขึ้นกับแพทย์แนะนำ
10. สำหรับติดเชื้อราที่กระจายหลายอวัยวะ Systemic fungal infections: เช่น
- ผู้ใหญ่:
- ทั่วไปรับประทาน 100 - 200 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
- หากมีการแพร่กระจายของเชื้อรามาก แพทย์สามารถเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 200 มิลลิกรัมเช้า - เย็น
- ในรายที่เป็นหนัก แพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 200 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 3 วัน หรือขึ้นกับแพทย์แนะนำ
อนึ่ง:
- สำหรับการรับประทานยานี้ชนิดแคปซูล ควรรับประทานพร้อมอาหารเพื่อช่วยการดูดซึม
- ส่วนยาน้ำ ควรรับประทานในช่วงท้องว่าง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้ในเด็ก ขึ้นกับน้ำหนักตัวและอายุของเด็ก และในหลายชนิดของการติดเชื้อรายังไม่มีข้อมูลขนาดการใช้ยานี้ที่แน่ชัด ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
- ขนาดรับประทาน และระยะเวลาที่ใช้ยานี้ ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนการรับประทานยาเอง
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไอทราโคนาโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไอทราโคนาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไอทราโคนาโซล สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาไอทราโคนาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไอทราโคนาโซลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- อาหารไม่ย่อย
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ท้องเสีย หรือ ท้องผูก
- ประจำเดือนผิดปกติ
- ผื่นคัน
- ลมพิษ
- ปัสสาวะมีสีคล้ำ
- ตรวจเลือด พบ
- ค่าเอนไซม์การทำงานของตับเพิ่มขึ้น
- ค่าเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- โรคดีซ่าน
- กลุ่มอาการข้างเคียงที่รุนแรงและสามารถเกิดขึ้นได้ เช่น
- กลุ่มอาการ Stevens-Johnson syndrome
- ตับล้มเหลว /ตับวาย
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- มีอาการของโรคหัวใจ:หลอดเลือดหัวใจ
มีข้อควรระวังการใช้ยาไอทราโคนาโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไอทราโคนาโซล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และแพ้ยากลุ่มเอโซล (Azole: กลุ่มหนึ่งของยาต้านเชื้อรา)
- ห้ามใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้ป่วยโรคตับ
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว
- การใช้ยานี้ควรต้องมีการตรวจเลือดติดตามการทำงานของตับควบคู่กันไปตามคำแนะนำของแพทย์
- การใช้ยานี้ใน เด็ก ผู้สูงอายุ ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาที่หมดอายุแล้ว
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไอทราโคนาโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาไอทราโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไอทราโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไอทราโคนาโซล ร่วมกับ ยาแก้ปวด เช่นยา Fentanyl อาจไปเพิ่มระดับของยา Fentanyl ในกระแสเลือดให้สูงขึ้น จนมีผลข้างเคียงต่างๆติดตามมา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาไอทราโคนาโซล ร่วมกับ ยาลดความดัน เช่นยา Amlodipine อาจทำให้ระดับของยารักษาความดันโลหิตสูงดังกล่าวสูงขึ้น จนส่งผลให้ หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ความดันโลหิตต่ำ, บวมได้ทั้งตัว, จนกระทั่งเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานที่เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาไอทราโคนาโซล ร่วมกับ ยาลดไขมันในเลือด เช่นยา Simvastatin ถือเป็นข้อห้ามและไม่แนะนำการใช้ยาร่วมกัน ด้วยผลข้างเคียงที่ติดตามมาค่อนข้างรุนแรง เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีไข้ ปัสสาวะสีเข้มและคล้ำ มีอาการกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
- การใช้ยาไอทราโคนาโซล ร่วมกับ ยาบำรุงกระดูก เช่น แคลเซียมคาร์บอเนต อาจทำให้การดูดซึมของยาไอทราโคนาโซลลดน้อยลงจนส่งผลต่อการรักษา หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรรับประทานเป็นช่วงที่ห่างกันประมาณ 2 ชั่วโมงขึ้นไป
ควรเก็บรักษายาไอทราโคนาโซลอย่างไร?
ควรเก็บยาไอทราโคนาโซล: เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ควรเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาไอทราโคนาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไอทราโคนาโซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Hofnazole (ฮอฟนาโซล) | Pharmahof |
Itra (ไอทรา) | MacroPhar |
Itracon (ไอทราคอน) | Unison |
Itrasix (ไอทราซิกซ์) | Sinensix Pharma |
Itrazole (ไอทราโซล) | Millimed |
Norspor (นอร์สปอร์) | Pond’s Chemical |
Spazol (สปาซอล) | Siam Bheasach |
Sporal/Sporal OS (สปอรอล/สปอรอล โอเอส) | Janssen-Cilag |
Sporlab (สปอร์แลบ) | Biolab |
Spornar (สปอร์นาร์) | Charoen Bhaesaj Lab |
Sporzol (สปอร์ซอล) | SR Pharma |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=itraconazole&page=0 [2021,Aug28]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Itra/?type=brief [2021,Aug28]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/sporal [2021,Aug28]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/itraconazole%20gpo?type=full [2021,Aug28]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Itraconazole [2021,Aug28]
- https://www.drugs.com/mtm/itraconazole.html [2021,Aug28]