ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)
- โดย นายแพทย์ โอกาส ชาญเชาวน์กุล
- 29 มกราคม 2563
- Tweet
- ทั่วไป
- ไส้ติ่งอยู่ตรงไหน? ทำหน้าที่อะไร?
- ไส้ติ่งอักเสบคืออะไร?
- ไส้ติ่งอักเสบเกิดจากอะไร?
- ใครบ้างมีโอกาสเป็นไส้ติ่งอักเสบ?
- อาการของไส้ติ่งอักเสบเป็นอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบอย่างไร?
- รักษาไส้ติ่งอักเสบอย่างไร?
- รักษาไส้ติ่งอักเสบโดยไม่ต้องผ่าตัด ทำได้ไหม?
- ถ้าคิดว่าอาจกำลังเป็นไส้ติ่งอักเสบ ควรทำอย่างไร?
- ประเด็นสำคัญที่ควรจดจำ
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis)
- เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis)
- ท้องผูก (Constipation)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- นิ่วในท่อไต (Ureteric stone)
- นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone)
ทั่วไป
เรื่องทั่วไปที่สำคัญของโรคไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) คือ
- ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่การรักษาคือการผ่าตัดในช่องท้อง และเป็นโรคพบได้บ่อยมากโรคหนึ่ง
- ทุกคน ทุกเพศ ทุกอายุ มีโอกาสเป็นไส้ติ่งอักเสบ แม้กระทั่งหญิงตั้งครรภ์
- การรักษาผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบก่อนที่จะแตก ช่วยลดโรคแทรกซ้อนและค่าใช้จ่ายการรักษาเป็นอย่างมาก
- การปวดท้องน้อยด้านขวานั้น อาจเป็นได้ทั้ง ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อักเสบ ท้องเสีย ท้องผูก นิ่วในท่อไต การติดเชื้อของปีกมดลูก กล้ามเนื้ออักเสบ และอื่นๆอีก
- ดังนั้นความเข้าใจโรคไส้ติ่งอักเสบ จึงทำให้ลดความกังวลใจ และไม่ละเลยอาการสำคัญที่เตือนให้มาพบแพทย์ทันที (ฉุกเฉิน) เมื่อสงสัยว่าอาจกำลังปวดท้องด้วยโรคไส้ติ่งอัก เสบ
ไส้ติ่งอยู่ตรงไหน? ทำหน้าที่อะไร?
- ไส้ติ่งมีรูปร่างเหมือนถุงยาวๆขนาดเท่านิ้วก้อย ยื่นออกมาจากลำไส้ใหญ่ ตำแหน่งอยู่ที่ท้องน้อย (อุ้งเชิงกราน) ด้านขวา
- ผนังด้านในของไส้ติ่งมีเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองกระจายอยู่ ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเกิดการอักเสบได้ง่าย ซึ่งเนื้อเยื่อนี้มีการเพิ่มปริมาณมากช่วงวัยรุ่น จึงพบไส้ติ่งอักเสบเกิดได้บ่อยในวัย รุ่น
- ไส้ติ่งในมนุษย์ไม่มีหน้าที่สำคัญอย่างใด การตัดไส้ติ่งออกไม่เกิดผลเสียใดๆ (ไส้ติ่งในสัตว์กินพืชเคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ใช้เป็นอวัยวะในการช่วยย่อยอาหาร)
ไส้ติ่งอักเสบคืออะไร?
ไส้ติ่งอักเสบคือ อาการบวมและติดเชื้อของไส้ติ่ง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่ง ด่วน เพราะถ้าหากทิ้งไว้นาน ไส้ติ่งที่อักเสบมักแตกกระจายเชื้อโรคสู่ช่องท้อง และอาจเป็นสา เหตุรุนแรงจนติดเชื้อในกระแสเลือด/โลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)ได้
ไส้ติ่งอักเสบเกิดจากอะไร?
สาเหตุของไส้ติ่งอักเสบ ได้แก่
- ส่วนใหญ่เกิดจากการอุดตันที่ไส้ติ่ง จากก้อนอุจจาระที่แข็ง หรือ
- เนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองที่ผนังไส้ติ่งหนาตัวขึ้น ตามการอักเสบต่างๆที่เกิดขึ้นในร่างกาย
- สาเหตุอื่นๆที่พบได้น้อยกว่า เช่น พยาธิในลำไส้ (เช่น พยาธิตืดหมู) หรือเนื้องอก
ใครบ้างมีโอกาสเป็นไส้ติ่งอักเสบ?
ผู้มีโอกาสเกิดไส้ติ่งอักเสบ คือ
- เกิดขึ้นได้กับทุกคน ตั้งแต่เด็ก 2 ขวบไปจนถึงคนชรา
- พบบ่อยมากที่สุด ช่วงอายุ 15 - 30 ปี
อาการของไส้ติ่งอักเสบเป็นอย่างไร?
อาการสำคัญไส้ติ่งอักเสบ คือ ปวดท้อง ที่มีลักษณะ เช่น
ก. ระยะแรก: ระยะไส้ติ่งเริ่มอุดตัน: จะมีอาการ เช่น
- ปวดท้องกะทันหัน และเป็นอาการเกิดก่อนอาการอื่นๆ
- มักปวดตำแหน่งรอบสะดือ ปวดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- มักมีอาการเบื่ออาหาร จุก แน่นท้อง เกิดร่วมด้วยตามมา
ข. ระยะต่อมา: ระยะไส้ติ่งบวมโป่งขึ้น เชื้อโรคขยายลุกลามถึงชั้นนอกของไส้ติ่ง อาการ เช่น
- ปวดท้องมากขึ้นในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่เกิน 1 - 2 วัน
- ย้ายตำแหน่งมาปวดที่ท้องน้อยด้านขวา
- การเคลื่อนไหว –ไอ -จาม ทำให้ปวดมากขึ้น
- และอาจเกิดอาการท้องเสียหรือท้องผูก ในระยะนี้ก็ได้
ค. ระยะรุนแรง: ไส้ติ่งอักเสบแตกกระจายในช่องท้อง: เมื่อปล่อยไว้จนไส้ติ่งอักเสบแตก (พบได้บ่อยประมาณ 20%) หากไม่ได้รับการผ่าตัดออก จะเกิดผลข้างเคียง แทรกซ้อนได้ 2 แบบ คือ
- ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อห่อหุ้มไส้ติ่งที่แตกนั้นไว้ ทำให้คลำได้มีก้อนเจ็บที่ท้องน้อย และมีไข้ หรือ
- เชื้อโรคและหนองกระจายไปทั่วท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ) อาจเข้ากระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ซึ่งอันตรายถึงชีวิต(ตาย)ได้
แพทย์วินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบได้โดย
- การซักประวัติอาการ ลักษณะการปวดท้อง
- การตรวจกดตำแหน่งที่ปวดนั้น
- การตรวจดูผลเลือดซีบีซี (CBC)
- และการตรวจปัสสาวะ ร่วมด้วย
- หากจำเป็นอาจใช้การตรวจสืบค้นภาพไส้ติ่งเพิ่มเติม เช่น การตรวจอัลตราซาวนด์ (ตรวจช่องท้องด้วยคลื่นเสียง) และ/หรือ เอกซเรย์ช่องท้อง และ/หรือหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง เพื่อช่วยแยกโรคอื่นๆที่อาจมีอาการคล้ายคลึงกับไส้ติ่งอักเสบ ทั้งนี้ การตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเหล่านี้จะขึ้นกับ อาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ซึ่งแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย โดยโรคอื่นๆที่อาการคล้ายไส้ติ่งอักเสบ เช่น
- โรคลำไส้อักเสบ
- นิ่วในท่อไต
- ปีกมดลูกอักเสบ
- ท้องนอกมดลูก
- ท้องผูกมาก
รักษาไส้ติ่งอักเสบอย่างไร?
การรักษาไส้ติ่งอักเสบคือ การผ่าตัดเอาไส้ติ่งออก ซึ่งคือการรักษาตามมาตรฐาน
เมื่อแพทย์ตรวจและวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ (แม้อาจไม่มั่นใจ 100 %) ก็จะพิจารณาผ่าตัดไส้ติ่งออก เพื่อป้องการไส้ติ่งอักเสบแตก
การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบเป็นการผ่าตัดในช่องท้อง ซึ่งสาเหตุการผ่าตัดในช่องท้อง มาจากโรคไส้ติ่งอักเสบมากที่สุด
การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ ส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ไม่ยุ่งยาก นอนโรงพยาบาล 2 - 3 วัน
แต่กรณีไส้ติ่งอักเสบที่แตกแล้ว มักใช้เวลาที่นานกว่า และอาจเกิดแผลผ่าตัดติดเชื้อภายหลังได้
ปัจจุบัน การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบด้วยกล้องเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งแพทย์ผ่าตัดจะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม
รักษาไส้ติ่งอักเสบโดยไม่ต้องผ่าตัด ทำได้ไหม?
การรักษาไส้ติ่งอักเสบโดยหวังให้อาการดีขึ้นโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยหวังว่า การอุดตันที่ไส้ติ่งจะหลุดคลายออกไปได้เองนั้น พบได้น้อยมาก และมีความเสี่ยงสูงที่ไส้ติ่งแตกทะลุ ดังนั้น จึงควรผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ ในทุกราย
ถ้าคิดว่าอาจกำลังเป็นไส้ติ่งอักเสบ ควรทำอย่างไร?
ไส้ติ่งอักเสบ เป็นโรคเร่งด่วน ต้องไปพบแพทย์ทันที ที่ห้องฉุกเฉินของโรง พยาบาล และไม่ควรกินยาระบาย หรือ สวนอุจจาระ เพราะอาจทำให้ไส้ติ่งอักเสบนั้นแตกเร็วขึ้น
ประเด็นสำคัญที่ควรจดจำ
ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับไส้ติ่งอักเสบที่ควรจดจำ ได้แก่
- ไส้ติ่งอักเสบคือการบวมและอักเสบติดเชื้อของไส้ติ่ง ซึ่งอยู่ที่ตำแหน่งท้องน้อยด้านขวา
- อาการไส้ติ่งอักเสบมักเริ่มด้วยอาการปวดท้อง
- ตามด้วยอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก หรือท้องเสีย แล้วมีไข้ ท้องอืด
- ส่วนใหญ่แล้ว แพทย์สามารถวินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบได้ด้วยประวัติปวดท้องและการตรวจร่างกาย
- ในบางกรณีที่จำเป็น อาจต้องตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้องเพิ่มเติม
- การรักษาไส้ติ่งอักเสบคือการผ่าตัดไส้ติ่งโดยเร่งด่วน ไม่ใช่โรคที่รักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว
บรรณานุกรม
- SCHWARTZ, Principle of Surgery , McGRAW HILL
- https://www.niddk.nih.gov/health-information/digestive-diseases/appendicitis[2020,Jan25].
- https://vasurgery.com/surgical-procedures/general-surgery/appendix-surgery/[2020,Jan25].