ไฟโบรแอดีโนมา หรือ ไฟโบรแอดีโนมาเต้านม (Breast fibroadenoma)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 1 พฤศจิกายน 2563
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- ไฟโบรแอดีโนมาเต้านมเกิดจากอะไร? มีกี่ชนิด? เป็นมะเร็งได้ไหม?
- ไฟโบรแอดีโนมาเต้านมมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยไฟโบรแอดีโนมาเต้านมได้อย่างไร?
- รักษาไฟโบรแอดีโนมาเต้านมอย่างไร?ปัจจัยอะไรเป็นข้อบ่งชี้ของการผ่าตัด?
- ไฟโบรแอดีโนมาเต้านมมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันไฟโบรแอดีโนมาเต้านมอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เนื้องอก (Tumor)
- ก้อนในเต้านม (Breast mass)
- เจ็บเต้านม (Breast pain)
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- การตรวจภาพรังสีเต้านม (แมมโมแกรม/Mammogram)
- การตรวจทางพยาธิวิทยา (Histopathology)
- การตรวจทางเซลล์วิทยา (Cytology)
- รังสีวิทยา (Radiology) รังสีวินิจฉัย (Diagnostic Radiology) ฉายาเวชศาสตร์ (Imaging Medicine) รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา (Therapeutic Radiology and Oncology) และ เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine)
- อัลตราซาวด์ (Ultrasonogram)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
ไฟโบรแอดีโนมาเต้านม หรือ ไฟโบรแอดีโนมา (Breast fibroadenoma) คือ เนื้องอกของเต้านมชนิดธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็ง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติในการเจริญเติบโตของทั้งเซลล์เนื้อเยื่อต่อมสร้างน้ำนมร่วมกับเซลล์เนื้อเยื่อเส้นใยซึ่งเป็นเซลล์ช่วยพยุงการทำงานของเซลล์เนื้อเยื่อต่างๆของเต้านม, โดยมีลักษณะเป็น ก้อน-ก้อนเนื้อ ค่อนข้างกลม ไม่เจ็บ เปลี่ยนที่ตลอดเวลาคล้ายหนู จึงมีอีกชื่อว่า ‘Breast mouse หรือ Breast mice’ อาจเกิดเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนในเต้านมซ้ายหรือขวาก็ได้ หรือ เกิดพร้อมกันทั้ง2เต้านมก็ได้
ไฟโบรแอดีโนมาเต้านม/ไฟโบรแอดีโนมา พบบ่อยทั่วโลก ประมาณ7%-13% ของสตรีทั่วโลก พบทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่เกือบทั้งหมดเกิดในเพศหญิง พบทุกอายุ พบน้อยในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)และในผู้สูงอายุ ทั่วไปมักเกิดในวัยเจริญพันธ์(วัยยังมีประจำเดือน)อายุช่วง 20-30ปี
ไฟโบรแอดีโนมาเต้านมเกิดจากอะไร? มีกี่ชนิด? เป็นมะเร็งได้ไหม?
สาเหตุเกิดไฟโบรแอดีโนมาเต้านม/ไฟโบรแอดีโนมาที่แน่ชัดแพทย์ยังไม่ทราบ แต่ เชื่อว่าปัจจัยเสี่ยงน่ามาจาก
- ปริมาณสูงผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิงชนิดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทั้งนี้เพราะมักพบก้อนเนื้อนี้ในช่วงวัยมีประจำเดือน และก้อนเนื้อจะค่อยๆยุบหายไปในวัยใกล้หมดประจำเดือนและวัยหมดประจำเดือน รวมถึงอุบัติการณ์โรคนี้พบสูงขึ้นในสตรีที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดก่อนอายุ 20 ปี
*อนึ่ง: ในด้านพันธุกรรม: ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า โรคนี้มีพันธุกรรมผิดปกติชนิดใดที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้
ชนิดของไฟโบรแอดีโนมาเต้านม/ไฟโบรแอดีโนมา และปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม:
ไฟโบรแอดีโนมาเต้านม/ไฟโบรแอดีโนมา แบ่งเป็น2ชนิดโดยไม่ขึ้นกับขนาดก้อนเนื้อแต่ขึ้นกับลักษณะเซลล์ทางพยาธิวิทยาเป็นหลักได้แก่
ก. ชนิดไม่ซับซ้อน(Simple fibroadenoma): ซึ่งพบเป็นส่วนใหญ่ คือมากกว่า 80%ของเนื้องอกไฟโบรแอดีโนมาเต้านม/ไฟโบรแอดีโนมาทั้งหมด มักพบในอายุต่ำกว่า 40ปี โดยลักษณะเซลล์ทางพยาธิฯมีรูปแบบคล้ายกันทุกเซลล์ทั้งก้อน-ก้อนเนื้อ และในระยะยาวเป็นชนิดเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมน้อยมากประมาณ 1.9 เท่าของสตรีทั่วไป
ข. ชนิดซับซ้อน(Complex fibroadenoma): พบเป็นประมาณ 16% ของไฟโบรแอดีโนมาเต้านม/ไฟโบรแอดีโนมาทั้งหมด เป็นชนิดที่เซลล์ทางพยาธิฯของก้อนเนื้อมีลักษณะต่างกัน บางเซลล์มีการเจริญแบ่งตัวผิดปกติและ/หรือลักษณะผิดปกติ และจะมีหินปูน/แคลเซียมจับในก้อนเนื้อ เนื้องอกชนิดนี้มักพบในวัยที่สูงกว่าชนิดไม่ซับซ้อน(40ปีขึ้นไป) และในระยะยาวเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมสูงกว่าชนิด’ไม่ซับซ้อน’คือประมาณ 3.1-3.7เท่าของสตรีทั่วไป
อนึ่ง การเกิดมีเนื้องอกไฟโบรแอดีโนมาเต้านม/ไฟโบรแอดีโนมา เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของการเกิดมะเร็งเต้านมดังได้กล่าวแล้ว แต่ตัวเนื้องอกนี้เองก็มีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งเต้านมได้แต่พบน้อยมากๆๆ ซึ่งมีรายงาน(บรรณานุกรม 7)พบประมาณ0.002%-0.0125%.
นอกจากนี้ เนื้องอกไฟโบรแอดีโนมาเต้านม/ไฟโบรแอดีโนมา:
- เมื่อมีขนาดโตมากกว่า 5ซม.(พบน้อยประมาณ 4%ของเนื้องอกนี้ทั้งหมด): ที่มักจะส่งผลให้รูปร่างของเต้านมผิดปกติ แพทย์หลายท่านเรียกว่า ‘ไฟโบรแอดีโนมายักษ์(Giant fibroadenoma)’ มักพบในช่วงร่างกายมีเอสโตรเจนสูง เช่น กำลังตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตร ส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกชนิด’ไม่ซับซ้อน’และมักยุบได้เองหลังฮอร์โมนเอสโตรเจนกลับสู่ภาวะปกติ
- เมื่อเนื้องอกนี้เกิดในอายุต่ำกว่า 18 ปี มักอยู่ในช่วงอายุ 10-18 ปี เรียกว่า ‘ไฟโปรแอดีโนมาในเด็กและเยาวชน(Juvenile fibroadenoma)’: ทั่วไปมักเป็นชนิด’ไม่ซับซ้อน’ ก้อนเนื้อมักโตเร็วแต่มักยุบหายได้เองเมื่อสภาพฮอร์โมนฯปรับตัวเป็นปกติ เนื้องอกฯกลุ่มนี้พบน้อยประมาณ 0.5%-2% ของไฟโบร์แอดีโนมาทั้งหมด
ไฟโบรแอดีโนมาเต้านมมีอาการอย่างไร?
อาการของไฟโบรแอดีโนมาเต้านม/ไฟโบรแอดีโนมา ได้แก่
- ลักษณะก้อนเนื้อ:
- คลำพบเป็นก้อนในเต้านม อยู่ใต้ผิวหนัง แข็งประมาณยางลบ ก้อนค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ ผิวเรียบ ขอบเขตค่อนข้างเรียบ เปลี่ยนที่ได้(ก้อนเนื้อชนิดอื่นๆมักอยู่กับที่ถึงแม้จะจับโยกได้) ไม่เจ็บปวด(บางรายอาจรู้สึกเจ็บได้โดยเฉพาะจากการคลำ)
- ก้อนมักมีขนาดโตไม่เกิน 3 ซม.แต่ก็พบโตกว่านี้ได้(พบน้อย) เมื่อผ่าตัดก้อนเนื้อออกจะพบก้อนเนื้อมีสีขาวขุ่นหรือขาวออกเหลืองอ่อนหรือน้ำตาลอ่อนๆ
- ทั่วไปพบมีเพียงก้อนเดียว(ประมาณ 70%), โอกาสเกิดในเต้านมซ้ายหรือขวาใกล้เคียงกัน, แต่ก็สามารถพบหลายก้อนในเต้านมแต่ละข้างหรือทั้ง2เต้านมก็ได้ซึ่งพบได้ประมาณ 30%
- ขนาดก้อนและ/หรืออาการต่างๆ ‘ไม่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน’
- ขนาดก้อนอาจเล็กลงได้ภายใน 3- 6เดือนหรือนานกว่านี้โดยเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มวัยใกล้หมดประจำเดือนหรือวัยหมดประจำเดือน
- คลำไม่พบต่อมน้ำเหลืองรักแร้ทั้ง2ด้านและ/หรือต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า
- หัวนมปกติ ไม่มีก้อนใต้หัวนม ไม่มีสารคัดหลั่งจากหัวนม
แพทย์วินิจฉัยไฟโบรแอดีโนมาเต้านมได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยไฟโบรแอดีโนมาเต้านม/ ไฟโบรแอดีโนมาได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ คือ อาการ ประวัติประจำเดือน ประวัติโรคมะเร็งเต้านมของผู้ป่วยและครอบครัวโดยเฉพาะในญาติสายตรง ประวัติการตั้งครรภ์ การใช้ยาต่างๆโดยเฉพาะยาเม็ดคุมกำเนิดและอายุที่เริ่มใช้ยา, ยาฮอร์โมนต่างๆโดยเฉพาะเอสโตรเจนทั้งชนิด กิน ฉีด และชนิดทา
- การตรวจร่างกายทั่วไปที่รวมถึงการตรวจคลำเต้านมทั้ง 2ข้าง, การตรวจคลำลักษณะก้อน, การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’
- ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ลักษณะก้อน และการตรวจร่างกายฯ ดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามขึ้นกับ ดุลพินิจของแพทย์, ขนาดก้อน, อายุผู้ป่วย, ประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว, และความกังวลของผู้ป่วย แพทย์อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อแยกจากก้อนในเต้านมชนิดอื่นๆ เช่น
- อัลตราซาวด์เต้านม อาจร่วมกับการตรวจภาพรังสีเต้านม(แมมโมแกรม)หรือไม่ก็ได้
- เจาะ/ดูดเซลล์จากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
- การตัดชิ้นเนื้อ หรือ การผ่าตัดเอาก้อนออกเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อคลำพบก้อนในเต้านม ไม่ว่าจะมีอาการอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ หรืออายุเท่าไร ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยโรค เพื่อให้ทราบว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดไหน เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
รักษาไฟโบรแอดีโนมาเต้านมอย่างไร?ปัจจัยอะไรเป็นข้อบ่งชี้ของการผ่าตัด?
แนวทางการรักษาไฟโบรแอดีโนมาเต้านม/ไฟโบรแอดีโนมา ได้แก่
ก. การเฝ้าติดตามก้อนเนื้อ: เนื่องจากธรรมชาติของโรคของก้อนเนื้อนี้มักค่อยๆยุบลงจนถึงอาจหายไปได้เองใน ดังนั้นทั่วไป การรักษาหลักคือการเฝ้าติดตามขนาดและลักษณะก้อนเนื้อกรณีผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 35 ปี, ด้วยการตรวจคลำเต้านม/ก้อนเนื้อร่วมกับการตรวจเต้านมด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือ แมมโมแกรมทุก 3-6เดือน และ/หรือร่วมกับมีการดูดเจาะก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยาตามดุลพินิจของแพทย์เพื่อให้แพทย์มั่นใจว่าเป็นไฟโบรแอดีโนมาเต้านม/ไฟโบรแอดีโนมาจริงโดยเฉพาะในผู้มีประวัติครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม
ข. แพทย์มักแนะนำการผ่าตัดก้อนเนื้อออก: เมื่อ
- ผู้ป่วยอายุมากกว่า 35 ปี โดยเฉพาะเมื่อมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม
- ก้อนเนื้อโตขึ้น โดยเฉพาะที่เริ่มส่งผลให้รูปทรงของเต้านมบิดเบี้ยวไป
- ก้อนเนื้อไม่ยุบ หรือ ยุบไม่หมดหลังอายุ35ปี
- ผลตรวจเต้านมจาก อัลตราซาวด์ และ/หรือ แมมโมแกรม และ/หรือ ผลการตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อพบเป็น ’ชนิดซับซ้อน’
อนึ่ง:
- วิธีรักษาทางศัลยกรรมมีหลากหลายวิธี ขึ้นกับ ดุลยพินิจของแพทย์, และความพร้อม/เครื่องมือที่แพทย์มีอยู่ เช่น
- ผ่าตัดออกเฉพาะก้อนเนื้อ และ/หรือ ร่วมกับเอาเนื้อเยื่อบางส่วนของเต้านมออกด้วย
- ผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า
- จี้ก้อนเนื้อด้วยความเย็น
- จี้ก้อนเนื้อด้วยคลื่นวิทยุกำลังสูง(RFA: Radiofrequency ablation)
- จี้ก้อนเนื้อด้วยอัลตราซาวด์กำลังสูง(HIFU: High intensity focused ultrasound)
- ปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่เป็นมาตรฐานในโรคนี้
ไฟโบรแอดีโนมาเต้านมมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ไฟโบรแอดีโนมาเต้านมมีการพยากรณ์โรคที่ดี:
- ทั่วไป แพทย์รักษาควบคุมโรคได้ดี ไม่เป็นสาเหตุให้ถึงตาย และอายุขัยผู้ป่วยจะเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป
- ในระยะยาว เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมได้ แต่โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมน้อยมาก ดังกล่าวใน ‘หัวข้อ เกิดจากอะไร? เป็นมะเร็งได้ไหม?’
- ในระยะยาวหลัง 5ปี ก้อนเนื้อมีโอกาสยุบลงเป็นปกติได้ประมาณ 50%โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นเด็กและวัยรุ่น โดยที่เหลือประมาณ 25%ขนาดก้อนคงที่, อีกประมาณ 25% ก้อนอาจโตขึ้น
- ในระยะเวลา 5 ปีหลังผ่าตัด ประมาณ 15%-30% ของผู้ป่วยที่ผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้ไม่หมด โรคอาจย้อนกลับเป็นซ้ำที่รอยโรคเดิม
- ประมาณ 25%ของผู้ป่วยหลังผ่าตัด ในระยะยาวอาจเกิดก้อนเนื้อใหม่ในเต้านมตำแหน่งอื่นๆได้อีก
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคไฟโบรแอดีโนมาเต้านม/ ไฟโบรแอดีโนมา สำคัญที่สุด คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอโดยเฉพาะเมื่อมีนัดตรวจภาพเต้านมทางรังสีวิทยา (เช่น อัตราซาวด์ และ/หรือ แมมโมแกรม)
- สังเกตว่า การบริโภคอะไร เช่น อาหาร เครื่องดื่ม(เช่น คาเฟอีน, ช็อกโกแลต) ยาต่างๆ เครื่องสำอาง ที่ส่งผลให้ก้อนเนื้อโตขึ้น ให้หลีกเลี่ยง/เลิกบริโภคสิ่งนั้น
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
- สังเกตตนเองแล้วพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของก้อนเนื้อและ/หรือของตัวเต้านมเอง
- มีอาการใหม่เกิดที่เต้านม เช่น เจ็บเต้านม
- มีอาการดังกล่าวใน ’หัวข้อ การรักษาฯ หัวข้อย่อย ข้อ ข.’
- กังวลในอาการ
ป้องกันไฟโบรแอดีโนมาเต้านมอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดไฟโบรแอดีโนมาเต้านม/ ไฟโบรแอดีโนมา ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ รีบมาโรงพยาบาลเมื่อคลำพบก้อนในเต้านม
บรรณานุกรม
- Ian Grady, et al. The Breast Journal. 2008; 14(3):275-278
- Ron Greenberg, et al. J Gen Intern Med. 1998 ; 13(9): 640–645
- https://www.cancer.org/cancer/breast-cancer/non-cancerous-breast-conditions/fibroadenomas-of-the-breast.html [2020,Oct31]
- https://radiopaedia.org/articles/complex-fibroadenoma [2020,Oct31]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK535345/ [2020,Oct31]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Fibroadenoma [2020,Oct31]
- https://www.wikidoc.org/index.php/Fibroadenoma_natural_history,_complications_and_prognosis [2020,Oct31]