ไซลิทอล (Xylitol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ไซลิทอล (Xylitol) เป็นสารน้ำตาลแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งที่มีความหวานเท่ากับน้ำตาลแต่ให้พลังงานกับร่างกายน้อยกว่ากล่าวคือ ไซลิทอล 1 กรัมจะให้พลังงาน 2.43 กิโลแคลอรี (Kilocalorie) ในขณะที่น้ำตาล 1 กรัมจะให้พลังงาน 3.87 กิโลแคลอรี ไซลิทอลตามธรรมชาติจะถูกพบในอาหารประเภทผลไม้และผัก จากการศึกษาถึงระดับโครงสร้างทางเคมีของไซลิทอลพบว่า น้ำตาลแอลกอฮอล์ชนิดนี้ลดการกระตุ้นให้เกิดฟันผุได้ จากคุณสมบัติดังกล่าวอุตสาหกรรมอาหารอย่างเช่นผู้ผลิตหมากฝรั่ง ลูกอม ได้นำไซลิทอลมาเป็นส่วนประกอบในการเพิ่มรสชาติผลิตภัณฑ์และใช้การที่สารนี้ปลดปล่อยพลังงานให้ร่างกายน้อยกว่าน้ำตาลมาเป็นจุดขายอีกด้วย

ในทางคลินิกได้ระบุว่าไซลิทอลปลอดภัยต่อการใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานและสามารถรักษาสมดุลของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะไซลิทอลถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ช้ากว่าน้ำตาลและจะค่อยๆปลดปล่อยพลังงานให้กับร่างกาย จึงเป็นเหตุผลที่ทางคลินิกใช้ไซลิทอลแทนน้ำตาลกับผู้ป่วยโรคเบาหวานแล้วสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมิให้สูงเกินปกติ

มีผู้ผลิตบางรายนำไซลิทอลมาผลิตเป็นหมากฝรั่งและใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหูชั้นกลางอักเสบ โดยระบุว่าการเคี้ยวหมากฝรั่งไซลิทอลนั้นสามารถกระตุ้นกลไกธรรมชาติของมนุษย์ให้เกิดการไหลเวียนและการชะล้างโพรงจมูก-คอ ทำให้ลดปริมาณของแบคทีเรียในบริเวณอวัยวะดังกล่าวและส่งผลบรรเทาอาการแพ้จากตัวกระตุ้นในบริเวณหูอีกด้วย

จากการศึกษาความเป็นพิษที่จะมีต่อร่างกายมนุษย์มีข้อสรุปออกมาว่า ไซลิทอลไม่ได้ก่อให้เกิดอาการพิษต่อร่างกายมนุษย์แต่อย่างใด เพียงแต่ไซลิทอลอาจจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากขับถ่ายอุจจาระหรือระบายอุจจาระด้วยธรรมชาติของไซลิทอลจะถูกย่อยได้ช้าจากลำไส้เล็ก การศึกษานี้ยังระบุอีกว่าการบริโภคไซลิทอลมากกว่า 50 - 65 กรัม/วันสามารถกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายฯขึ้นได้ หากมองในด้านบวกก็อาจใช้กลไกนี้ของไซลิทอลมาผลิตเป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก

อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) อื่นที่อาจพบเห็นได้หลังจากบริโภคไซลิทอลเช่น มีภาวะท้องอืดเนื่องจากไซลิทอลเป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่ถูกย่อยได้ยาก นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะท้องเสียกับผู้ป่วยบางรายได้ด้วย

สำหรับประเทศไทยประชาชนส่วนใหญ่ยังให้ความพอใจต่อการบริโภคน้ำตาลมากกว่าการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลซึ่งรวมถึงไซลิทอล ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากต้นทุนความสามารถในการนำเสนอของผู้ผลิตที่ยังไม่เข้าถึงผู้บริโภคเช่น สื่อโฆษณา จึงทำให้การบริโภคไซลิทอลยังคงอยู่แต่ในภาคอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมยาเท่านั้น

ไซลิทอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไซลิทอล

ไซลิทอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ในทางคลินิกใช้ไซลิทอลบำบัดอาการหูชั้นกลางอักเสบโดยผลิตออกมาเป็นรูปแบบหมากฝรั่งสำหรับเคี้ยว
  • ใช้ประกอบรสหวานในผลิตภัณฑ์อาหารและยาโดยมีจุดขายคือไม่ทำให้ฟันผุและให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาลเมื่อใช้ในปริมาณที่เท่ากัน
  • ใช้เป็นทางเลือกของสารอาหารที่ให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานเนื่องจากไม่ก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

ไซลิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ไซลิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์เช่น

ก. สำหรับหูชั้นกลางอักเสบ: การเคี้ยวหมากฝรั่งไซลิทอลจะทำให้มีกลไกการชำระล้างทางธรรม ชาติของปาก-หู-คอ ส่งผลลดปริมาณแบคทีเรียและสารที่กระตุ้นการแพ้ภายในหูชั้นกลาง จึงทำให้สภาพการอักเสบของหูชั้นกลางบรรเทาลง

ข. สำหรับช่วยระบายอุจจาระ: น้ำตาลแอลกอฮอล์อย่างไซลิทอลจะถูกดูดซึมทางลำไส้เป็นปริมาณต่ำและเกิดการดึงน้ำเข้าสู่สารไซลิทอลในลำไส้ จนกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวส่งผลให้เกิดการระบายอุจจาระตามมา

ค. การลดภาวะฟันผุ: ไซลิทอลเป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่ถูกย่อยได้ยากภายในช่องปากไม่เหมือนน้ำตาลที่เราบริโภคทั่วไป ส่งผลให้ในช่องปากมีสภาพความเป็นกรดจึงไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย จึงส่งผลช่วยป้องกันและลดภาวะฟันผุได้ในระดับหนึ่ง

ไซลิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ไซลิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นหมากฝรั่งชนิดเคี้ยว

ไซลิทอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ไซลิทอลมีขนาดการบริหาร/การใช้สำหรับบำบัดภาวะหูชั้นกลางอักเสบเช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: เคี้ยวหมากฝรั่งที่มีปริมาณไซลิทอล 8.4 - 10 กรัม/วัน

*อนึ่ง:

  • การใช้ไซลิทอลกับเด็กไม่ควรเกิน 20 กรัม/วัน
  • ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกในขนาดการใช้ไซลิทอลเพื่อการระบายอุจจาระหรือเพื่อการลดภาวะฟันผุ

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยา/ใช้หมากฝรั่งไซลิทอลที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดหรือสารปรุงแต่งอาหารใดเป็นประจำที่รวมถึงไซลิทอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้สารต่างๆทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยา/ใช้สารต่างๆแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา/ใช้สารอะไรอยู่ เพราะไซลิทอลาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานไซลิทอลควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทาน/เคี้ยวหมากฝรั่งไซลิทอลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

ไซลิทอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การบริโภคไซลิทอลปริมาณตั้งแต่ 50 - 65 กรัม/วันขึ้นไปอาจทำให้มีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) คือ ภาวะท้องเสีย

มีข้อควรระวังการใช้ไซลิทอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ไซลิทอลเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้สารไซลิทอล
  • การใช้ไซลิทอลกับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ควรมีคำสั่งจากแพทย์ เท่านั้น
  • ห้ามให้หมากฝรั่งไซลิทอลมากเกินกว่าคำสั่งแพทย์
  • การใช้ไซลิทอลกับผู้ป่วยโรคเบาหวานจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ควรไปซื้อหาผลิตภัณฑ์ไซลิทอลมาใช้เอง
  • หากเกิดอาการแพ้ผลิตภัณฑ์ไซลิทอลเช่น มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ไซลิทอลทันทีแล้วนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยา/ผลิตภัณฑ์ไซลิทอลให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ไซลิทอลที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บผลิตภัณฑ์ไซลิทอลที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพร และไซลิทอล ด้วยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยา/ใช้สารต่างๆดังกล่าวควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไซลิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีรายงานที่พบปฏิกิริยาระหว่างยา/ผลิตภัณฑ์ไซลิทอลกับยารับประทานชนิดใดๆ อย่างไรก็ตามหากพบว่าการรับประทานยาต่างๆร่วมกับไซลิทอลแล้วเกิดอาการผิดปกติต่างๆของร่างกาย ให้หยุดการใช้ไซลิทอลทันทีแล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว

ควรเก็บรักษาไซลิทอลอย่างไร?

ควรเก็บผลิตภัณฑ์ไซลิทอลภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ห้ามเก็บในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บไซลิทอลให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไซลิทอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไซลิทอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
ElimiTaste ZAPP (อิลิมิทาส แซทเอพีพี)Inhale Solutions, Inc.,

อนึ่งชื่อการค้าอื่นในต่างประเทศของไซลิทอลเช่น Birch Sugar, E967, Xilitol, Xylit, Xylite

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sugar_alcohol#Common_sugar_alcohols [2016,July9]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Xylitol [2016,July9]
  3. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-996-xylitol.aspx?activeingredientid=996 [2016,July9]
  4. https://www.drugs.com/npp/xylitol.html [2016,July9]
  5. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-996-xylitol.aspx?activeingredientid=996 [2016,July9]