ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal flu)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 10 มิถุนายน 2563
- Tweet
- ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลคือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
- ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเกิดจากอะไร?
- ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลติดต่ออย่างไร?มีระยะฟักตัวนานเท่าไร?
- อาการของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเป็นอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล?
- รักษาไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลอย่างไร?
- ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลรุนแรงไหม?
- ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- โรคหวัด (Common cold)
- ไข้หวัดหมู (Swine influenza)
- ไข้หวัดนก (Avian influenza)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)
- ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)
- ยาโอเซลทามิเวียร์ ยาทามิฟลู (Oseltamivir หรือ Tamiflu)
- เบลอกซาเวียร์ มาร์บอกซิล (Baloxavir marboxil)
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลคือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล(Seasonal flu หรือ Seasonal influenza) คือ โรคไข้หวัดใหญ่ที่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันชนิดอาการไม่รุนแรงซึ่งเกิดเป็นประจำทุกๆปีในประเทศต่างๆทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยโดยไม่ได้เกิดจากการระบาด โรคนี้พบตลอดทั้งปี(โดยเฉพาะประเทศในแถบอากาศร้อน) แต่ทั่วไปพบเกิดหนาแน่นในช่วงฤดูหนาว
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล พบบ่อยมากทั่วโลก พบทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิด(นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ พบสูงขึ้นในเด็กวัยเรียนเพราะเป็นวัยที่อยู่รวมกันแออัดในโรงเรียน เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสติดโรคได้เท่ากัน
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไม่ใช่ไข้หวัดนก เป็นคนละโรคกัน, และเป็นคนละโรคกับโรคระบาดของไข้หวัดใหญ่ (Pandemic Influenza หรือ Pandemic flu)ที่จะเกิดนานหลายปีครั้ง มักเป็น10 ปีขึ้นไปที่จะระบาดทั่วโลกพร้อมกันในหลายๆประเทศโดยจะเกิดจาก ’ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ย่อยใหม่ที่ไม่เคยก่อโรคมาก่อนและอาการจะรุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล’
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเกิดจากอะไร?
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เกิดจากร่างกาย/ระบบทางเดินหายใจติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มสายพันธ์-เอ, หรือ ในกลุ่มสายพันธ์-บี, น้อยมากที่จะเกิดจากสายพันธ์-ซี
ไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มสายพันธ์ต่างๆดังกล่าว แต่ละกลุ่มจะมีสายพันธ์ย่อยๆหลากหลายสายพันธ์(แนะนำอ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ไข้หวัดใหญ่’) ซึ่งจะหมุนเวียนก่อโรคในแต่ละปี โดยจะเป็นสายพันธ์ไหนจะขึ้นกับสภาพดินฟ้าอากาศที่เป็นปัจจัยให้ไวรัสฯสายพันธ์ใดเจริญแพร่พันธ์ได้ดี, รวมถึงภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของประชากรในแต่ละปี, และภูมิคุ้มกันฯที่เกิดจากไวรัสฯที่ก่อโรคในแต่ละปีที่ผ่านมา
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลติดต่ออย่างไร?มีระยะฟักตัวนานเท่าไร?
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายติดต่อสู่ผู้อื่นได้ในช่วง1วันก่อนมีอาการและต่อเนื่องไปจนถึงประมาณ 7 วันหลังเกิดอาการ โดยไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล มีระยะฟักตัวของโรค คือจะมีอาการประมาณ 1-4 วัน (ส่วนใหญ่มัก2วัน)หลังร่างกายได้รับเชื้อ
โดยวิธีติดต่อของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลจะเช่นเดียวกับโรคหวัด, ไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธ์, รวมถึงโรคติดเชื้อทางเดินหายใจทุกโรค ‘ซึ่งเป็นการติดต่อได้ง่ายมากๆ’ คือ
- ติดต่อผ่านทางการหายใจเอาละอองเชื้อที่ปนเปื้อนในลมหายใจของผู้ติดเชื้อ และ/หรือที่ฟุ้งกระจายอยู่ในในอากาศจากละอองหายใจและสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของเรา เช่นจาก การไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ของผู้ติดเชื้อ
- และจากสัมผัสสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของผู้ติดเชื้อที่ติดค้างในสิ่งแวดล้อม เช่น ของเล่น ราวบันได โทรศัพท์ โดยผ่านมือเรา เสื้อผ้า เครื่องใช้ เช่น แก้วน้ำ ช้อน เสื้อผ้า และเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจทาง จมูก ปาก และเยื่อตา
อนึ่ง:
- เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทุกชนิด สามารถมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมนอกร่างกายเราได้นานหลายชั่วโมง จึงเป็นเหตุให้เมื่อเราสัมผัสสารคัดหลั่งที่ตกค้างอยู่ในที่ต่างๆ เช่น ที่โทรศัพท์ ราวบันได เสื้อผ้า ช้อน แก้วน้ำ เราจึงสามารถติดเชื้อ/ติดโรคได้ง่าย
- การติดต่อทางการหายใจ จะจากไวรัสปนอยู่ในอากาศที่ผู้ป่วยหายใจออกมาในระยะทางประมาณ 1-3 เมตร
- การสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากช่องปาก และ/หรือระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำลาย น้ำมูก เสมหะ และสารเหล่านี้เข้าสู่ จมูก ช่องปากของเรา เช่น จากการ ไอ จาม พูดคุย เสมหะ
- จากสารคัดหลั่งติดอยู่ที่มือ และมือเราไปสัมผัสกับเยื่อเมือก เช่น ตา/ ขยี้ตา, ริมฝีปาก ช่องปาก รูจมูก(แคะจมูก)
อาการของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเป็นอย่างไร?
อาการของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูการ เช่นเดียวกับอาการของไข้หวัดใหญ่ทุกชนิด แต่เป็นอาการไม่รุนแรง ทั่วไปผู้ป่วยจะหายได้เองจากการดูแลตนเองตามอาการภายในประมาณ 7-10 วัน ยกเว้นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ/บกพร่อง(กลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงสูงฯ)ซึ่งอาการมักรุนแรงจนต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
ทั่วไป อาการของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ได้แก่
- มีไข้สูงเฉียบพลัน ไข้มักสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส(Celsius) อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียสโดยเฉพาะในเด็ก แต่น้อยรายโดยเฉพาะผู้สูงอายุอาจมีไข้ต่ำได้
- ไอ มักไอรุนแรง และอาการไออาจอยู่ได้นานถึง2สัปดาห์หรือนานกว่านี้
- มีน้ำมูกใสๆ
- เจ็บคอ (เจ็บคอ_คออักเสบ)
- ปวดหัว
- ปวดกล้ามเนื้อ ทั่วตัว
- อ่อนเพลีย
- บางรายอาจ ปวดท้องแต่ไม่มาก, ท้องเสียไม่รุนแรง, และ คลื่นไส้-อาเจียนไม่รุนแรงเช่นกัน
*อนึ่ง :
- อาการไอ มักรุนแรง ต่อเนื่องอาจนานเกิน 2 สัปดาห์
- แต่อาการอื่นๆมักค่อยๆดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์
***ในผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรง(กล่าวในหัวข้อถัดไป) อาการจะรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง และมักมีการติดเชื้อในปอดร่วมด้วย(ปอดบวม) ผู้ป่วยกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงฯนี้ ควรพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมงหลังมีอาการและ/หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง หรือมีอาการแย่ตั้งแต่แรก
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง?
ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงที่ต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 1-2 วันหลังเกิดอาการ คือ *ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ/บกพร่อง(ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก) ได้แก่
- ผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้น
- เด็กเล็กช่วงอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น
- เบาหวาน
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- โรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหืด โรคซีโอพีดี/ปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- โรคภูมิแพ้
- โรคเอชไอวี
- ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ
- โรคมะเร็ง
- บุคคลากรทางการแพทย์
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้ออาการฯ’ และอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองใน 1-2วัน โดยเฉพาะในกลุ่มมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง หรือ เมื่ออาการแย่ลงตั้งแต่แรก ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล?
แพทย์วินิจฉัยไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ คือ อาการ ประวัติการมีการระบาดของโรคฯในขณะนั้น ที่รวมถึงการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว ประวัติโรคประจำตัว การเดินทางท่อเที่ยว
- การตรวจวัดสัญญาณชีพ
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจดูในช่องปากและลำคอ
- การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ
- ตรวจเลือด ซีบีซี/CBC เพื่อแยกจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และโรคไข้เลือดออก
- อาจรวมถึงการป้ายสารคัดหลั่งใน ช่องปาก ลำคอ และ/หรือในโพรงหลังจมูกเพื่อการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสารก่อภูมิต้านทานของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เรียกว่า Rapid influenza diagnostic test ย่อว่า RIDT หรือทั่วไปเรียกง่ายๆว่า Rapid test ที่ช่วยให้ทราบผลตรวจเชื้อไวรัสฯในเบื้องต้นในประมาณ 15-30นาที
- แต่การตรวจพบเชื้อที่ให้ผลถูกต้องแน่ชัด คือการตรวจเลือดเพื่อหาสารพันธุกรรม(อาร์เอ็นเอ/RNA)ของไวรัสนี้ ที่เรียกว่า’’ Reverse transcriptase-polymerase chain reaction ย่อว่า RT-PCR แต่เป็นการตรวจที่ทำได้เฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ๆเท่านั้น
รักษาไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลอย่างไร?
แนวทางการรักษาไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล คือ
- การรักษาตามอาการ (การรักษาประคับประคองตามอาการ) เช่น
- การให้ยาลดไข้
- ยาแก้ปวดกล้ามเนื้อ
- ยาแก้ไอ
- การพักผ่อนให้เพียงพอ
- การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน อย่างน้อยประมาณ 8-10แก้วต่อวัน
- กินอาหารอ่อน (แนะนำอ่านเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com เรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์)
- อาจร่วมกับการให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ทั่วไป คือยา โอเซลทามิเวียร์ (ทามิฟลู)
- การป้องกันไม่ให้เชื้อโรคฯแพร่กระจายสู่ผู้อื่น ที่สำคัญ เช่น
- หยุดงาน หยุดโรงเรียน
- อยู่เฉพาะในห้องแยก ไม่อยู่ในที่แออัด ชุมชน
- ใช้หน้ากากอนามัย
- แยกสิ่งของเครื่องใช้ทุกอย่าง รวมถึงในการบริโภค
- กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาดรวมถึงรู้จักการเว้นระยะห่างทางสังคม
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลรุนแรงไหม?
ทั่วไป ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเป็นโรคไม่รุนแรง(มีการพยากรณ์โรคที่ดี) ดูแลรักษาตนเองได้ แต่เมื่อได้รับเชื้อในปริมาณสูงมาก และ/หรือเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง คือ มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ดังกล่าวใน’หัวข้อ ผู้มีปัจจัยเสี่ยงฯ’ อาการมักรุนแรง และอาจเกิดการติดเชื้อในปอดร่วมด้วย(ปอดบวม)จนเป็นเหตุให้ตายได้
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลมีผลข้างเคียงไหม?
ผลข้างเคียงของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยเฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง คือ ปอดติดเชื้อ/ปอดบวม ที่เป็นสาเหตุให้ตายได้
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ได้แก่
ก. กรณีพบแพทย์แล้ว: การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ท้องเสียต่อเนื่อง อาเจียนทุกครั้งที่บริโภค
- กังวลในอาการ
- ป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ การรักษาฯ’
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง
- มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีจุดเลือดออกกระจายตามเนื้อตัว
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่นทั้งตัว คลื่นไส้มากจน
- กังวลในอาการ
ข. กรณีดูแลตนเองโดยยังไม่ได้พบแพทย์ ที่สำคัญ คือ
- ดูแลเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวใน’หัวข้อการรักษาฯ’
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือ อาการแย่ลงภายใน 24 ชั่วโมงหลังดูแลตนเอง
ป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลอย่างไร?
การป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่สำคัญคือ
- กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ รักษาระยะห่างทางสังคม
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วย
- หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า
- ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง