ไข้หูดับ โรคติดเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis)
- โดย นายแพทย์ วิรัช ทุ่งวชิรกุล
- 8 พฤษภาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ไข้หูดับเกิดจากอะไร?
- ไข้หุดับติดต่อจากหมูสู่คนได้อย่างไร? เกิดได้ในคนทุกอายุไหม?
- ไข้หูดับมีอาการอย่างไร?
- ไข้หูดับมีอาการอยู่ได้นานเท่าไร?
- มีโอกาสเกิดอาการหูดับมากไหม? รักษาหูดับอย่างไร? รักษาหายไหม? มีโอกาสหูดับถาวรไหม?
- ใคร หรือ อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหูดับ?
- เมื่อหูดับจะดูแลตนเองอย่างไร?
- ไข้หูดับรุนแรงไหม? ทำให้เสียชีวิตได้ไหม? มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
- ไข้หูดับติดต่อจากคนสู่คนได้ไหม?
- เมื่อมีอาการเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยไข้หูดับได้อย่างไร?
- รักษาไข้หูดับอย่างไร?
- ป้องกับไข้หูดับอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- หู: กายวิภาคหู (Ear anatomy) / สรีรวิทยาของหู (Ear physiology)
- โรคติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)
- การตรวจทางหูคอจมูก การตรวจทางอีเอ็นที (Clinical examination of Ear Nose Throat or Clinical ENT examination)
- เพนิซิลลิน (Penicillin)
- เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone)
- แวนโคมัยซิน (Vancomycin)
บทนำ
ไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis ย่อว่า S. suis) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic infectious disease) ซึ่งในโรคนี้เป็นการติดต่อจากหมู/สุกรสู่คน
ไข้หูดับ เป็นโรคพบได้ประปรายทั่วโลก โดยมักพบในประเทศที่มีการเลี้ยงหมูเป็นอุตสาหกรรม และในปี พ.ศ. 2548 พบมีการระบาดครั้งใหญ่ในประเทศจีน มีผู้ติดเชื้อทั้งหมดประมาณ 100 คน ซึ่งในชั้นต้นของการระบาดครั้งนี้ มีการเสียชีวิตมากกว่า 20 คน
ไข้หูดับ พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่ทั้งนี้ เกือบทั้งหมดจะพบโรคเกิดในผู้ใหญ่ โดยพบในเพศชายสูงกว่าในเพศหญิง อาจเพราะเพศชายทำงานสัมผัสกับหมูมากกว่าเพศหญิง
ในประเทศไทยมีรายงานโรคนี้ครั้งแรกในผู้ป่วย 2 คนในปี พ.ศ. 2530 ต่อจากนั้น ก็มีรายงานประปรายทุกปี
ในประเทศไทยมีรายงานพบโรคเกิดในคนอายุน้อยที่สุด คือ เกิดในเด็กอายุ 1 เดือน 1 ราย และพบว่า ประมาณ 88% ของผู้ป่วย ดื่มสุราร่วมด้วย ซึ่งอาจเกี่ยวกับคนดื่มสุรามักกินหมูสุกๆดิบๆซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งต่อการติดเชื้อโรคนี้
ไข้หูดับเกิดจากอะไร?
ไข้หูดับ เป็นโรคเกิดจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิดแกรมบวกที่พบในหมู แต่สามารถก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงในคนได้ ชื่อ Streptococcus suis ซึ่งเชื้อนี้แม้จะมีหลากหลายมากกว่า 30 สายพันธ์ย่อย แต่ที่ก่อให้เกิดโรคในคนคือ สายพันธ์ที่2 (Serotype 2)
ไข้หูดับติดต่อจากหมูสู่คนได้อย่างไร? เกิดได้ในคนทุกอายุไหม?
การติดเชื้อไข้หูดับ ไม่ได้เกิดจากระบบการหายใจ แต่เป็นการติดเชื้อผ่านบาดแผลตามร่างกาย (บางครั้งเราอาจไม่รู้ตัวว่ามีบาดแผลก็ได้) หรือเข้าทางเยื่อบุตา ผู้ที่ติดเชื้อมักมีอาชีพเกี่ยวกับการเลี้ยงหมู ทำงานในโรงงานชำแหละหมู หรือผู้สัมผัสกับสารคัดหลั่งของหมู เช่น น้ำมูก น้ำลาย และผู้ที่มีความเสี่ยง หมายรวมถึงผู้จำหน่าย หรือผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ หรือดิบๆสุกๆ เช่น ลาบหมู
โรคนี้ระบาดอยู่ในหลายประเทศที่มีการเลี้ยงหมูรวมทั้งประเทศไทย มักพบในชุมชนที่มีการเลี้ยงหมู เช่น ในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ แพร่ และน่าน
มีรายงานความเสี่ยงการติดโรคนี้มากขึ้น ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้ที่เคยตัดม้ามออก ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยติดสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือโรคหัวใจ
จากรายงานที่มีการรวบรวมทั่วโลกพบว่า การติดเชื้อพบในผู้ใหญ่เกือบทั้งสิ้น อายุที่พบจากการศึกษาในประเทศไทย เฉพาะในปี 2554 พบว่าเกิดโรคอยู่ระหว่างอายุ 29-82 ปี
ไข้หูดับมีอาการอย่างไร?
เมื่อมีการติดเชื้อ เชื้อจะมีระยะฟักตัวในร่างกายก่อนที่จะก่อให้เกิดอาการ โดยใช้เวลาไม่นาน ส่วนมากน้อยว่า2สัปดาห์ แต่รายที่รุนแรงอาจเกิดอาการได้ใน 2-3ชั่วโมงหลังติดเชื้อ หลังจากนั้น จะมี
- ไข้สูง ผู้ป่วย
- อาจมี อาการจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ /ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด)
- อุจจาระร่วง/ท้องเสีย
- มีอาการจากการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- อาจมีอาการติดเชื้อชนิดเป็นหนองที่ข้อ
- และที่สำคัญคือ มักมีประสาทหูอักเสบจนหูดับ/หูหนวกทั้งสองข้าง
- นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจมีอาการเวียนศีรษะ ทรงตัวไม่ได้ ซึ่งเป็น
ไข้หูดับมีอาการอยู่ได้นานเท่าไร?
พบว่าการติดเชื้อไข้หูดับ ทำให้มีอาการอยู่ในช่วง2-3 สัปดาห์ แต่อาการบางอาการจะไม่หายไป เช่น อาการหูดับ แม้จะรักษาโรคหายแล้วก็ตาม
มีโอกาสเกิดอาการหูดับมากไหม? รักษาหูดับอย่างไร? รักษาหายไหม? มีโอกาสหูดับถาวรไหม?
จากรายงานการศึกษาที่ประเทศเวียดนาม พบอัตราการหูดับถึง 66%และในบางรายงาน พบอาการหูดับได้ถึง 100% ซึ่งนับว่าอัตราเกิดหูดับสูงมากเมื่อเทียบกับ หูดับจากไข้สมองอักเสบที่มีสาเหตุเกิดจากติดเชื้ออื่นๆ
ทั้งนี้ อาการหูดับ มักจะเป็นถาวรทุกราย แม้จะรักษาไข้หายแล้วก็ตาม
ใคร หรือ อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหูดับ?
ปัจจุบัน ไม่พบปัจจัยเสี่ยงเป็นการเฉพาะ ที่จะบ่งชี้ได้ว่า ผู้ป่วยคนใดจะมีอาการหูดับ แต่พบโรคนี้ได้บ่อยกว่าในกลุ่มคนต่อไปนี้
- กินหมูปรุงไม่สุก
- มีอาชีพสัมผัสกับสุกร เช่น คนขายหมู ผู้เลี้ยง ทำงานในโรงฆ่าสุกร ในการขนส่งสุกร แม่ครัวที่สัมผัสหมู่สด
- ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยตัดม้าม/ไม่มีม้าม ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ดื่มสุรา
เมื่อหูดับจะดูแลตนเองอย่างไร?
เมื่อเกิดอาการหูดับแล้ว ไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่มีวิธีรักษาที่จะทำให้หูกลับมาได้ยินเหมือนเดิม สิ่งที่ทำได้คือ การได้รับการรักษาที่ถูกต้องก่อนเกิดอาการหูดับ ซึ่งอาจจะช่วยลดโอกาสเกิดหูดับได้บ้าง แต่หากเกิดหูดับแล้ว จะมีหูดับ/หูหนวกทั้งสองข้างถาวร
ไข้หูดับรุนแรงไหม? ทำให้เสียชีวิตได้ไหม? มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
การระบาดของไข้หูดับที่พบในประเทศจีน พบอัตราตายสูงถึงประมาณ 18% แต่ในรายที่ติดเชื้อเข้ากระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ / ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด) อัตราตายสูงถึงประมาณ 63%
ไข้หูดับติดต่อจากคนสู่คนได้ไหม?
ยังไม่มีรายงานการติดต่อของไข้หูดับ จากคนสู่คน
เมื่อมีอาการเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีที่รู่ว่ามีอาการป่วย เช่น มีไข้สูง โดยเฉพาะเมื่อมีประวัติสัมผัสหมู หรือกินหมูสุกๆดิบๆ ในระยะเวลาประมาณ 3 วันก่อนเกิดอาการ เพราะจะได้รักษาได้ทัน ถ้ารอนานกว่านี้อาจมีอาการคอแข็งเกร็ง หรือหมดสติ (อาการจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือสมองอักเสบ)
แพทย์วินิจฉัยไข้หูดับได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไข้หูดับได้จาก
- ประวัติอาการ
- ประวัติการสัมผัสหมู การกินหมู
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจหูโดยการตรวจทางหูคอจมูก
- การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานของโรคนี้
- และการเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น เสมหะ (ถ้ามีเสมหะ) และจากเลือด
รักษาไข้หูดับอย่างไร?
การรักษาไข้หูดับ คือ
- การให้ยาปฏิชีวนะ เช่นยาในกลุ่มยาเพนนิซิลลิน(Penicillin) หรือยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) เข้าหลอดเลือดดำ
- ในรายที่แพ้ยาดังกล่าว อาจใช้ยา แวนโคมัยซิน (Vancomycin)
*อนึ่ง เชื้อโรคนี้มักดื้อต่อยา อีรีโทรมัยซิน (Erythromycin) หรือยาซัลฟา (Sulfa-group)
ป้องกันไข้หูดับอย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มียา หรือ วัคซีนป้องกันไข้หูดับ การป้องกันไข้หูดับโดยทั่วไป ทำได้โดย
- สวมรองเท้าบู๊ต สวมถุงมือ สวมเสื้อผ้าที่รัดกุม ระหว่างปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับหมู/สุกรทุกขั้นตอน จะป้องกันการแพร่เชื้อจากสุกรมาสู่คนได้
- ล้างมือ ล้างเท้า ล้างตัวให้สะอาดหลังการสัมผัสสุกร และเนื้อสุกร
- เมื่อเกิดแผลต้องระวังในการสัมผัสสุกร
- กำจัดเชื้อจากฟาร์ม โดยการเลี้ยงหมูตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของหมู
- ไม่รับระทานเนื้อหมูที่ไม่สุกดี เช่น จิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุกพอ หรือ ลาบสุกๆดิบๆ เป็นต้น
- ไม่กินหมูที่ป่วย หรือหมูตายจากโรค
บรรณานุกรม
- Goldman: Goldman's Cecil Medicine, 24th ed
- Mai NT, Hoa NT, Nga TV, Linh LD, Chau TT, Sinh DX, et al. Streptococcussuis meningitis in adults in Vietnam. Clin Infect Dis;2008 [epub ahead of print].
- https://en.wikipedia.org/wiki/Streptococcus_suis [2020,May2]
- http://niah.dld.go.th/th/AnimalDisease/zoonosis_Strep_suis.htm [2020,May2]
- https://www.merckvetmanual.com/generalized-conditions/streptococcal-infections-in-pigs/streptococcus-suis-infection?cfile=htm/bc/54302.htm [2020,May2]
- https://www.chp.gov.hk/en/healthtopics/content/24/3648.html [2020,May2]