ไทอะไซด์ (Thiazide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 สิงหาคม 2564
- Tweet
- บทนำ : คือยาอะไร?
- ยาไทอะไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาไทอะไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไทอะไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไทอะไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไทอะไซด์อย่างไร?
- ยาไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไทอะไซด์อย่างไร?
- ยาไทอะไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- เบาจืด (Diabetes insipidus)
- นิ่วในไต (Kidney stone)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
บทนำ : คือยาอะไร?
ยาไทอะไซด์ (Thiazide) คือ กลุ่มยาขับปัสสาวะที่นำมาช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง, อาการบวมอันมีสาเหตุมาจาก โรคหัวใจ โรคตับ และโรคไต, ยากลุ่มนี้ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตเนื่องจากหัวใจขาดเลือด (โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย) อันมีสาเหตุมาจากความดันโลหิตสูง
วงการแพทย์จัดให้ยากลุ่มไทอะไซด์เป็นยาลดความดัน ที่มีราคาถูกที่สุด ยากลุ่มไทอะไซด์ยังแบ่งออกเป็นหลายรายการโดยมีสาร Benzothiazide เป็นสารตั้งต้น (Parent of the class) และสามารถแบ่งเป็นอนุพันธุ์ย่อยได้อีก เช่น Bendroflumethiazide, Chlorothiazide, Cyclothiazide, Hydrochlorothiazide, และ Diazoxide
ซึ่งในกลุ่มยาไทอะไซด์นี้ ยาHydrochlorothiazide ได้ถูกคัดเลือกให้บรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วย การใช้ยากลุ่มไทอะไซด์จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยหยุดหรือปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานด้วยตนเอง
ยาไทอะไซด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาไทอะไซด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- เป็นยาขับปัสสาวะ
- ใช้รักษาและบรรเทาโรคความดันโลหิตสูง
- ลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลว
- ลดอาการบวมของร่างกาย
- รักษาโรคเบาจืด
- ป้องกันการเกิดนิ่วในไต
ยาไทอะไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธ์ของยากลุ่มไทอะไซด์คือ ตัวยาจะทำให้ไตดูดแคลเซียมในปัสสาวะกลับเข้ากระแสเลือดมากขึ้น อีกทั้งทำให้ปริมาณโซเดียมในเซลล์ลดต่ำลง รวมไปถึงเพิ่มกระบวนการแลกเปลี่ยนและเคลื่อนย้ายระหว่างเกลือโซเดียมและแคลเซียมของระดับเซลล์ในร่างกาย จากกลไกเหล่านี้ทำให้ยากลุ่มไทอะไซด์สามารถ ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต และมีฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ
ยาไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไทอะไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ในรูปแบบชนิดยาเม็ด ขนาดความแรง 25, 50, และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาไทอะไซด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยากลุ่มไทอะไซด์ แบ่งขนาดรับประทานตามกลุ่มของไทอะไซด์ดังนี้ เช่น
ก. ยา Bendroflumethiazide: เช่น
- รักษาภาวะบวมน้ำของร่างกาย: เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) อายุ 12 ปีขึ้นไป เริ่มต้นรับประทาน 5 - 10 มิลลิกรัม วันละครั้งหรือวันเว้นวัน และลดขนาดลงมาเป็น 2.5 - 10 มิลลิกรัม 2 - 3 ครั้ง/สัปดาห์
- รักษาความดันโลหิตสูง: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 2.5 - 5 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งถ้ามีการใช้ยาเป็นเวลานานๆ แพทย์อาจปรับลดขนาดรับประทานลงมา เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะความดันโลหิตต่ำ
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา: ขนาดรับประทานเริ่มต้น 400 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน และปรับขนาดรับประทานลดลงเป็น 50 - 100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
ข. ยา Chlorothiazide: เช่น
- รักษาภาวะบวมน้ำของร่างกาย: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 500 - 1,000 มิลลิกรัม วันละ 1 - 2 ครั้ง
- รักษาความดันโลหิตสูง: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 500 - 1,000 มิลลิกรัม วันละ 1 - 2 ครั้ง
- ขนาดรับประทานในเด็ก: ขึ้นกับ อายุ น้ำหนักตัวเด็ก และดุลพินิจของแพทย์
ค. ยา Hydrochlorothiazide: เช่น
- รักษาความดันโลหิตสูง: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้นที่ 12.5 มิลลิกรัม วันละครั้งหลังอาหาร เช้า แล้วเพิ่มการรับประทาน 25 - 100 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทาน
- ลดอาการบวมของร่างกายในภาวะมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วย: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน25 - 100 มิลลิกรัมต่อวันหลังอาหารเช้า หากอาการดีขึ้น อาจจะลดลงเป็น 25 - 50 มิลลิกรัมต่อวัน ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจปรับขนาดในช่วงแรกๆได้สูงสุดถึง 200 มิลลิกรัมต่อวัน
- รักษาโรคเบาจืดที่มีภาวะโรคไตร่วมด้วย: เช่น
- ผู้ใหญ่: ขนาดรับประทานเริ่มต้นได้สูงถึง 100 มิลลิกรัมต่อวัน
- เด็ก: ขนาดรับประทานเริ่มต้น 1 - 2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวันโดยแบ่งรับประทาน
- และเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน: ขนาดรับประทานได้ถึง 3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
ง. ยา Diazoxide: เช่น
- รักษาความดันโลหิตสูง (Hypertensive emergency): เช่น
- ผู้ใหญ่: ใช้เป็นยาฉีด 1 - 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สามารถเพิ่มขนาดได้สูงสุดเป็น 150 มิลลิกรัมทุกๆ 5 - 15 นาที แล้วเปลี่ยนเป็นทุกๆ 4 - 24 ชั่วโมง การฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดไม่ควรใช้เวลาเกิน 30 วินาที
- เด็ก: ขนาดยาในเด็กขึ้นกับ อายุ น้ำหนักตัวเด็ก และดุลพินิจของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไทอะไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไทอะไซด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไทอะไซด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาไทอะไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มไทอะไซด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เวียนศีรษะ
- ตาพร่า
- เบื่ออาหาร
- มีผื่นคัน
- รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
- ปวดหัว
- อ่อนเพลีย
- อาจพบอาการผื่นแพ้แสงแดดในผู้ป่วยบางราย
- อาจพบภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (อาการ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ท้องผูก หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ)
- มีแมกนีเซียมขับออกมากับปัสสาวะ (อาการ เช่น อ่อนเพลีย เป็นตะคริว หัวใจเต้นผิดปกติ) เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้ยาไทอะไซด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไทอะไซด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ
- ห้ามใช้ยานี้ในกับผู้ป่วยที่แพ้กลุ่มยาซึ่งมีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคเกาต์ โรคไตวาย
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับผู้ที่ใช้ยาลิเทียม (Lithium: ยาทางจิตเวช) บำบัดรักษาอยู่ก่อนแล้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ
- ยากลุ่มไทอะไซด์อาจทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคเบาหวานแย่ลง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ ยานี้ผ่านออกทางน้ำนมน้อยมาก ดังนั้นการใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตรจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่กำลังควบคุมเกลือแร่ของร่างกายและผู้สูงอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มไทอะไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไทอะไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยากลุ่มไทอะไซด์ร่วมกับยาโรคหัวใจ เช่นยา Digoxin อาจก่อให้เกิดภาวะโพแทสเซียมและแมกนีเซียมในเลือดต่ำลง จนส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะเป็นผู้ปรับแนวการรักษาของคนไข้เป็นกรณีๆไป
- การใช้ยากลุ่มไทอะไซด์ร่วมกับยาจิตเวช เช่นยา Lithium อาจทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงหรือพิษของยา Lithium ได้มากยิ่งขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกันโดยไม่จำเป็น
- การใช้ยากลุ่มไทอะไซด์ร่วม กับยาเบาหวาน เช่น ยาอินซูลิน (Insulin) สามารถทำให้ระดับอินซูลินในกระแสเลือดมีปริมาณลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดของยารักษาเบาหวานให้เหมาะสมต่อคนไข้เป็นกรณีๆไป
ควรเก็บรักษายาไทอะไซด์อย่างไร?
สามารถเก็บยาไทอะไซด์ เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- บรรจุยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บในที่ที่พ้นแสง/แสงแดด หลีกเลี่ยงความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาไทอะไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไทอะไซด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dichlotride (ไดคลอไทรด์) | M & H Manufacturing |
Diric (ไดริก) | The Forty-Two |
Diuret-P (ไดยูเรท-พี) | P P Lab |
Dragotab (ดราโกแท็บ) | K.B. Pharma |
HCTZ/Hydrochlorothiazide T.O. (เอชซีทีแซด/ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ ที.โอ.) | T.O. Chemicals |
Hychlozide (ไฮคลอไซด์) | Pharmasant Lab |
Hydrochlorothiazide GPO (ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ จีพีโอ) | GPO |
Hydrochlorothiazide Union Drug (ยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ ยูเนียน ดรัก) | Union Drug |
Hydrochlorthiazide (ยาไฮโดรคลอร์ไทอะไซด์) | BJ Benjaosoth |
Hydrozide Atlantic (ไฮโดรไซด์) | Atlantic Lab |
Hydrozide Medicine Products (ไฮโดรไซด์ เมดิซีน โพรดักส์) | Medicine Products |
Urazide (ยูเรไซด์) A N H Products |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Thiazide [2021,July31]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/hctz-hydrochlorothiazide%20t-o- [2021,July31]
- https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/23849/SPC/Bendroflumethiazide+Tablets+BP+2.5mg/ [2021,July31]
- https://www.drugs.com/dosage/chlorothiazide.html#Usual_Adult_Dose_for_Edema [2021,July31]
- https://www.drugs.com/dosage/diazoxide.html [2021,July31]
- https://www.medicinenet.com/thiazide_diuretics-oral/article.htm [2021,July31]