ไข้เหลือง (Yellow fever)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคไข้เหลือง (Yellow fever) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มียุงเป็นพาหะโรค การที่เรียกว่า “ไข้เหลือง” เนื่องจากผู้ป่วยจะมี ไข้ และมีตัวเหลืองหรือดีซ่าน โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มโรคติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก (Viral hemorrhagic fever) เช่นเดียวกับไข้เลือด ออกจากเชื้อไวรัสเดงกี่

โรคไข้เหลืองพบมากในทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกาใต้ ยังไม่พบมีรายงานผู้ป่วยในทวีปเอเชีย ไม่มียาสำหรับรักษาโดยเฉพาะ แต่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรค ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้เกิดขึ้นตลอดชีวิต

การสืบค้นจากหลักฐานต่างๆ คาดว่า โรคไข้เหลืองเกิดขึ้นในทวีปแอฟริกามานานกว่า 3,000 ปีแล้ว ต่อมาจึงได้เข้ามาระบาดในประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปอเมริกาใต้ ผ่านทางการ ค้าทาสในช่วงศตวรรษที่ 17 โดยเกิดการระบาดใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี พ.ศ. 2336-2365 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนในทวีปอเมริกาใต้ การขุดคลองปานามาเพื่อเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิกในปี พ.ศ. 2423 นั้นได้มีคนงานเสียชีวิตประมาณ 20,000 คนจากการเป็นโรคไข้เหลืองและโรคมาลาเรีย/ไข้จับสั่น

ในศตวรรษที่ 20 ได้มีการค้นพบว่า โรคไข้เหลืองมีสาเหตุมาจากยุงที่เป็นพาหะนำโรค ร่วมกับการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคได้ ทำให้สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ในที่สุด โดย เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ปัจจุบันแทบไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เหลืองอีกเลย แต่โรคนี้ยังคงพบอยู่ใน 32 ประเทศในทวีปแอฟริกา และอีก 13 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ โดยพบผู้ ป่วยรายใหม่ประมาณ 200,000 คนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 30,000 คนต่อปี

สำหรับในทวีปเอเชียรวมถึงประเทศไทย ไม่พบมีรายงานผู้ป่วยโรคนี้

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เหลือง?

ไข้เหลือง

โรคไข้เหลืองเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งในสกุล Flavivirus ซึ่งมีเชื้อไวรัสอยู่หลายชนิดย่อยในสกุลนี้ที่ทำให้เกิดโรคในคนและอาศัยแมลงเป็นพาหะโรค เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบเจอี (JE,Japanese encephalitis) โรคติดเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ เป็นต้น

การติดต่อของโรคไข้เหลืองอาศัยยุงเป็นพาหะ โดยยุงจะกัดดูดเลือดของผู้ป่วยหรือสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสอยู่ และนำพาเชื้อซึ่งติดอยู่ที่ปากยุงมาแพร่ให้คนหรือสัตว์อื่นต่อไปเมื่อกัดดูดเลือด วงจรของการติดต่อมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ

1. วงจรการติดต่อในป่า (Sylvatic หรือ Jungle cycle) ซึ่งจะเกิดอยู่ในป่าเขตร้อนชื้นของทั้งในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ โดยวงจรการติดต่อของโรคจะเกิดระหว่างสัตว์ในตระกูลลิง หากเผอิญคนเข้าไปในป่า และถูกยุงที่มีเชื้อไวรัสกัดดูดเลือด ก็จะติดโรคจากลิงเหล่านั้นได้ โดยในทวีปแอฟริกา จะมียุงชนิด Aedes africanus เป็นพาหะ แต่หากเป็นทวีปอเมริกาใต้ จะมียุงชนิด Haemagogus spp. และ Sabethes spp. เป็นพาหะนำโรค เนื่องจากผู้ที่เข้าไปในป่ามักเป็นผู้ชายอายุไม่มาก ผู้ป่วยที่พบจึงมักเป็นผู้ชายอายุระหว่าง 15-45 ปี

2. วงจรการติดต่อแบบป่ากึ่งเมือง (Intermediate หรือ Savannah cycle) จะพบเฉพาะในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะเขตที่มีความชื้นสูง วงจรการติดต่อของโรคจะเกิดกับลิงที่อยู่ในป่าเป็นหลัก แต่ยุงในป่าซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเขตที่อยู่อาศัยของคน อาจเข้ามาแพร่เชื้อให้คนได้เป็นครั้งคราว และยุงเหล่านี้ก็อาจเป็นตัวแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนได้ ยุงที่เป็นพาหะของวงจรนี้คือชนิด Aedes spp. เนื่องจากเด็กมักถูกยุงกัดได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ผู้ป่วยที่เกิดการติดต่อโดยวิธีนี้จึงพบมากในวัยเด็ก

3. วงจรการติดต่อในเมือง (Urban cycle) พบทั้งในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ วงจรการติดต่อจะเกิดขึ้นระหว่างคน โดยมียุงชนิด Aedes aegypti เป็นพาหะนำโรค ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับที่นำโรคไข้เลือดออกเดงกี่ พบผู้ป่วยจากการติดต่อโดยวิธีนี้ได้ทุกเพศทุกวัย

วิธีการก่อโรคของเชื้อไข้เหลืองเป็นอย่างไร?

เมื่อยุงใช้ปากที่มีเชื้อไวรัสในน้ำลาย แทงดูดเลือดแล้ว เชื้อก็จะเข้าสู่กระแสเลือด ไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ๆกับบริเวณที่ถูกกัด แล้วแบ่งตัวเจริญเติบโต หลังจากนั้นก็จะแพร่เข้าสู่กระแสเลือด เดินทางไปทั่วร่างกายและเข้าสู่อวัยวะสำคัญคือ ตับ ม้าม ไต และต่อมน้ำเหลืองบริเวณอื่นๆ เชื้อไวรัสเมื่อเข้าสู่เซลล์ของอวัยวะต่างๆเหล่านี้แล้ว จะแบ่งตัวเจริญเติบโตต่อไป ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายก็จะถูกกระตุ้น ซึ่งร่างกายของแต่ละคนจะตอบสนองไม่เท่ากัน ทำให้อาการในแต่ละคนรุนแรงไม่เท่ากันได้ นอกจากนี้ยังขึ้นกับชนิดย่อยของเชื้อไวรัสด้วยว่า เป็นชนิดย่อยที่มีความรุนแรงมากแค่ไหน

เมื่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานถูกกระตุ้นก็จะหลั่งสารเคมีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบมาตอบสนองต่อเชื้อ ซึ่งจะมีผลไปทำลายเซลล์ต่างๆที่ไวรัสเข้าไปอยู่ ผู้ป่วยก็จะเกิดอาการจากการที่เซลล์ของอวัยวะต่างๆถูกทำลาย โดยเฉพาะใน ตับ หน้าที่สำคัญของตับอย่างหนึ่งคือ การผลิตสารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด เมื่อเซลล์ตับตาย จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการเลือดออกง่ายตามมา หากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานถูกกระตุ้นรุนแรง สารเคมีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ จะไปกระตุ้นระบบการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดเล็กๆทั่วร่าง กาย (Disseminated intravascular coagulation) และตามมาด้วยการมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เลือดไม่แข็งตัว ทำให้ภาวะเลือดออกง่ายยิ่งรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้จะทำให้เกิดความดันโล หิตต่ำ และช็อก เกิดการล้มเหลวของการทำงานของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายได้ เช่น หัวใจล้ม เหลว ตับล้มเหลว ไตล้มเหลว เป็นต้น

โรคไข้เหลืองมีอาการอย่างไร?

ระยะฟักตัวของโรคไข้เหลือง กล่าวคือ ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการคือ ประ มาณ 3-6 วัน แบ่งผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อแล้ว เป็น 3 กลุ่มคือ

1. ไม่แสดงอาการ มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ติดเชื้อแล้วอาจไม่ปรากฏอาการได้

2. แสดงอาการครั้งเดียว อาการ ได้แก่ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณหลัง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ตรวจร่างกายจะพบ ใบหน้าดูแดงๆ ตาแดง หัวใจเต้นช้าเมื่อเทียบกับไข้ที่ขึ้นสูง อาการจะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วัน แล้วจะหายเป็นปกติ

3. แสดงอาการ 2 ครั้ง ประมาณ 15% ของผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการดังข้อ 2 เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมงหลังจากที่อาการหายเป็นปกติแล้ว ผู้ป่วยจะกลับมีไข้สูงอีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานตอบสนองต่อเชื้อไวรัสและทำให้อวัยวะต่างๆถูกทำลาย ที่สำคัญ ได้แก่ ตับ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้อง มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ เช่น มีจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดที่ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในลำไส้และกระเพาะอาหาร ทำให้มีถ่ายอุจจาระสีดำ หรืออุจจาระเป็นเลือด หรืออาเจียนเป็นเลือดได้ ในผู้หญิงอาจมีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ หากมีเลือดออกในสมอง ผู้ป่วยก็จะมีอาการชัก แขน-ขาอ่อนแรง หมดสติ/โคม่า และทำให้เสียชีวิตได้ อวัยวะอื่น เช่น ไต เมื่อถูกทำลาย ผู้ป่วยก็จะมีอาการของไตวายเฉียบพลัน เช่น ปัสสาวะออกน้อย ตัวบวม และซึม

หากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายตอบสนองรุนแรง จะมีความดันโลหิตต่ำจนถึงขั้นช็อก หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วเหนื่อย หายใจเหนื่อยหอบ และตัวเขียว/อาการเขียวคล้ำ

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้เหลืองได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโรคไข้เหลืองในเบื้องต้น เริ่มจากต้องมีประวัติการอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระ บาดของโรค หรือเดินทางไปยังพื้นที่เหล่านั้นโดยที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน ร่วมกับอา การมีไข้ ตัว ตาเหลือง มีจุดเลือดออก จ้ำเลือดตามตัว หรือมีเลือดออกตามที่ต่างๆร่วมด้วย แพทย์จะใช้วิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น ได้แก่ การเจาะเลือดตรวจซีบีซี (CBC) ซึ่งจะพบเม็ดเลือดขาวต่ำ ตรวจค่าการทำงานของตับ จะพบค่าเอนไซม์ (Enzyme) ของตับขึ้นสูงผิด ปกติ และมีค่าบิลิรูบิน (Bilirubin) สูงกว่าปกติ การตรวจค่าการทำงานของไตอาจพบค่าสารชื่อ ยูเรีย (Blood urea nitrogen,สารปลายทางของโปรตีนที่ร่างกายกำจัดออกทางปัสสาวะ) และ สาร ครีอะตินีน (Creatinine,คือ สารปลายทางจากกล้ามเนื้อที่ร่างกายกำจัดออกทางปัสสาวะ) ขึ้นสูงกว่าปกติ และการตรวจค่าการแข็งตัวของเลือดจะพบว่ามีค่ายาวนานกว่าปกติจึงส่งผลให้เลือดแข็งตัวได้ช้า

หากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเข้ากันได้กับประวัติอาการและสิ่งผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ แพทย์อาจให้การวินิจฉัยในเบื้องต้นได้ว่า น่าจะเป็นโรคไข้เหลือง

สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จะเป็นการยืนยันโรคไข้เหลือง ต้องอาศัยการตรวจที่ยุ่งยากขึ้น และส่วนใหญ่ประเทศที่มีโรคเหล่านี้ มักเป็นประเทศด้อยพัฒนา การตรวจมักทำได้ไม่ทั่วถึง การตรวจเหล่านั้น เช่น การตรวจเลือดหาแอนติบอดี (Antibody,สารภูมิต้านทานของร่างกายต่อเชื้อ) ที่เฉพาะต่อเชื้อไวรัสนี้ หรือตรวจหาแอนติเจน (Antigen,สารก่อภูมิต้านทานของร่างกายต่อเชื้อ) ของเชื้อโดยเทคนิควิธีที่เรียกว่า PCR (พีซีอาร์,Polymerase chain reac tion)

โรคไข้เหลืองรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ความรุนแรงและผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้เหลือง คือ

1. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง คือเกิดขึ้นครั้งเดียว จะหายได้เป็นปกติโดยไม่มีภาวะ แทรกซ้อน

2. ผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการ 2 ครั้งและอาการรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตประมาณ 50% ทั้ง นี้เด็กทารกและผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี มีโอกาสเกิดอาการที่รุนแรงและเสียชีวิตได้มากกว่าวัยอื่น

มีแนวทางรักษาโรคไข้เหลืองอย่างไร?

ไม่มียาสำหรับรักษาโรคไข้เหลืองโดยเฉพาะ แต่การรักษาทำได้โดยรักษาประคับประ คองตามอาการเท่านั้น ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการเลือดออกตามที่ต่างๆ จะต้องนอนรักษาตัวในโรง พยาบาล

การรักษา ได้แก่ การให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด แต่ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพรินและยากลุ่มลด/ต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID,Non steroidal anti inflammatory drug) เพราะอาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารสูงขึ้น การให้ยาลดกรดเพื่อป้องกันเลือดออกในกระเพาะอาหาร การให้สารน้ำทางหลอดเลือด และ การให้เลือดทดแทนในกรณีที่เสียเลือดมาก เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคไข้เหลืองไม่จำเป็นต้องแยกห้องอยู่ เนื่องจากการติดต่อไม่ได้เกิดจากคนสู่คนโดยตรง เพียงแต่ต้องป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง คือ มีแต่อาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออา หาร อาจไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ เพราะอาการอาจคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ แต่ผู้ป่วยก็สามารถหายเป็นปกติได้เอง

ดูแลตนเอง และป้องกันโรคไข้เหลืองอย่างไร?

การดูแลตนเองและการป้องกันโรคไข้เหลือง คือ

1. ในประเทศที่มีการระบาดของโรคไข้เหลือง การป้องกันที่สำคัญคือการให้วัคซีนแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6-9 เดือน จนถึงอายุ 60 ปี การฉีดเพียงครั้งเดียวสามารถป้องกันได้มากกว่า 35 ปีหรืออาจป้องกันได้ตลอดชีวิต แต่หากอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมากหรือต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสชนิดนี้ มีคำแนะนำให้ฉีดกระตุ้นทุกๆ 10 ปี

2. ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่มีรายงานของผู้ป่วยโรคไข้เหลือง หากต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยโรคนี้ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันก่อน

3. ในเด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วยที่เป็นโรคของต่อมไทมัส (Thymus gland ต่อมไร้ท่อชนิดหนึ่ง อยู่ในช่องอกด้านหน้าต่อหัวใจ มีหน้าที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค) หรือเคยตัดต่อมไทมัส และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานบกพร่องชนิดต่างๆ เช่น ผู้ป่วยโรคติดเชื้อ เอชไอวี (HIV) การให้วัคซีนอาจไม่ปลอดภัย เนื่อง จากจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ สมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ หรือมีอาการคล้ายโรคไข้เหลืองรุนแรง และอาจทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้

4. ผู้ที่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนดังกล่าวข้างต้น หรือในประเทศที่การให้วัคซีนยังทำได้ไม่ทั่วถึง การป้องกันการเกิดโรคที่สำคัญคือ การป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น การปิดบ้านให้มิดชิด หรือมีมุ้งลวด นอนในมุ้ง ใช้ยาทากันยุงเมื่อต้องออกนอกบ้านหรือเข้าป่า การใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เป็นต้น ส่วนการควบคุมและกำจัดยุงพาหะ จะช่วยลดการเกิดโรคได้เฉพาะวงจรการติดต่อในเมือง ส่วนวงจรการติดต่อในป่า และป่ากึ่งเมืองนั้นคงไม่สามารถควบคุมได้

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ผู้ที่อยู่อาศัยในประเทศที่มีรายงานการเกิดของโรคไข้เหลือง หรือได้เดินทางไปยังประ เทศเหล่านั้นโดยที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน หากมีอาการไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง มีจุดเลือดออก จ้ำเลือดตามตัว หรือเลือดออกตามที่ต่างๆร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

บรรณานุกรม

  1. www.who.int/mediacentre/factsheets/fs100/en/[2017,May6]
  2. https://www.cdc.gov/yellowfever/[2017,May6]
  3. http://emedicine.medscape.com/article/232244-overview#showall[2017,May6]
Updated 2017,May6