ไนโตรฟูแรน (Nitrofuran)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 กุมภาพันธ์ 2559
- Tweet
- บทนำ
- ไนโตรฟูแรนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไนโตรฟูแรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไนโตรฟูแรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไนโตรฟูแรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไนโตรฟูแรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไนโตรฟูแรนอย่างไร?
- ไนโตรฟูแรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไนโตรฟูแรนอย่างไร?
- ไนโตรฟูแรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- อหิวาตกโรค (Cholera)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
บทนำ
ยาไนโตรฟูแรน (Nitrofuran หรือ Nitrofuran antibiotic หรือ Nitrofuran antibacterial agent) เป็นกลุ่มยาปฏิชีนะที่ใช้ต่อต้านเชื้อโรคหลายชนิดเช่น แบคทีเรียและโปรโตซัว/สัตว์เซลล์เดียว มีโครงสร้างจากสารประกอบอินทรีย โดยเป็นสารเคมีที่ชื่อ ฟิวแรน (Furan) และไนโตร (Nitro) โดยแบ่งเป็นอนุพันธุ์แยกออกได้หลายรายการเช่น
1. Furazolidone:ใช้ต่อต้านแบคทีเรียแกรมบวกและแกรมลบรวมถึงเชื้อโปรโตซัว เป็นยาชนิดรับประทานมีการดูดซึมได้ต่ำจากระบบทางเดินอาหาร ออกฤทธิ์ได้ดีภายในลำไส้ ทางคลินิกใช้เป็นยารักษาอาการท้องเสียจากแบคทีเรีย อหิวาตกโรค และเชื้อโปรโตซัว
2. Furylfuramide: ใช้เป็นสารป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในอาหารมากกว่าที่จะนำมาใช้เป็นยา แต่ถูกเพิกถอนการใช้ในปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) ด้วยพบว่าสารนี้ก่อให้เกิดเนื้องอกในสัตว์ทดลอง
3. Nitrofurantoin: ใช้เป็นยารักษาและป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นยารับประทานที่ใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จัดเป็นยาทางเลือกที่ใช้ต่อต้านแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะชนิดอื่น ชื่อการค้าที่พบเห็นในต่างประเทศคือ Macrobid
4. Nitrofurazone: เป็นยาต่อต้านแบคทีเรียที่มักพบเห็นในรูปของยาขี้ผึ้ง ด้วยเหตุผลบางประการอเมริกาได้เพิกถอนยานี้ แต่ยังสามารถพบเห็นการใช้ในแถบเอเชียบางประเทศเช่น อินเดีย
5. Nifurquinazol: เป็นสารที่ใช้ต่อต้านแบคทีเรียได้ แต่ยังไม่มีการวางจำหน่ายเป็นยาในท้องตลาด
6. Nifurtoinol: ใช้รักษาการติดเชื้อภายในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นยาชนิดรับประทาน และยังไม่พบเห็นว่ามีการใช้ในประเทศไทย
7. Nifuroxazide: ใช้เป็นยารักษาอาการท้องเสีย มีทั้งแบบแคปซูลและยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน พบเห็นการใช้ได้ในประเทศไทย
8. Nifurtimox: ใช้ต่อต้านเชื้อโปรโตซัวที่เป็นสาเหตุของโรคเหงาหลับ (Sleeping sickness, โรคเกิดจากเชื้อโปรโตซัวที่ก่อการอักเสบของสมอง มีแมลงเช่นแมลงวันเป็นพาหะโรค พบในทวีปอัฟริกา ยังไม่พบในประเทศไทย) เป็นรูปแบบของยารับประทาน องค์การอนามัยโลกระบุให้เป็นยาขั้นพื้นฐานของชุมชน ด้วยความชุกชุมของโรคไม่ค่อยเกิดขึ้นแล้วเราจึงไม่พบเห็นการใช้ยานี้เท่าไรนัก
9. Nifurzide: จัดเป็นยาที่ใช้ต่อต้านการอักเสบของร่างกายจากแบคทีเรีย แต่ก็ยังพบเห็นว่ามีการใช้น้อย
10. Ranbezolid:ไม่ค่อยพบเห็นการใช้ยานี้สักเท่าใดนัก
ทั้งนี้กลุ่มยาไนโตรฟูแรนสามารถก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยได้หากใช้ยาไม่ถูกวิธี ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ป่วย/ผู้บริโภค ควรต้องมีคำสั่งจากแพทย์ก่อนการใช้ยากลุ่มนี้ทุกครั้ง
ไนโตรฟูแรนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไนโตรฟูแรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น ใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโปรโตซัว อันเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย/ท้องร่วง โรคเหงาหลับ เป็นต้น
ไนโตรฟูแรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไนโตรฟูแรนมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะรบกวนการทำงานของเอนไซม์ในแบคทีเรีย และเชื้อโปรโตซัว/สัตว์เซลล์เดียวที่ก่อโรค นอกจากนี้ยังรบกวนการจำลองสารพันธุกรรมที่เรียกว่า DNA ในกลุ่มเชื้อโรคดังกล่าว ส่งผลให้แบคทีเรียและโปรโตซัวไม่สามารถเจริญเติบโต หยุดการแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด
ไนโตรฟูแรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไนโตรฟูแรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาเม็ดและยาแคปซูลชนิดรับประทาน
- ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทาน
ไนโตรฟูแรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ตัวยาของกลุ่มยาไนโตรฟูแรนมีหลายรายการและมีขนาดการใช้ที่แตกต่างกันออกไปขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคและความรุนแรงของอาการ การใช้ยาและขนาดยาจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไนโตรฟูแรน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไนโตรฟูแรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไนโตรฟูแรนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไนโตรฟูแรนตรงเวลา
ไนโตรฟูแรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไนโตรฟูแรนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีไข้ เกิดผื่นคัน ลมพิษ ผิวหนังอักเสบ ปวดข้อ ปวดท้อง ปวดศีรษะ เกิดท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ความดันในกะโหลกศีรษะสูง ง่วงนอน วิงเวียน โลหิตจางจากสาเหตุเม็ดเลือดแดงแตก Steven Johnson syndrome และเป็นพิษกับตับ/ตับอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้ไนโตรฟูแรนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไนโตรฟูแรนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาในกลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับอาหารที่มีส่วนประกอบของ Tyramine (สารธรรมชาติที่มีสูงในอาหารบางประเภทและสามารถกระตุ้นการทำงานของสมองได้) เช่น อาหารประเภทชีส/Cheese/เนยแข็ง น้ำซุปจากเนื้อสัตว์ พืชตระกูลถั่ว เนื้อสัตว์ต่างๆ
- ห้ามรับประทานยาไนโตรฟูแรนร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์หรือแม้แต่ยาน้ำประเภทอิลิกเซอร์/ยาดอง (Elixir) ซึ่งมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบในสูตรตำรับ
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่ม/อาหารที่มีส่วนประกอบของกาเฟอีนเช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต เครื่องดื่มประเภทโคล่า หรือแม้แต่การสูบบุหรี่
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD) ด้วยจะกระตุ้นให้เกิดภาวะโลหิตจาง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไนโตรฟูแรนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไนโตรฟูแรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไนโตรฟูแรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยา Furazolidone ร่วมกับยา Phenylephrine ด้วยอาจทำให้เกิดความดันโล หิตสูงและอาจถึงขั้นเสียชีวิต (ตาย) ผู้ป่วยควรเว้นระยะเวลาของการใช้ยาทั้ง 2 รายการนี้ห่างกัน 14 วันเป็นอย่างต่ำ
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Nitrofurantoin ร่วมกับยา Magnesium trisilicate ด้วยจะทำให้การดูดซึมของยา Nitrofurantoin ลดลง
ควรเก็บรักษาไนโตรฟูแรนอย่างไร?
ควรเก็บยาไนโตรฟูแรนในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไนโตรฟูแรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไนโตรฟูแรนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Difuran (ไดฟูแรน) | The Forty-Two |
Disento PF (ไดเซนโต พีเอฟ) | Nakornpatana |
Furion (ฟูริออน) | Chew Brothers |
Furamed (ฟูราเมด) | Medicpharma |
Furasian (ฟูราเซียน) | Asian Pharm |
Furazolidone A.N.H. (ฟูราโซลิโดน เอ.เอ็น.เฮช) | ANH Products |
Furopectal Syrup (ฟูโรเพคทอล ไซรัป) | SSP Laboratories |
Furopectin (ฟูโรเพคติน) | PP Lab |
Profura (โพรฟูรา) | Medicine Products |
Patarlin (พาทาร์ลิน) | Patar Lab |
Suratin (ซูราทิน) | Suphong Bhaesaj |
Macrodantin (มาโครแดนติน) | Boehringer Ingelheim |
Nitrofurantoin A.N.H. (ไนโตรฟูแรนโทอิน เอ.เอ็น.เฮช) | A N H Products |
EMFURAZONE (แอมฟูราโซน) | Emcure |
FURACIN (ฟูราซิน) | GSK |
Debby (เด็บบี้) | Thai Nakorn Patana |
Erfuzide (เออร์ฟูไซด์) | Union Drug |
Mifuzide (มิฟูไซด์) | Milano |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nitrofuran [2016,Jan30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Furazolidone [2016,Jan30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nitrofurantoin [2016,Jan30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nitrofural [2016,Jan30]
- http://www.mims.com/India/drug/search?q=nitrofural [2016,Jan30]
- http://www.britannica.com/science/nitrofuran [2016,Jan30]