ไตรแอมเทอรีน (Triamterene)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 ตุลาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ไตรแอมเทอรีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไตรแอมเทอรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไตรแอมเทอรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไตรแอมเทอรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไตรแอมเทอรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไตรแอมเทอรีนอย่างไร?
- ไตรแอมเทอรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไตรแอมเทอรีนอย่างไร?
- ไตรแอมเทอรีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- โปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติก (Potassium-sparing diuretics)
- ไทอะไซด์ (Thiazide)
- ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
บทนำ
ยาไตรแอมเทอรีน (Triamterene) เป็นยาขับปัสสาวะชนิดที่ทำให้ร่างกายลดปริมาณน้ำและเกลือโซเดียมออกจากกระแสเลือด แต่ส่งผลให้กระบวนการกรองเลือดที่ไต ดูดเก็บเกลือโปแตสเซียมไว้ในร่างกาย(Potassium–sparing diuretics) วงการแพทย์ได้นำยาไตรแอมเทอรีนมาใช้รักษาอาการบวมน้ำ ในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ในผู้ป่วยโรคตับแข็ง และบำบัดอาการโรคไตที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่าโรคไตเนฟโฟรติก(Nephrotic syndrome, โรคไตชนิดที่ร่างกายมีการขับโปรตีนออกมากทางปัสสาวะมาก ซึ่งในคนทั่วไป ร่างกายจะไม่มีการขับโปรตีนออกมากับปัสสาวะ) และกรณีสูตรตำรับยาไตรแอมเทอรีนที่มีส่วนผสมของยาThiazide มักนำไปใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของตัวยาไตรแอมเทอรีนคือยาชนิดรับประทาน ซึ่งมีการดูดซึมจากลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดประมาณ 30-70% และสามารถออกฤทธิ์ได้นาน 7-9 ชั่วโมง ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ
สำหรับข้อจำกัดการใช้ยาไตรแอมเทอรีนบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคไต และโรคตับ ระยะรุนแรง ผู้ป่วยที่มีระบบทางเดิน ปัสสาวะตีบตัน ตลอดจนผู้ที่มีระดับเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูง
- ระหว่างที่ใช้ยานี้ต้องหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ทีมีอากาศร้อนจัดเพราะอาจ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำได้ง่าย
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาขับปัสสาวะประเภท โปแตสเซียม-สแปริ่ง ไดยูเรติก ตัวอื่นๆ อย่างเช่นยา Spironolactone , Amiloride
- ห้ามรับประทานยาชนิดนี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยาไตรแอมเทอรีนเพิ่มขึ้น
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก การจะใช้ยาไตรแอมเทอรีนกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับยาไตรแอมเทอรีนเพียงวันละ 1–2 ครั้ง ก็สามารถทำให้อาการบวมน้ำของผู้ป่วยทุเลาลงได้ ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์ และห้ามใช้ยาเกินขนาด *และหากพบความผิดปกติดังต่อไปนี้ระหว่างใช้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยาไตรแอมเทอรีนทันที เช่น ผิวซีด เลือดออกง่าย หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็หัวใจเต้นเร็ว ตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ขาเป็นตะคริว ท้องผูก เกิดอาการเหมือนมีนิ่วในไต(ซึ่งสังเกตุจากมีอาการปวดหลังหรือปวดข้างลำตัว อาเจียน มีไข้ หนาวสั่น ปวดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะมีสีคล้ายเลือดปน) กรณีเหล่านี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
ยาไตรแอมเทอรีนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง แต่มักไม่ใช่อาการที่รุนแรงเท่าใดนัก เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย วิงเวียน ปวดศีรษะ ปากแห้ง รู้สึกอ่อนเพลีย อาการเหล่านี้สามารถหายได้เองเมื่อหยุดใช้ยานี้
ประเทศไทยเราจะพบเห็นการใช้ยานี้เป็นสูตรผสมที่ประกอบด้วยยา Triamterene และยา Hydrochlorothiazide (HCTZ) แต่ในต่างประเทศสามารถพบเห็นยาไตรแอมเทอรีนในรูปแบบยาเดี่ยวภายใต้ชื่อการค้าว่า “Dyrenium”
ไตรแอมเทอรีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไตรแอมเทอรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ลดอาการบวมน้ำของร่างกาย(Oedema)
- บำบัดอาการน้ำในช่องท้องมากเกินปกติ/ท้องมาน (Ascites)
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
ไตรแอมเทอรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไตรแอมเทอรีนเป็นยาขับปัสสาวะที่มีกลไกการออกฤทธิ์ โยตัวยาจะเพิ่มการขับน้ำและเกลือโซเดียมออกจากกระแสเลือดไปกับปัสสาวะ แต่ลดการขับออกของเกลือโปแตสเซียม ด้วยกลไกดังกล่าว ส่งผลให้เกิดฤทธิ์ลดอาการบวมน้ำ และช่วยบำบัดโรคความดันโลหิตสูง ได้ตามสรรพคุณ
ไตรแอมเทอรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไตรแอมเทอรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Triamterene 50 และ 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Triamterene 50 มิลลิกรัม + Hydrochlorothiazide 25 มิลลิกรัม/เม็ด
ไตรแอมเทอรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไตรแอมเทอรีน มีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับลดอาการบวมน้ำ:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร เช้า-กลางวันขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน
ข. สำหรับลดความดันโลหิตสูง:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาเริ่มต้น 50 มิลลิกรัม/วัน หลังอาหารเช้า โดยใช้ร่วมกับยา HCTZ วันต่อไป ขนาดยาขึ้นกับคำสั่งแพทย์
อนึ่ง:
- เด็ก: ยังไม่มีข้อบ่งใช้ทางคลินิกของยาไตรแอมเทอรีนกับผู้ป่วยเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไตรแอมเทอรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไตรแอมเทอรีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไตรแอมเทอรีน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
ไตรแอมเทอรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไตรแอมเทอรีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวหนังแพ้แสงแดดได้ง่าย อาจมีผื่นคัน
- ผลต่อไต: เช่น เกิดนิ่วในไต เกิดภาวะไตวาย
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปากแห้ง
- ผลต่อระบบประสาท : เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
- ผลต่อตับ: เช่น เกิดดีซ่าน ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น โปแตสเซียมในเลือดสูง มีภาวะยูริคในเลือดสูง แต่บางกรณี อาจพบภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำได้บ้าง
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ , ภาวะเม็ดเลือดทุกชนิดต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้ไตรแอมเทอรีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไตรแอมเทอรีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูง
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้เอง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคตับ โรคไต ที่มีระดับความรุนแรงมาก
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเกาต์ ผู้ที่มีประวัติเป็นนิ่วในไต ตลอดจนผู้ป่วยโรคตับ
- ระหว่างการใช้ยานี้ ควรเฝ้าระวังปริมาณเกลือแร่ต่างๆในกระแสเลือดและต้อง ควบคุมระดับเกลือแร่ให้อยู่ในภาวะปกติตามคำแนะนำของแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก รวมถึงผู้สูงอายุ การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไตรแอมเทอรีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไตรแอมเทอรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ไตรแอมเทอรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไตรแอมเทอรีน ร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs เพราะจะทำให้ฤทธิ์การรักษาความดันโลหิตสูงของยาไตรแอมเทอรีน ด้อยลง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไตรแอมเทอรีนร่วมกับยากลุ่ม ACE inhibitors เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูงเกินผิดปกติ
- ห้ามใช้ยาไตรแอมเทอรีนร่วมกับยา Lithium เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้รับพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จาก ยาLithium มากขึ้น
- ห้ามใช้ยาไตรแอมเทอรีนร่วมกับยา Indometacin เพราะอาจทำให้เกิดพิษที่ไตจากยาทั้ง2ตัวได้มากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไตรแอมเทอรีนร่วมกับยากลุ่ม TCAs เพราะเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
ควรเก็บรักษาไตรแอมเทอรีนอย่างไร?
ควรเก็บยาไตรแอมเทอรีน ภายใต้อุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
ไตรแอมเทอรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไตรแอมเทอรีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dyrenium (ไดเรเนียม) | Concordia Pharmaceuticals Inc. |
Dyazide (ไดอะไซด์) | Mercury Pharmaceuticals Ltd |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Triamterene[2017,Oct7]
- http://concordiarx.com/wp-content/uploads/DYR_PI-2015-07-31-clean-website.pdf[2017,Oct7]
- https://www.drugs.com/triamterene.htm[2017,Oct7]
- https://www.drugs.com/ppa/triamterene.html[2017,Oct7]
- https://www.medicines.org.uk/emc/PIL.22911.latest.pdf[2017,Oct7]
- http://concordiarx.com/wp-content/uploads/DYR_PI-2015-07-31-clean-website.pdf[2017,Oct7]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/triamterene/?type=brief&mtype=generic[2017,Oct7]