ไมนอกซิดิล (Minoxidil)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 8 มกราคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- ไมนอกซิดิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไมนอกซิดิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไมนอกซิดิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไมนอกซิดิลมีขนาดการใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไมนอกซิดิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไมนอกซิดิลอย่างไร?
- ไมนอกซิดิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไมนอกซิดิลอย่างไร?
- ไมนอกซิดิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- เนื้องอก (Tumor)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
บทนำ
ไมนอกซิดิล (Minoxidil) จัดเป็นยาลดความดันโลหิตสูงที่นำมาใช้กับผู้ป่วยซึ่งร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาขับปัสสาวะและยาลดความดันโลหิตตัวอื่น มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดขยายตัวจึงส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง
ต่อมาพบว่าหลังการใช้ยานี้ทำให้ผมงอกขึ้นได้ในผู้ที่มีศีรษะล้าน บริษัทยาบางบริษัทจึงคิดค้นและผลิตไมนอกซิดิลในรูปแบบยาทาเฉพาะที่และระบุให้มีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการผมร่วง ศีรษะล้าน จึงเป็นอีกหนึ่งสรรพคุณของยานี้
ในสูตรตำรับแรกๆของไมนอกซิดิลที่ใช้เป็นยาทา มักมีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์และโพรพิลีนไกลคอล (Propylene glycol ซึ่งเป็นสารประกอบชนิดหนึ่งใช้เป็นส่วนผสมเพื่อเป็นสารกันเสีย/Preservative และตัวทำละลาย/Solvent) ผลปรากฏว่าหลังการทายานี้ที่หนังศีรษะ ก่อให้เกิดผิวหนังแห้งและมีรังแคตามมา จึงมีการพัฒนาสูตรตำรับเปลี่ยนไปใช้ตัวทำละลายใหม่ประเภท Lipid Nanosomes เพื่อลดผลข้างเคียงจากแอลกอฮอล์และโพรพิลีนไกลคอลดังกล่าว
ปัจจุบันเราจะพบเห็นการใช้ยาไมนอกซิดิลทั้งในลักษณะยารับประทานเพื่อลดความดันโลหิตและยาทาเฉพาะที่เพื่อรักษาอาการผมร่วง ศีรษะล้าน ไม่ว่าจะใช้ยาเพื่อวัตถุประสงค์ของการรักษาใดๆก็ตามควรจะต้องเป็นไปตามคำแนะนำหรือใช้ตามดุลยพินิจของแพทย์เสมอ
ไมนอกซิดิลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไมนอกซิดิลมีสรรพคุณดังนี้เช่น
- รักษาความดันโลหิตสูงโดยใช้เป็นยารับประทาน
- รักษาอาการผมร่วง ศีรษะล้าน โดยใช้ในลักษณะของยาทาเฉพาะที่
ไมนอกซิดิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธ์ของยาไมนอกซิดิลคือ
- ในเรื่องการลดความดันโลหิต ยาไมนอกซิดิลจะทำให้เกิดกระบวนการบางอย่างที่เรียกว่า การเปิดช่องของเกลือโพแทสเซียม (Opening of potassium channels) ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดแดงจึงทำให้ความดันโลหิตลดลง
- ในเรื่องการช่วยให้ผมดกขึ้น กลไกในเรื่องนี้ของยาไมนอกซิดิลยังไม่ทราบชัดเจน เชื่อว่าการขยายตัวของหลอดเลือดที่หนังศีรษะจากการทายานี้ อาจเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงเซลล์ผมมากขึ้น ผมจึงเจริญเติบโตได้ดีส่งผลให้ผมดกขึ้นได้
ไมนอกซิดิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไมนอกซิดิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น
- ยาเม็ดรับประทาน ขนาด 5 และ 10 มิลลิกรัม/เม็ด (ใช้เป็นยาลดความดันโลหิต)
- ยาน้ำใช้ทาภายนอก ขนาดความแรง 2, 3 และ 5 กรัม/100 มิลลิลิตร (ใช้รักษาภาวะผมร่วง)
ไมนอกซิดิลมีขนาดการใช้ยาอย่างไร?
ยาไมนอกซิดิลมีขนาดการใช้ยาดังนี้เช่น
ก. สำหรับรักษาความดันโลหิตสูง:
- ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทาน 5 - 40 มิลลิกรัมเพียงครั้งเดียว/วัน หรือแบ่งรับประทานโดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- เด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี: รับประทาน 200 ไมโครกรัม - 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยรับประทานเพียงครั้งเดียว/วันหรือแบ่งรับประทาน ตามคำแนะนำของแพทย์
***** อนึ่ง การใช้ยานี้ในเด็กต้องสั่งยาและอยู่ในการดูแลใกล้ชิดของแพทย์เท่านั้น
ข. สำหรับทาเพื่อรักษาอาการศีรษะล้าน:
- ผู้ใหญ่: ทายาวันละ 2 ครั้ง โดยแพทย์จะเป็นผู้คัดเลือกความเข้มข้นของยาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย
- เด็ก: การใช้ยากับเด็กต้องเป็นไปตามคำสั่งและอยู่ในการดูแลใกล้ชิดจากแพทย์
***** อนึ่ง:
- ก่อนทายาให้ล้างทำความสะอาดบริเวณศีรษะที่จะทายา เช็ดให้แห้ง เทยาบนศีรษะส่วนนั้นเพียงเล็กน้อยประมาณ 1 มิลลิลิตร จากนั้นทาบนผิวหนังศีรษะที่ต้องการกระตุ้นให้เส้นผมงอก ค่อยๆลูบและทาเพียงเบาๆให้ทั่ว ทิ้งไว้ให้แห้งตามธรรมชาติ ห้ามใช้ความร้อนเป่าให้ผมแห้ง (ยาอาจติดไฟได้) ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมง ระวังมิให้ยาสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่นที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยา ล้างมือให้สะอาดหลังทายาทุกครั้ง ไม่จำเป็นต้องสระผมทันทีตาม หลังการใช้ยา ให้สระผมตามปกติที่เคย โดยใช้แชมพูที่อ่อนโยนหรือตามคำแนะนำของแพทย์
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไมนอกซิดิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาทาอะไรอยู่ เพราะยาไมนอกซิดิลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาหรือลืมทายาไมนอกซิดิลสามารถรับประทาน/ทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ทายาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไมนอกซิดิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไมนอกซิดิลมีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น
- ยาไมนอกซิดิลชนิดรับประทานสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงดังนี้เช่น หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจมีอาการเจ็บหน้าอกและการหายใจติดขัด/หายใจลำบาก หน้าแดง ขาหรือเท้าบวม อาจพบอาการชาตามมือ เท้า หรือที่ใบหน้า สำหรับอาการข้างเคียงที่พบได้น้อยเช่น อาการผื่นคันตามผิวหนัง เรายังอาจพบอาการผมงอกเร็ว ขนดก ขึ้นบนใบหน้า แขน และหลังได้ด้วย นอกจาก นี้ทั้งชายและหญิงอาจมีอาการคัดตึงเต้านมได้ด้วยเช่นเดียวกัน
- สำหรับอาการข้างเคียงของยาชนิดทาภายนอกได้แก่ การระคายเคืองของผิวที่สัมผัสกับยา มีขนขึ้นที่ใบหน้า เจ็บหน้าอก สับสน ปวดศีรษะ วิงเวียน หน้าแดง เป็นต้น
***** หมายเหตุ:
- ไม่ว่าจะเป็นอาการข้างเคียงใดๆก็ตามที่ส่งผลให้เกิดปัญหาในการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ควรต้องกลับไปพบแพทย์ผู้รักษาเพื่อแพทย์ปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ยากับผู้ป่วยให้เหมาะสม
มีข้อควรระวังการใช้ไมนอกซิดิลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการช้ยาไมนอกซิดิลดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยาไมนอกซิดิล
- ห้ามใช้ยาไมนอกซิดิลชนิดรับประทานเพื่อการปลูกหรือกระตุ้นให้ผมงอกขึ้น
- ห้ามใช้ไมนอกซิดิลทาแก้ผมร่วงกับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไมนอกซิดิลชนิดรับประทานกับสตรีตั้งครรภ์ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- ยาไมนอกซิดิลสามารถขับออกมากับน้ำนมมารดาได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยากับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร แนะนำให้เลี้ยงบุตรด้วยนมผงสำเร็จรูปที่มีเกณฑ์มาตรฐานตรงกับอายุของทารกแทนนมมารดา
- ระวังยาไมนอกซิดิลชนิดทาเข้าตา ด้วยจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองหรือเยื่อตาอักเสบ
- หากพบอาการแพ้ยาเช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นขึ้นเต็มตัว บวมตามใบหน้า คอ ลิ้น ให้หยุดการใช้ยาและรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไมนอกซิดิลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไมนอกซิดิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไมนอกซิดิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น
- การใช้ยาไมนอกซิดิลชนิดทาผิวหนังเพื่อปลูกผมร่วมกับยาลดความดันโลหิตเช่น Tadalafil ร่างกายสามารถดูดซึมยาไมนอกซิดิลผ่านผิวหนังและไปเสริมฤทธิ์ของผลข้างเคียงร่วมกับ Tadalafil โดยจะมีอาการความดันโลหิตต่ำ บวมตามร่างกาย ชีพจร/หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจพบอาการวิงเวียนหรืออาการปวดศีรษะร่วมด้วย หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาทั้ง 2 ตัวให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาไมนอกซิดิลชนิดรับประทานร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อบางตัวเช่น Tizanidine สามารถทำให้ความดันโลหิตต่ำลงมาก อาจมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน เป็นลม ชีพจรเต้นผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การรับประทานยาไมนอกซิดิลร่วมกับยา Hydrocortisone สามารถทำให้เกิดความดันโลหิตสูงผิดปกติ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป
ควรเก็บรักษาไมนอกซิดิลอย่างไร?
ควรเก็บยาไมนอกซิดิลทั้ง 2 รูปแบบระหว่างอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ ควรเก็บยาบรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด และความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไมนอกซิดิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไมนอกซิดิลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Loniten (โลนิเทน) | Pfizer |
Manoxidil (มานอกซิดิล) | March Pharma |
Minodil (มิโนดิล) | Charoon Bhesaj |
Minor (ไมเนอร์) | T. Man Pharma |
Modil (โมดิล) | General Drugs House |
Noxidil/Noxidil Forte (นอกซิดิล/นอกซิดิล ฟอร์ท) | T.O. Chemicals |
Regaine (รีเกน) | Johnson & Johnson |
Regrowth (รีโกรว์) | Medicine Products |
Reten/Reten 5 (รีเท็น/รีเท็น 5) | T.O. Chemicals |
S.M. (เอส.เอ็ม.) | T. Man Pharma |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Minoxidil [2014,Dec20]
2. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=minoxidil&page=0 [2014,Dec20]
3. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Loniten/?type=brief [2014,Dec20]
4. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Minodil/?type=brief [2014,Dec20]
5. http://www.drugs.com/cons/minoxidil.html [2014,Dec20]
6. http://www.drugs.com/mtm/minoxidil-topical.html [2014,Dec20]
7. http://www.medicinenet.com/minoxidil/article.htm [2014,Dec20]
8. http://www.guysandstthomas.nhs.uk/resources/patient-information/pharmacy/minoxidil-lotion-for-hair-loss.pdf [2014,Dec20]