ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Viral meningitis)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 20 พฤศจิกายน 2556
- Tweet
- บทนำ
- ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบคืออะไร?
- ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีอาการอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ?
- ควรพบแพทย์เมื่อใด?
- แพทย์วินิจฉัยไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบอย่างไร?
- ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบรักษาอย่างไร?
- ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีการพยากรณ์โรคและผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้อย่างไร?
- สรุป
บทนำ
อาการปวดศีรษะ เป็นอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุที่พบบ่อย คือ ปวดศีรษะไมเกรน ปวดศีรษะจากความเครียด ส่วนสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย แต่อาการรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้ถ้ารักษาไม่ทัน คือ โรค/ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) ที่มีสาเหตุเกิดได้หลายสาเหตุ แต่ในบทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่มีสาเหตุจากเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อไวรัส หรือที่เรียกว่า “ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Viral meningitis)” เท่านั้น
อีกประการ บทความนี้จะกล่าวถึง เฉพาะ”ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบในผู้ใหญ่”เท่านั้น ไม่ครอบคลุม ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก ที่จะมีอาการ รวมทั้งการดูแลรักษาบางอย่าง และการพยากรณ์โรคที่อาจแตกต่างไปจากในผู้ใหญ่
ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบคืออะไร?
เยื่อหุ้มสมองอักเสบ คือ โรค/ภาวะที่เยื่อหุ้มสมอง (Meninges) เกิดความผิดปกติ คือเกิดการอักเสบ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะรุนแรง คอแข็ง โดยสาเหตุอาจเกิดจาก ภาวะติดเชื้อ หรือภาวะไม่ติดเชื้อ ก็ได้
- ภาวะติดเชื้อ เช่น จากไวรัส แบคทีเรีย พยาธิ
- ภาวะไม่ติดเชื้อ เช่น จาก โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง (เช่น โรค เอสแอลอี/ SLE), โรคมะเร็งที่แพร่กระจายเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง, หรือผลข้างเคียงจากยาบางชนิด (เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด)
ทั้งนี้ การอักเสบของเยื่อหุ้มสมองที่เกิดจากติดเชื้อไวรัส จะเรียกว่า “โรค/ภาวะไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ”
ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีอาการอย่างไร?
อาการจากไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะคล้ายกับอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากทุกสาเหตุ โดยที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ปวดศีรษะรุนแรง
- ปวดตึงต้นคอ ก้มคอไม่ลง ไม่สามารถก้มให้คางชิดหน้าอกได้ ที่เรียกว่า คอแข็ง (Stiffness of neck)
- เส้นประสาทสมองอัมพาต โดยเฉพาะคู่ที่ 6 (Cranial nerve 6 palsy) ที่ส่งผลให้ไม่สามารถกลอกตาไปด้านข้างได้
- จอประสาทตาบวม (Papilledema) จากภาวะความดันในโพรงกะโหลกศีรษะสูง
- อาการอาเจียน ตาพร่า/ตามัว จากภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง
- ซึม หมดสติ โคม่า
- พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่น อารมณ์แปรปรวน กระสับกระส่าย สับสน
- ชัก
อนึ่ง สาเหตุของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากการติดเชื้อ 4 กลุ่ม (แบคทีเรียที่ไม่นับรวมวัณโรค, วัณโรค, พยาธิ, และไวรัส) มีลักษณะแตกต่างกัน ดังนี้
ลักษณะ | แบคทีเรีย | วัณโรค | พยาธิ | ไวรัส |
การดำเนินโรค | รวดเร็ว 1-7 วัน | 3-6 สัปดาห์ | 1-2 สัปดาห์ | 1-2 สัปดาห์ |
ความรุนแรงของอาการ | รุนแรง | รุนแรง | ปานกลาง | ปานกลาง |
ไข้สูง | พบบ่อย | พบบ่อย | พบน้อยมาก | พบปานกลาง |
ซึม หมดสติ/โคม่า | พบได้ | พบบ่อย | พบน้อย | พบน้อยมาก |
ชัก | พบน้อย | พบได้ | พบน้อย | พบน้อยมาก |
จอประสาทตาบวม | พบน้อย | พบบ่อย | พบน้อยมาก | พบน้อยมาก |
ความดันในกะโหลกศีรษะ | สูง | สูงมาก | สูง | สูง |
เม็ดเลือดขาวในน้ำซีเอสเอฟ/CSF (จำนวนเซลล์) | หลายร้อยถึงพัน | หลายร้อย | หลายสิบถึงร้อย | หลายสิบ |
ปริมาณโปรตีนในน้ำ CSF (มิลลิกรัม) | ร้อย | หลายร้อยถึงพัน | หลายสิบ | หลายสิบ |
ปริมาณน้ำตาลในน้ำ CSFต่อในเลือด | ต่ำมาก | ต่ำมาก | ปกติ | ปกติ |
ประวัติทานอาหารดิบ | ไม่มี | ไม่มี | พบบ่อย | ไม่มี |
ประวัติไข้หวัด | ไม่มี | ไม่มี | ไม่มี | พบบ่อย |
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้แก่
- มีประวัติการติดเชื้อไวรัส ในระบบทางเดินหายใจมาก่อน
- มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเอดส์
ควรพบแพทย์เมื่อใด?
ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ถ้ามีไข้ร่วมกับปวดศีรษะรุนแรง ปวดตึงต้นคอ คอแข็ง
แพทย์วินิจฉัยไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดย พิจารณาจากอาการผู้ป่วย คือ มีไข้ ปวดศีรษะรุนแรง ปวดตึงต้นคอ/คอแข็ง และผลการตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองไขสันหลัง/ซีเอสเอฟ (CSF: Cerebrospinal fluid) พบ ความดันในกะโหลกศีรษะสูง, เม็ดเลือดขาวจำนวนหลายสิบตัว, ระดับโปรตีนสูงเล็กน้อย, ระดับน้ำตาลในน้ำ CSF ต่อในเลือด ปกติหรือลดลงเล็ก น้อย, และตรวจเชื้อไม่พบเชื้อใดๆ
ทั้งนี้ โรคนี้ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอภาพสมอง ใช้เพียงข้อมูลจากอาการข้างต้น และการตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังก็สามารถวินิจฉัยได้ แต่แพทย์จะให้การตรวจดังกล่าว ถ้าสงสัยมีรอยโรคในเนื้อสมอง
ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบรักษาอย่างไร?
แพทย์รักษาไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ โดยการเจาะระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังออก และการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด อาการก็ดีขึ้น มักไม่ต้องให้ยาต้านไวรัสใดๆ
ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบมีการพยากรณ์โรคและผลข้างเคียงอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบส่วนใหญ่ รักษาหายดีเป็นปกติภายใน 2-3 สัปดาห์ ไม่ต้องรักษาระยะยาว และโอกาสเกิดเป็นซ้ำน้อยมากๆ
ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ มักไม่มีผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนใดๆ แต่ในผู้ที่มีการติดเชื้อรุนแรงที่โรคลุกลามเข้าเนื้อสมองด้วย อาจมีผลข้างเคียงตามมาได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ไวรัสสมองอักเสบ)
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ได้แก่ การปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ, พักผ่อนให้เพียงพอ, รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ดี
นอกจากนั้น คือ คอยสังเกตอาการ ถ้ามีอาการต่างๆเลวลง หรือผิดปกติไปจากเดิม หรือ เมื่อกังวลในอาการ ก็ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด
ป้องกันโรคไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้อย่างไร?
โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถป้องกันไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ ไม่มีวัคซีนฉีดป้องกัน แต่การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงโดยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ ก็ช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ลงได้
สรุป
จะเห็นได้ว่า โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส สามารถรักษาให้หายได้ เพียงแต่ต้องรีบมาพบแพทย์ ดังนั้น ถ้าท่านมีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที