ไข้หวัดหมู (Swine influenza)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 12 เมษายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- ไข้หวัดหมูเกิดได้อย่างไร? ติดต่อได้อย่างไร?
- ไข้หวัดหมูมีอาการอย่างไร?
- ไข้หวัดหมูที่รุนแรงมีอาการอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงเมื่อเป็นไข้หวัดหมู?
- แพทย์วินิจฉัยไข้หวัดหมูได้อย่างไร?
- รักษาไข้หวัดหมูอย่างไร?
- ไข้หวัดหมูรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นไข้หวัดหมู? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันไข้หวัดหมูได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- โรคหวัด (Common cold)
- ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- ไข้หวัดนก (Avian influenza)
- ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)
บทนำ
ไข้หวัดหมู หรือ ไข้หวัดใหญ่หมู (Swine flu หรือ Swine influenza) คือ โรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดหมู (Swine influenza virus ย่อว่า SIV หรืออีกชื่อคือ Swine-origin influenza virus ซึ่งเรียกย่อว่า S-OIV)
เชื้อไวรัสไข้หวัดหมูนี้ เป็นเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ซึ่งที่เรารู้จักกันดี คือกลุ่มไวรัสที่เรียกว่า Orthomyxoviridae
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เอ (Influenzavirus A)
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่ บี (Influenzavirus B) และ
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซี (Influenzavirus C)
ก. ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เอ: เป็นไวรัสที่พบได้บ่อยที่สุด มีหลายสายพันธุ์ย่อย ซึ่งมีระดับความรุนแรงโรคต่างๆกัน และพบก่อให้เกิดการระบาดไปทั่วโลก (Pandemic หรือ การระบาดทั่ว) ได้เป็นระยะๆ พบก่อโรคไข้หวัดใหญ่ได้ในคน และในสัตว์หลายชนิดที่มีความเกี่ยวพันกับคน คือ ในนก (ไข้หวัดนก) และในหมู (ไข้หวัดในหมู ซึ่งอาจติดต่อมาสู่คนได้) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เอ มีหลากหลายสายพันธุ์ย่อย โดยแบ่งสายพันธุ์ย่อยตามชนิดโปรตีน 2 ชนิดที่พบในไวรัส คือ H (Hemagglutinin) และ N (Neuraminidase) เช่น
- ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เอ H1N1 (ไข้หวัด 2009)
- ไข้หวัดนก H5N1
- ไข้หวัดนก H7N9
- ไข้หวัดใหญ่ H2N2 (ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเอเชียในปี พ.ศ. 2500) เป็นต้น
ข. ไวรัสไข้หวัดใหญ่ บี เป็นไวรัสที่พบว่าไม่ค่อยก่อโรค เมื่อก่อโรคมักพบ เฉพาะในคน แต่มีรายงานพบได้ใน แมวน้ำ และในตัว เฟอร์เรต (Ferret) เป็นไวรัสที่รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ เอ มาก จึงคาดว่าไม่น่าก่อให้เกิดการระบาดไปทั่วโลกได้
ค. ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซี เป็นไวรัสที่ก่อโรคไข้หวัดใหญ่ได้ทั้งใน คน หมู และสุนัข พบก่อโรคได้น้อยกว่า สายพันธุ์ เอ และ บี สามารถก่อการระบาดของโรคได้แต่ไม่รุนแรง อาจเป็นการระบาดทั่วโลกได้เหมือนสายพันธุ์ เอ
ทั้งนี้ ‘ไข้หวัดในหมู’ เกิดได้จากไวรัสไข้หวัดใหญ่ เอ และ ซี โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่ เอ ที่พบในหมู เช่น สายพันธุ์ H1N1, H1N2, H2N3, H3N1, และ H3N2 แต่ที่พบก่อโรคในหมูได้บ่อยทั่วโลก คือ สายพันธุ์ H1N1, H1N2, และ H3N2
โรคไข้หวัดใหญ่ทุกชนิด ทุกสายพันธุ์ รวมทั้งไข้หวัดหมู เป็นโรคที่ติดต่อแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็วมาก โดย2วิธี คือ
- จากการสัมผัสใกล้ชิด คลุกคลี การสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย
- และจากได้รับไวรัสจากละอองอากาศ เช่น จากการไอ การจาม(มักในรัศมีต่ำกว่า 2เมตร) จากผู้ที่ป่วยเป็นโรค หรือจากสัตว์ที่ป่วยเป็นโรค
โดยทั่วไป ไข้หวัดหมู มักแพร่ระบาดติดต่อกันในหมู่หมูด้วยกัน ไม่ติดต่อสู่คน แต่สามารถติดต่อสู่คนได้ เมื่อคนๆนั้นใกล้ชิดกับหมูที่ติดโรค เช่น คนเลี้ยงหมู และสัตวแพทย์ที่ดู แลหมู และเมื่อคนเกิดไข้หวัดหมู ก็สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ นอกจากนั้น ไข้หวัดในคนก็สามารถติดต่อสู่หมูได้เช่นกัน และด้วยวิธีการเดียวกันกับที่คนติดเชื้อไวรัสจากหมู ซึ่งเมื่อมีการติดโรคระหว่างหมูสู่คน หรือ คนสู่หมู เรียกว่า ‘Zoonotic swine flu/influenza’
อนึ่ง ชื่ออื่นของไข้หวัดหมู ได้แก่ Pig flu, Pig influenza, Hog flu, หรือ Hog influenza
ไข้หวัดหมูเกิดได้อย่างไร? ติดต่อได้อย่างไร?
การเกิดและการติดต่อของไข้หวัดหมู ได้แก่
ก.ไข้หวัดหมูในหมู: เชื่อว่า มีหมู ทั้งหมูป่า หมูบ้าน และหมูในฟาร์ม เป็นรังโรค แต่บ่อยครั้งไวรัสเหล่านี้จะมีความรุนแรงขึ้น จนก่อให้หมูเกิดเป็นไข้หวัดใหญ่ได้
ไข้หวัดหมูในหมู เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด การสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย หรือละอองไวรัสในอากาศจากการไอ จาม ระหว่างหมู จึงเกิดการติดต่อจากเชื้อไวรัสของหมูที่เป็นโรคกับหมูไม่เป็นโรคในการเลี้ยงดู หรือในฟาร์ม เช่น ใช้จมูกดุนกัน หรือในการขนส่งหมู ซึ่งโรคระบาดนี้จะเกิดได้รวดเร็วมาก ภายใน 2-3 วันหมูเกือบทุกตัวในฟาร์มก็ติดโรคเกือบหมด
อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสนี้ ไม่สามารถติดต่อผ่านทางการกินเนื้อหมูที่เป็นโรค ดังนั้น การกินเนื้อหมูที่เป็นโรคจึงปลอดภัย เพราะไข้หวัดหมูเป็นโรคติดต่อทางอากาศ (Airborne infection) ไม่ใช่โรคติดต่อทางอาหาร หรือน้ำดื่ม (Foodborne infection)
อนึ่ง ไข้หวัดใหญ่ทั้งในหมู ในนก และในคน สามารถติดต่อกันได้ และสามารถเปลี่ยน แปลงสายพันธุ์ผสมกันได้ เช่น ที่เคยมีไข้หวัดนกระบาดในหมู ในจีน และในเวียตนาม โดยเป็นไข้หวัดนกสายพันธุ์ H3N2 และ มีรายงานพบว่ามีหมูติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในจีนและในอินโดนีเซีย
ข. ไข้หวัดหมูในคน: ไข้หวัดหมูในหมูจะติดต่อสู่คนได้มักต้องเป็นคนที่ใกล้ชิด คลุกคลีกับหมู และมีโอกาสสัมผัสน้ำมูกน้ำลาย และละอองการ ไอ จามของหมู ซึ่ง คือ คนเลี้ยงหมูนั่นเอง นอกจากนั้นผู้ที่มีโอกาสติดไข้หวัดหมูจากหมูรองลงมา คือ สัตวแพทย์ที่ดูแลหมู ซึ่งเมื่อติดไข้ หวัดหมูจากหมูแล้ว คนๆนั้นก็แพร่กระจายเชื้อไวรัสไข้หวัดหมูสู่คนอื่นๆ ด้วยวิธีการเดียวกับการแพร่กระจายติดต่อของไข้หวัดใหญ่ที่เรารู้จักกันดี ซึ่งคือไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และถ้าเกิดเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรง ก็อาจก่อให้เกิดการระบาดของไข้หวัดหมูไปในสถานที่ต่างๆได้ เช่น การระบาดในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2541 และในฟิลิบปีนส์ในปี พ.ศ. 2550 ทั้งนี้การติดต่อ/ระบาดจากคนสู่คน คือ การสัมผัสน้ำมูกน้ำลาย การคลุกคลี และการสัมผัสไวรัสในละอองอากาศจากการไอ จาม หัวเราะ ของคนเป็นโรคนี้
ไข้หวัดหมูมีอาการอย่างไร?
อาการของไข้หวัดหมู ได้แก่
ก. อาการของไข้หวัดหมูในหมู: มักเป็นอาการไม่รุนแรง คนเลี้ยงต้องคอยสังเกต ซึ่งอา การที่พบได้ (ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ) คือ หมูตัวร้อนทันที ซึม ไม่ตื่นตัวเหมือนเดิม เบื่ออาหาร ไอ/ร้องผิดปกติ จาม มีสารคัดหลั่งจากจมูก หายใจลำบาก และ ตาแดง หรือ เยื่อตาอักเสบ
ข. อาการไข้หวัดหมูในคน: อาการมักเกิดภายใน 18-72 ชั่วโมงหลังสัมผัสเชื้อ (ระยะฟักตัวของโรค) และไวรัสจะแพร่ติดต่อได้ตั้งแต่ร่างกายติดโรค โดยทั่วไปประมาณ 1 วันก่อนเกิดอาการไปจนอาการต่างๆหายไป (โดยทั่วไปประมาณ 5-7 วันหลังมีอาการ)
ซึ่งอาการไข้หวัดหมูในคน จะเหมือนกับอาการจากไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ได้แก่
- มีไข้ อาจเป็นไข้สูง ไข้ต่ำ หรือบางคนอาจไม่มีไข้
- ไอ (ไม่มาก)
- คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ
- เจ็บคอ
- ปวดเมื่อยตัว
- ปวดศีรษะ
- รู้สึกหนาวสั่น
- อ่อนเพลีย บางรายอ่อนเพลียมาก
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ซึ่งทั้ง 3 อาการหลัง(ท้องเสีย, คลื่นไส้, อาเจียน) พบได้ในไข้หวัดหมูบ่อยกว่าในไข้หวัดธรรมดา
ไข้หวัดหมูที่รุนแรงมีอาการอย่างไร?
ไข้หวัดหมูที่รุนแรง ที่เป็นอาการต้องรีบด่วนพบแพทย์/มาโรงพยาบาล จะมีอาการ ดังนี้ คือ
- อาการทางระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจเร็ว หายใจหอบเหนื่อย หายใจลำ บาก ตัวเขียวคล้ำ อาจไอเป็นเลือด หรือมีเสมหะเป็นเลือด
- อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก และมีความดันโลหิตต่ำ
- อาการทางสมอง: เช่น สับสน กระสับกระส่าย ซึม ชัก และอาจมีแขน ขาอ่อนแรง เป็นอัมพาต
- *อื่นๆ: เช่น
- อาการต่างๆตั้งแต่แรกเป็นเลวลงภายใน 72 ชั่วโมง
- ไข้สูงและไข้ไม่ลงภายใน 72 ชั่วโมง
- หรือไข้ลงแล้วกลับมีไข้ขึ้นสูงอีกภายใน 72 ชั่วโมง
- ปัสสาวะน้อย
- ตัวแห้ง และปากแห้ง
- ไอมากขึ้น
- อาเจียนมาก
ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงเมื่อเป็นไข้หวัดหมู?
ผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดหมูแล้วมีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงได้ หรือที่เรียกว่า กลุ่มเสี่ยง (High risk group) จะเป็นกลุ่มเสี่ยงเดียวกับในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ทั่วไป หรือไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งได้แก่
- เด็กเล็ก
- ผู้สูงอายุ
- คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหืด และโรคไตเรื้อรัง
- หญิงตั้งครรภ์
- เด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วน
แพทย์วินิจฉัยไข้หวัดหมูได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยไข้หวัดหมูในคนได้ด้วยวิธีการเดียวกับการวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่ทุกชนิดซึ่ง คือ
- จากการซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติสัมผัสโรค การระบาดในครอบครัว ชุมชน หรือในโรงเรียน ประวัติการทำงาน หรือการสัมผัสหมู
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจเชื้อจากสารคัดหลั่ง เช่น จากโพรงจมูก ลำคอ และลำคอส่วนโพรงหลังจมูกด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งอาจด้วยวิธีเบื้องต้นที่รู้ผลได้รวดเร็วภายในระยะเวลาประมาณ 15 นาที แต่ความแม่นยำน้อย ที่เรียกว่า ‘Rapid influenza test’ หรือการตรวจเชื้อไวรัสด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงที่เรียกว่า ‘พีซีอาร์ (PCR)’ ซึ่งมีความถูกต้องสูงกว่า แต่มักได้ผลภายใน 2-3 วัน
รักษาไข้หวัดหมูอย่างไร?
แนวทางการรักษาไข้หวัดหมูเช่นเดียวกับในไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ที่สำคัญคือ
การรักษาประ คับประคองตามอาการ แต่ในไข้หวัดหมูมียาต้านไวรัส ซึ่ง มีทั้งยาฉีด ยากิน และยาสูดดม (Inhalation) ที่จะช่วยให้อาการรุนแรงน้อยลงและหายได้เร็วขึ้น ซึ่งยาจะได้ผลดีเมื่อผู้ป่วยได้ รับยาภายใน 2-3 วันหลังมีอาการ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจดื้อต่อยาฯได้
ซึ่งยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาไข้หวัดหมูที่เรารู้จักกันดี คือ ยาทามิฟลู (Tamiflu หรือ Oseltamiver) นอกนั้น เช่นยา Zanamivir (Relenza), Peramivir, Amantadine, Rimantadine และ Ribavirin ซึ่งการจะเลือกใช้ยาตัวใด วิธีใด และปริมาณยา (Dose) อย่างไรขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
อนึ่ง ยาปฏิชีวนะ ใช้รักษาโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่ทุกชนิดไม่ได้ เพราะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ฆ่าได้แต่เชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นจึงใช้ยาปฏิชีวนะรักษาไข้หวัดใหญ่เฉพาะเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเท่านั้น เช่น ในภาวะเกิดปอดบวมจากแบคทีเรียร่วมด้วย เป็นต้น
ไข้หวัดหมูรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
โดยทั่วไป ความรุนแรงของไข้หวัดหมูในคนเช่นเดียวกับในไข้หวัดใหญ่ทั่วไป และไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล และทั้งนี้รวมถึงอัตราการเสียชีวิต ซึ่งจะประมาณ 1-4%
ผลข้างเคียง:
อย่างไรก็ตามความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิตจะสูงขึ้นในกลุ่มเสี่ยง(ดังได้กล่าวใน ’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงฯ’ จากการเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อน
- ผลข้างเคียงที่พบบ่อยในกลุ่มเสี่ยง คือ
- ปอดบวมจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
- ผลข้างเคียงที่พบน้อยในกลุ่มเสี่ยง คือ
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- และสมองอักเสบ
- ส่วนในเด็ก ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ
- หูชั้นกลางอักเสบ
- และไซนัสอักเสบ
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นไข้หวัดหมู? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ หรือเมื่อเป็นไข้หวัดหมูเช่นเดียวกับในการดูแลตนเองใน’ไข้หวัดใหญ่ทั่วไป/ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล’ ที่สำคัญ คือ
- หยุดงาน หยุดเรียน อยู่บ้าน แยกตัว ไม่คลุกคลีกับผู้อื่น แยกเครื่องใช้ส่วนตัว จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ ใส่หน้ากากอนามัย (องค์การควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ อเมริกา/U.S. Centers of Disease Control and Prevention/U.S. CDC แนะนำให้อยู่บ้านตั้งแต่เริ่มมีอาการจนถึงอย่างน้อย 1 วัน หลังไข้ลงจนปกติ)
- พักผ่อนให้เต็มที่ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อป้องกันร่าง กายขาดน้ำ /ภาวะขาดน้ำ
- กินยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol)
- ควรพบแพทย์เมื่อ
- เมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงฯ ควรพบแพทย์ภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังมีอาการ
- เมื่อไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง ควรพบแพทย์ภายใน 3 วัน เมื่อไข้ไม่ลง หรือเมื่ออาการต่างๆเลวลง หรือไม่ดีขึ้น หรือเมื่อกังวลในอาการ
- กินอาหาร ดื่มน้ำได้น้อย อ่อนเพลียมาก
- ควรไปโรงพยาบาลรีบด่วน/ฉุกเฉินเมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ ‘อาการรุนแรงของไข้หวัดหมู’
ป้องกันไข้หวัดหมูได้อย่างไร?
การป้องกันไข้หวัดหมู ได้แก่
ก. การป้องกันไข้หวัดหมูในหมู่หมู: คือ การเลี้ยงสัตว์อย่างถูกวิธี มีสุขอนามัย ไม่เลี้ยงอย่างแออัด มีการตรวจสุขภาพหมูตามมาตรฐาน และการฉีดวัคซีนให้หมู
ข. การป้องกันไข้หวัดหมูในคนเลี้ยงหมู: ได้แก่ การปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในการเลี้ยงดูหมู และเมื่อหมูมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ต้องดูแลรักษาตัวเองไม่ ให้สัมผัส น้ำมูก น้ำลาย ละอองหายใจของหมู ด้วยการสวมใส่เสื้อผ้า และเครื่องป้องกันต่างๆตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และเมื่อตนเองป่วยมีอาการดังกล่าว การปฏิบัติตนเช่น เดียวกับที่ได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดหมู’
ค. การป้องกันโรคไข้หวัดหมูในคน: เช่นเดียวกับในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วไป/โรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดเสมอ เพราะมือจะเป็นตัวสัมผัสเชื้อ และเมื่อมือสัมผัส จมูก ปาก และตา เชื้อจะเข้าสู่ร่างกาย ก่อการติดโรค
- หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัส ปาก จมูก ตา
- ไม่ใช้ ช้อน ส้อม แก้วน้ำ ร่วมกับผู้อื่น
- พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน ในปริมาณเหมาะสมที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน กินผักและผลไม้ให้มากๆในทุกมื้ออาหาร
- หลีกเลี่ยงที่แออัด หรือที่สาธารณะ โดยเฉพาะในช่วงมีการระบาดของโรค
- ไอ จาม ต้องปิดปาก ปิดจมูก สั่งน้ำมูกโดยใช้ทิชชูเสมอ และทิ้งในถังขยะเสมอ
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย ซึ่งในหลักการ คนที่ควรใช้หน้ากากอนามัย คือ คนที่ป่วย แต่ในบ้านเรา คนป่วยยังไม่ยอมใช้ ดังนั้นปลอดภัยไว้ก่อน ด้วยการใช้หน้ากากอนามัยในช่วงมีการระบาดของโรค และเราต้องเข้าไปอยู่ในที่แออัด
- ดูแลสังคมเพื่อป้องกันการระบาดของโรค โดยเมื่อมีไข้ไม่ว่าจากสาเหตุใด ควรอยู่กับบ้าน (ยกเว้นไปหาแพทย์) จนกว่าไข้จะลงปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน และเมื่อมีอาการไอ ควรใช้หน้ากากอนามัยเสมอทั้งเมื่ออยู่ในบ้านและเมื่อออกจากบ้าน
- รับฟังข่าวสารเสมอเพื่อการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดต่างๆตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill
- Erlikh, I. et al. (2010). Management of influenza. Am Fam Physician. 82,1087-1095.
- https://emedicine.medscape.com/article/1807048-overview#showall [2019,March23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Influenza [2019,March23]
- https://www.cdc.gov/flu/swineflu/ [2019,March23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Swine_influenza [2019,March23]
- https://www.fda.gov/BiologicsBloodVaccines/Vaccines/QuestionsaboutVaccines/ucm182335.htm [2019,March23]